hero-image

รถติดหล่มควรทำอย่างไร โทรหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือได้บ้าง?

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเมื่อไหร่ นอกจากจะต้องระวังอุบัติเหตุจากถนนลื่นแล้ว ผู้ขับขี่รถยนต์ยังต้องระมัดระวังการขับขี่บนถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อและพื้นดินที่กำลังอ่อนตัวลงจากน้ำฝน เนื่องจากอาจเสี่ยงเจอเข้ากับปัญหารถติดหล่มได้โดยไม่ทันตั้งตัว

หากรถยนต์คันไหนมีปัญหารถติดหล่มเข้าแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือควร ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานส่วนไหนดี มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน

รถติดหล่มทำไงดี

เข้าใจก่อน! รถติดหล่มเป็นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ปัญหาการขับรถยนต์ไปติดหล่มเป็นปัญหาเดียวกับการขับตกหลุม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘รถติดหล่ม’ จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขับรถยนต์ลุยเข้าไปยังพื้นดินเนื้อนิ่มที่ไม่ได้มีการจับตัวอย่างแน่นหนา โดยหากพื้นดินเหล่านี้สัมผัสกับน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าพื้นดินดังกล่าวก็จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นโคลนนั่นเอง

อย่างไรก็ดี แค่ดินเปลี่ยนสภาพเป็นโคลนอย่างเดียวยังไม่พอ แต่หากพื้นดินโคลนดังกล่าวมีหลุมบ่อเกิดขึ้น หากพลาดหักล้อรถยนต์ไม่พ้นหลุมบ่อเหล่านี้เมื่อไหร่ก็จะยิ่งเสี่ยงทำให้รถติดหล่มมากเท่านั้น 

ที่สำคัญ ถ้าพื้นดินโคลนดังกล่าวมีเศษดิน ทราย หรือ กรวดเล็ก ๆ ที่เข้าไปจับตัวกับดอกยางรถยนต์จนทำให้เกิดภาวะ ‘ล้อฟรี’ ด้วยแล้ว โอกาสที่จะขึ้นจากหล่มบนพื้นดินโคลนเหล่านี้ก็จะยิ่งยากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหารถติดหล่มที่ไม่ว่าจะเร่งเครื่องอย่างไรก็ไม่สามารถพารถยนต์ออกจากหลุมบ่อเหล่านี้ได้สักที


ขับรถติดหล่มต้องทำไง? ลองแก้ปัญหาอย่างถูกต้องด้วย 7 วิธีนี้

เมื่อเจอเข้ากับปัญหารถติดหล่ม มั่นใจได้เลยว่าใครหลายคนอาจรู้สึกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก แต่ก่อนที่จะร้อนลนหาว่า รถติดหล่มต้องทำยังไงจนไม่รู้จะเริ่มต้นที่จุดไหน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือ อินเทอร์เน็ตหรือไม่ ขอแนะนำให้ตั้งสติก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อย ๆ ลองแก้ปัญหารถยนต์ติดหล่มตาม 7 วิธี ดังนี้

1. เช็กให้ชัวร์! ล้อข้างไหนติดหล่มอยู่

เมื่อรู้สึกว่ารถยนต์กำลังติดหล่ม ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรไป ลองตรวจสอบให้ละเอียดก่อนว่า ล้อของรถยนต์ข้างไหนกำลังติดหล่มอยู่ หลุมบ่อที่ตกลงไปมีความลึกมากเท่าไหร่ จากนั้นจึงเช็กให้ชัวร์อีกรอบว่า ภายในหล่มที่ตกลงไปนั้นมีเศษดิน หิน ทราย หรือ วัตถุที่ดูเป็นอันตรายต่อล้อรถยนต์หรือไม่ เพราะหากดึงดันที่เร่งเครื่องขึ้นไปโดยไม่ตรวจสอบอะไรเลย นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่รถยนต์จะติดหล่มลึกกว่าเดิมแล้ว ล้อรถยนต์และช่วงล่างก็อาจได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน

