hero-image

ประจำเดือนมาไม่ปกติ และติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

อาการป่วยที่ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง

ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีถือเป็นช่วงเวลาแห่ง “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของสิทธิสตรี ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ

ซันเดย์ ในฐานะขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี ก็ย่อมเข้าใจและห่วงใยสุขภาพของผู้หญิงทุกคนเสมอ จึงเป็นที่มาของบทความในครั้งนี้ เราได้พูดคุยกับ “คุณหมอชัย” นพ. วิชัย อังคเศกวินัย เกี่ยวกับอาการ “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการป่วยที่ผู้หญิงทุกคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

เราหวังว่า บทความนี้จะช่วยให้ผู้หญิงทุกคน สามารถตรวจสอบความผิดปกติ รวมถึงดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างสดใสแข็งแรงตลอดไป

ซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย

อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ คือสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องหมั่นเช็กร่างกายตนเองเสมอ

โดยปกติแล้ว ในแต่ละเดือนร่างกายของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จะมีฮอร์โมนจากสมองควบคุมกระบวนการเกิดประจำเดือน ทำให้มีการตกไข่รวมถึงมีการสร้างเนื้อเยื่อที่ผนังมดลูกให้หนาขึ้น แต่หากไข่ที่ตกไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออก และไหลออกมาจากช่องคลอดในรูปของเลือดประจำเดือน โดยกระบวนการนี้ใช้รอบเวลาในการเกิดโดยเฉลี่ยประมาณทุกๆ 28 วัน (อาจมาก่อนหรือหลังเล็กน้อย)

แต่สำหรับอาการ “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” นั้น คุณหมอได้ให้คำอธิบายคร่าวๆ เอาไว้ว่า เป็นรูปแบบของการที่ประจำเดือนในแต่รอบของร่างกายผู้หญิง มีรอบที่น้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน หรืออาจจะมีอาการที่เรียกได้ว่า ไม่มีประจำเดือนไปเลย (Miss period) รวมไปถึงการที่ร่างกาย มีการสร้างประจำเดือนออกมาผิดไปจากที่เคยเป็น เช่น มีเลือดประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ มีเลือดออกมาน้อยกว่าปกติ หรือมีเลือดประจำเดือนออกมาต่อเนื่องมากกว่า 7 วัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเข้าข่ายของอาการประจำเดือนมาไม่ปกติทั้งสิ้น

สาเหตของอาการ “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” เกิดจากอะไรได้บ้าง?

สำหรับสาเหตุของอาการประจำเดือนมาไม่ปกตินั้น คุณหมอระบุเอาไว้ว่ามักจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปทั้งเรื่องของความรุนแรงและการรักษา อาทิ

1. เกิดจากความเครียดของสภาพจิตใจในช่วงนั้นของผู้หญิง ซึ่งจะส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย

2. เกิดจากการที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เช่น มีน้ำหนักมากเกินไป หรือว่าน้ำหนักลดเร็วเกินไป หรือเป็นคนที่ออกกำลังกายหักโหม ก็อาจจะส่งผลต่อประจำเดือนเช่นกัน

3. เกิดจากการที่ร่างกายขาดการพักผ่อน บางกรณีอาจมาจากการเดินทางข้ามทวีป มีการอดหลับอดนอน หรือมีอาการ “Jet lag” ก็จะส่งผลต่อประจำเดือนได้

4. เกิดกับผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนที่ได้รับจากยาเหล่านี้ก็จะมีผลต่อเรื่องประจำเดือนด้วย

5. อาจเกิดจากความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก อาการที่มักจะพบได้บ่อย ก็คืออาการปวดท้องน้อยและมีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ หรือที่เรียกว่า “ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” (Endometriosis) ซึ่งอันนี้จะเจอบ่อยที่สุด เป็นอาการเรื้อรัง และเป็นสาเหตุของการปวดท้องประจำเดือน และประจำเดือนมาไม่ปกติ

6. เกิดจากภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory disease) ซึ่งมักพบจากผู้ป่วยเพศหญิงที่มีกิจกรรมทางเพศค่อนข้างบ่อย หรือมีคู่นอนที่หลากหลาย 

7. เกิดจากความผิดปกติภายในรังไข่ อาทิ ภาวะ “ถุงน้ำหลายใบในรังไข่” (Polycystic ovary syndrome) ภาวะ “ภาวะประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ” (Premature ovarian insufficiency) หรืออาจเกิดจากผลกระทบของโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 

8. สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ก็อาจเกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ จากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เกิดการตกเลือดในช่องคลอดได้

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ

สำหรับสาวๆ ที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ คุณหมอชัยได้ให้คำแนะนำเพื่อดูแลและป้องกันตัวเองเอาไว้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • ต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรเลือกทานอาหารที่ประโยชน์ พยายามดูแลสุขภาพของน้ำหนักตัวให้ ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ตามมวลกล้ามเนื้อและสัดส่วนของไขมันในร่างกายที่เหมาะสม
  • ต้องแน่ใจว่าเรามีการพักผ่อนที่เพียงพอ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณในการนอนที่เหมาะสม
  • การจัดการความเครียดและการผ่อนคลายจิตใจที่ดี
  • ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ตอนมีประจำเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์
  • ไม่ควรออกกำลังกายนานหรือหนักเกินไป เพราะจะมีผลต่อฮอร์โมนทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ถ้ามีการใช้ยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป

มีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติแบบไหน ถึงควรได้เวลาไปพบแพทย์?