2. ค่อย ๆ ขับรถเดินหน้าและถอยหลัง

หลังจากที่ตรวจสอบล้อที่ติดหล่ม ตลอดจนวัตถุที่ดูเป็นอันตรายต่อล้อรถยนต์เรียบร้อย ทีนี้ค่อย ๆ ลองขับรถยนต์เดินหน้าและถอยหลังช้า ๆ ด้วยเกียร์ต่ำดูก่อน โดยการขับรถเดินหน้าและถอยหลังช้า ๆ นี้จะช่วยเพิ่มแรงเหวี่ยงให้กับรถยนต์ ส่งผลให้รถยนต์ขึ้นจากหลุมบ่อที่พื้นโคลนได้นั่นเอง


Sunday Tips!

รถติดหล่มเมื่อไหร่ ห้ามทำแบบนี้เด็ดขาด!

1. ห้ามเร่งเครื่องยนต์ เนื่องจากจะทำให้พื้นผิวที่สัมผัสกับล้อน้อยลง ทั้งยังเป็นการอัดเศษหินดินทรายเข้าไปที่ดอกยาง และยังเป็นการขุดหลุมฝังล้อไปในตัวอีกด้วย ดังนั้น หากยิ่งเร่งเครื่องมากเท่าไหร่ รถยนต์ก็จะยิ่งติดหล่มมากเท่านั้น
2. ไม่ควรถ่ายน้ำหนักสัมภาระออกจากรถยนต์ เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้รถยนต์น้ำหนักเบาจนสามารถหลุดจากหล่มได้
3. ไม่ควรขย่มรถยนต์ เนื่องจากไม่สามารถช่วยสร้างจังหวะให้รถยนต์ปีนหล่มออกมาได้ ทั้งยังเสี่ยงที่จะทำให้รถยนต์ติดหล่มมากกว่าเดิมอีกด้วย

3. หาก้อนหิน กิ่งไม้ หรือ วัตถุแข็ง ๆ มาหนุนนำหน้าล้อที่ติดหล่ม

หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้รอดจากรถติดหล่มได้ คือ การเพิ่มผิวสัมผัสที่พื้นดินเพื่อให้ล้อสามารถไต่ออกมาจากหล่มได้ ดังนั้น หากวิธีค่อย ๆ ขับรถเดินหน้าและถอยหลังยังไม่ได้ผล ลองหาก้อนหินขนาดพอดีกับล้อ กิ่งไม้ขนาดใหญ่ หรือ แผ่นไม้กว้าง ๆ มารองหนุนตรงหน้าล้อรถยนต์ที่ติดหล่มอยู่ จากนั้นจึงค่อย ๆ ขับรถให้ล้อไต่และเดินหน้าขึ้นมาจากหล่ม

แก้ปัญหารถติดหล่มอย่างถูกต้อง

4. หากมีอุปกรณ์เติมลมยาง ทดลองปล่อยลมยางออกดู

สำหรับใครที่ขับรถติดหล่มอยู่ แต่พื้นที่รอบ ๆ ดันไม่มีก้อนหิน กิ่งไม้ขนาดใหญ่ หรือ วัตถุแข็ง ๆ ที่พอจะหนุนล้อได้เลย หากภายในรถยนต์มีอุปกรณ์เติมลมยางอยู่ ขอแนะนำให้ลองปล่อยลมยางออกเพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัสระหว่างล้อกับผิวถนน จากนั้นจึงค่อย ๆ ขับรถขึ้นจากหล่มดู ซึ่งหากหลุดจากหล่มได้แล้วก็สามารถเติมลมยางและขับรถยนต์ไปต่อได้ทันที

5. ใช้อุปกรณ์รอก

หากใครมีอุปกรณ์รอกติดรถยนต์อยู่แล้ว สามารถนำรอกมาติดไว้ที่จุดยึดของรถยนต์ที่บริเวณด้านหน้า จากนั้นให้นำปลายเชือกไปผูกติดไว้กับต้นไม้ใหญ่ หรือ เสาที่มีความแข็งแรงมากเพียงพอ สุดท้ายจึงค่อย ๆ ให้รอกดึงรถยนต์ขึ้นมา โดยวิธีนี้ถือเป็นการแก้ปัญหารถติดหล่มที่ง่ายและรวดเร็วมาก ดังนั้น หากรู้ว่าต้องเดินทางไปยังถนนลูกรัง หรือ ถนนพื้นดินอยู่บ่อย ๆ อย่าลืมซื้ออุปกรณ์รอกติดรถยนต์เอาไว้ด้วย

6. หาคนช่วยเข็น

สำหรับรถติดหล่มคันไหนมีผู้โดยสารมาด้วยหลายคน อย่าลืมขอความร่วมมือจากผู้โดยสารทุกท่านให้ออกแรงช่วยกันเข็นรถยนต์ดู โดยหากยิ่งมีคนช่วยมากเท่าไหร่ โอกาสที่ล้อจะหลุดจากโคลนหนืด ๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น และหากยิ่งมีอุปกรณ์ช่วยหนุนล้ออย่างหิน กิ่งไม้ หรือ วัตถุขนาดใหญ่ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยให้รถยนต์หลุดจากหล่มได้มากเท่านั้น แต่หากเลือกใช้วิธีนี้ อย่าลืมถามความสมัครใจของผู้โดยสารก่อนด้วย เนื่องจากล้อรถยนต์อาจเป็นตัวสาดโคลนและเศษดินทรายมาโดนตัวของผู้ช่วยเข็นได้นั่นเอง

7. ติดต่อหารถลากในพื้นที่ใกล้เคียง

หากจนแล้วจนรอดลองวิธีไหนก็ยังไม่ได้ผล หรือ รถติดหล่มที่ลึก ทั้งยังล้อรถยนต์ก็ยังโดนโคลนดูดลงไปจนลึกอีก ขอแนะนำให้ลองติดต่อหารถลากจากพื้นที่ใกล้เคียง หรือ มองหาความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่รอบ ๆ ดู แต่อย่าลืมระมัดระวังตัวให้ดีด้วย

รถติดหล่ม-โทรหาใครดี-ขอความช่วยเหลือจากไหน

รถติดหล่มควรโทรหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ?

สำหรับผู้ประสบปัญหารถติดหล่มที่โทรศัพท์มือถือพอมีสัญญาณ สามารถโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. กรมทางหลวงชนบทหมายเลข 1146
  2. ศูนย์บริการหลังการขาย หรือ บริการฉุกเฉินของรถยนต์แต่ละค่าย 
  3. ศูนย์บริการรถยนต์ค่ายอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
  4. ติดต่อประกันรถยนต์เพื่อรับบริการฉุกเฉิน ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันรถยนต์และเงื่อนไขความคุ้มครองที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์
รวมครบ-ทุกวิธีแก้ปัญหารถติดหล่ม-พร้อมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน

จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหารถติดหล่มอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเริ่มต้นจากการตั้งสติ พร้อมเลือกวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี หากไม่อยากเจอเข้ากับปัญหารถติดหล่ม อย่าลืมวางแผนการเดินทางให้รอบคอบตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมเตรียมอุปกรณ์สำหรับแก้ปัญหารถติดหล่มเอาไว้ในกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางผ่านถนนลูกรัง หรือ ถนนพื้นดิน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะขับรถยนต์เส้นทางไหน การมีประกันรถยนต์เอาไว้ก็สามารถเพิ่มความอุ่นใจให้ทุกการเดินทางได้เป็นอย่างดี สำหรับใครที่กำลังตามหาประกันรถยนต์เพื่อรองรับความเสี่ยงของทุกเส้นทาง Sunday มาพร้อมกับประกันรถยนต์ยุคใหม่ที่ ‘คุณ’ สามารถสร้างแผนและปรับความคุ้มครองที่พอใจได้ด้วยตัวเอง สามารถศึกษาความคุ้มครอง เงื่อนไขการให้บริการในกรณีฉุกเฉิน และเช็กเบี้ยประกันรถยนต์แบบครบจบ