หากใครที่กำลังกังวลในเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติเหล่านี้ คุณหมอชัยได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียด

  • หมั่นสังเกตว่าเลือดประจำเดือนที่ออกมา มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือไม่ หากมีให้พบแพทย์
  • หากเลือดประจำเดือนของผู้หญิงมีลักษณะตกขาว หรือมีสีและกลิ่นที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
  • หากประจำเดือนออกมาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ปกติต่อเนื่องนานกว่า 7 วัน หรือมีเลือดออกกระปริบกระปรอย มีอาการปวดท้องน้อยและมีไข้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด เพื่อทำการคัดกรองความเสี่ยงทันที

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าความเร่งด่วนและความรุนแรงของอาการนั้นแตกต่างกัน แต่เกือบทั้งหมดนี้เป็นอาการที่ควรต้องไปพบสูตินรีแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจสอบและป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินไป

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาการป่วยที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากเจอ

อีกหนึ่งอาการป่วยที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเจอ และมักจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานได้มาก

นั่นก็คือ “โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ” เนื่องจากโดยสรีระร่างกายแล้ว ท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะมีลักษณะต่อตรงจากกระเพาะปัสสาวะมายังอวัยวะเพศเลย ทำให้ท่อปัสสาวะความสั้นกว่าของผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่ามาก

นอกจากในเรื่องความเสี่ยงด้านสรีระแล้ว สาเหตุในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดขึ้นได้จากอีกหลายอย่าง อาทิ

  • เป็นคนที่มีระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติโดยกำเนิด
  • เป็นคนไข้ที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะตลอดเวลา
  • เป็นคนไข้ที่พึ่งจะทำการผ่าตัดหรือส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
  • ถ้าผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย จะมีโอกาสที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • เป็นผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เยื่อบุบริการอวัยวะเพศจะมีความแห้ง กระด้าง และมีสารคัดหลั่งน้อย ก็จะมีโอกาสทำให้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อได้มากกว่าปกติ

คุณหมอได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า อาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนี้จะมีการแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ

  1. ติดเชื้อในระดับทางเดินปัสสาวะ (Urethritis)  หรือท่อทางเดินปัสสาวะ มักจะมีอาการปวดแสบบริเวณทางเดินปัสสาวะ พูดง่ายๆ ก็คือทุกครั้งที่ปัสสาวะจะมีอาการแสบ หรือมีสารคัดหลั่งปนออกมาด้วยแม้ว่าเรายังไม่ได้เข้าห้องน้ำ โดยสังเกตจากการที่กางเกงในเลอะของเหลวที่มีลักษณะคล้ายหนอง เป็นต้น
  2. ติดเชื้อในระดับกระเพาะปัสสาวะ (Cystitis) มักจะมีอาการปวดท้องน้อยส่วนกลาง หรือมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแล้วมีเลือดปน หรือปัสสาวะแล้วเจ็บ เป็นต้น
  3. ติดเชื้อระดับไต (Acute pyelonephritis) มักจะมีอาการปวดย้อนขึ้นไปถึงบริเวณด้านหลังและสีข้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ หนาวสั่น และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

จะใช้วิธีไหน ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้หญิงมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ?

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ คุณหมอชัยได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้หญิงทุกคนเอาไว้ ดังนี้

  • แนะนำให้ดื่มน้ำเยอะๆ เพราะการดื่มน้ำทำให้ปัสสาวะใสขึ้น เชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะก็จะน้อยลง
  • มีข้อมูลระบุว่าการดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ ช่วยลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ในระดับหนึ่ง
  • ให้ใช้วิธีการเช็ดทำความสะอาดหลังปัสสาวะของผู้หญิง โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เนื่องจากการเช็ดจากด้านรูทวารมาด้านหน้ามีโอกาสพาเชื้อโรคมาติดที่ทางเดินปัสสาวะได้
  • หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ดื่มน้ำทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว และปัสสาวะทันที จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  • ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองอวัยวะเพศ 
  • ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่ใส่อุปกรณ์คุมกำเนิด (Diaphragm) หรือใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิอยู่ แนะนำให้เลิกใช้ และให้พบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการคุมกำเนิดที่ไม่เสี่ยงแทน

📌 พิเศษ! หากคุณเป็นลูกค้าประกันสุขภาพของซันเดย์ เมื่อเกิดความกังวลเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะขึ้นมา คุณสามารถขอนัดหมายเพื่อพูดคุยกับสูตินรีแพทย์ผ่านทางบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine) ของซันเดย์ได้ง่ายๆ ผ่านซูเปอร์แอปฯ Sunday Service ที่สำคัญก็คือ ไม่จำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายใดๆ หากคุณมีความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) ตามเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์
คลิกซื้อประกันสุขภาพซันเดย์ เพื่อความสบายใจให้กับผู้หญิงทุกคนได้ ที่นี่

ซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย