พาเที่ยวโดย ธรรญชนก งามเสาวรส, ภูวิศ วิทิตยานนท์, อัฐสกรณ์ ตันเยี่ยนนิติ และผดุงเกียรติ ตามาสี
บทความนี้เล่าถึงการผจญภัย 1 วันในจาการ์ตาของพวกเราทีม data scientist และ developer จากซันเดย์ จาการ์ตาเป็นเมืองที่เราไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มาเยือน แต่หลังจากที่พวกเราชนะการแข่งขัน Local AWS Hackdays 2018 ในระดับประเทศไทย เราก็ได้มาแข่งขัน AWS Hackdays 2018 ต่อในรอบ Grand Finale ที่นี่ โดยครั้งนี้เป็นการเดินทางไปอินโดนีเซียครั้งแรกของพวกเราทั้ง 4 คน
เอาละ จะเริ่มละนะ
เราเดินทางมาถึงจาการ์ตาในช่วงบ่ายก่อนวันแข่งขัน 1 วัน ตั้งใจว่าจะใช้วันนี้เป็นวันพักผ่อนและเดินเล่น สำรวจเมืองโดยที่ยังไม่ได้มีแผนว่าจะไปที่ไหนดี เมื่อออกจากสนามบินมาได้พวกเราก็เรียกแท็กซี่ตรงไปยังโรงแรมซึ่งจะเป็นที่พักของเราตลอด 3 วัน 2 คืน
หลังจากเก็บกระเป๋าเข้าที่พักเรียบร้อยก็ได้เวลาออกมาหาอาหารกลางวันทานกันที่ Plaza Festival Mall Kuningan ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมเพียง 140 เมตร เดินถึงได้สบายๆ หลังจากที่เดินหาร้านอาหารอยู่ซักพัก สุดท้ายเราก็เลือกฝากท้องที่ร้าน Lucky Cat Coffee & Kitchen ทานอิ่มแล้ว จุดหมายต่อไปคือการเดินเล่นชมเมืองซักเล็กน้อย แต่เราไม่ได้ศึกษาเรื่องที่ท่องเที่ยวในเมืองมามากนัก อีกทั้งจาการ์ตาก็ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เราจึงไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน เราจึงพยายามเลือกที่เที่ยวที่เดินทางสะดวกและรถไม่ติดมากเป็นหลัก เพราะว่าจาการ์ตาเป็นเมืองที่รถติดเป็นอันดับต้นๆ ตอนแรกเราอยากไปมัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque) แต่หลังเปิดดูการจราจรผ่าน google maps เราพบว่ากว่าจะไปถึงน่าจะใช้เวลานาน เราจึงเลือกไปที่อนุสาวรีย์แห่งชาติ (National Monument) แทน เพราะเดินทางได้สะดวกกว่า เราจึงนั่งแท็กซี่จากร้านอาหารไปยังจุดหมาย
อนุสาวรีย์แห่งชาติเป็นหอคอยสูง 132 เมตรอยู่กลางจัตุรัสเมอร์เดกา ภายในเป็นนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งเปิดส่วนฐานและยอดหอคอยให้เป็นจุดชมวิว แต่น่าเสียดายที่ตอนเราไปทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดจุดชมวิวส่วนยอดให้เข้าชม เราจึงขึ้นไปได้แค่ส่วนฐานเท่านั้น ซึ่งกว่าจะหาทางขึ้นไปยังจุดชมวิวได้นั้น เราเดินผิดฝั่งทำให้ต้องเดินรอบอนุสาวรีย์จนเกือบครบหนึ่งรอบ เป็นระยะทางประมาณ 700 เมตร เล่นเอาเหนื่อยเลยทีเดียว ทำให้รู้ว่าทางเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้เข้าจากตัวอนุสาวรีย์ตรงๆ แต่เป็นทางเข้าใต้ดินที่ลอดเข้าจากอีกฝั่งต่างหาก
วันที่เราไปนั้นไม่รู้ว่าเขาจัดกิจกรรมอะไรอยู่ มีคนแต่งชุดทหารเต็มไปหมดเลย ที่ประตูทางเข้าก็มีกลุ่มคนประท้วงกันเล็กๆ
จากจุดชมวิว เราเห็นอาคารสีขาวหลังคาทรงโดมขนาดใหญ่อยู่ไกลๆ แต่ยังอยู่ในระยะมองเห็น เมื่อลองหาข้อมูลจึงได้ทราบว่าอาคารหลังนั้นคือมัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque) ซึ่งเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกก่อนที่เราจะเปลี่ยนใจมาที่อนุสาวรีย์แห่งชาติ พวกเราจึงตัดสินใจเดินไปสักการะเพื่อเป็นการเติมแต้มบุญไว้ก่อนสำหรับการแข่งขันในวันพรุ่งนี้ การเลือกเดินของเรานั้นทำให้เราต้องเดินอีก 2.3 กิโลเมตร เนื่องจากต้องเดินอ้อมคลองที่ขวางกั้นเราอยู่ และประตูฝั่งใกล้มัสยิดไม่เปิดให้เข้าออกเดินมาเรื่อยๆ ก็เริ่มได้ยินเสียงอะซาน (เสียงเรียกเข้ามัสยิด) ทำให้รู้ว่าใกล้จะถึงจุดหมายของเราแล้ว มีเด็กน้อยเดินตามเรามาพูดภาษาท้องถิ่นพยายามเสนอขายบางสิ่งซึ่งเราไม่เข้าใจ จนมาถึงทางเข้า ได้เจอกับชาวบ้านที่พูดภาษาอังกฤษได้จึงเข้าใจว่าเขาเสนอขายถุงพลาสติกแลกกับเงินเท่าไหร่ก็ได้ตามใจเรา เพื่อให้เราถอดรองเท้าใส่ถุงนั้นเวลาเข้าไปเยี่ยมชมในมัสยิด
พอเข้าใจจุดประสงค์ของถุงพลาสติกแล้ว เราตัดสินใจซื้อถุงมาในราคา 10,000 IDR หรือประมาณ 20 บาท ถอดรองเท้าใส่ถุงเรียบร้อย กำลังจะเดินเข้าไปข้างใน ก็ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ประกาศหมดเวลาเข้าชมซะงั้น
เมื่อไม่สามารถเข้าไปภายในมัสยิดได้ พวกเราก็ยืนงงๆ กันอยู่ซักพัก มองซ้ายมองขวาเห็นวิหารจาการ์ตา (Jakarta Cathedral) อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน จึงรีบเดินไปด้วยความเร็วเพราะกลัวจะถึงเวลาปิดอีก
พอไปถึงวิหาร บาทหลวงยังประกอบพิธีกรรมอยู่ พวกเราจึงค่อยๆ เดินเข้าไปภายใน ทำจิตใจให้สงบซักครู่ พิธีก็จบ จากนั้นพวกเราจึงเรียกรถเพื่อกลับมาพักผ่อนที่โรงแรมเพื่อเตรียมตัวแข่งขันในวัดถัดไป
ก่อนวันแข่งขัน เราใช้เวลาเตรียมตัว 15 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนเพื่อให้รถ robocar ของเราทำภารกิจได้ครบโดยใช้เวลาน้อยที่สุด แล้วก็ไม่ผิดหวัง รถของเราใช้เวลาเพียง 32 วินาทีในการวิ่งครบ 4 รอบสนาม ทำให้เราเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน AWS Hackdays Grand Finale โดยรางวัลที่ได้คือได้เข้าร่วมงาน AWS re:Invent 2018 ที่ Las Vegas ประเทศสหรัฐอเมริกา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- แข่งยังไงให้ได้แชมป์ AWS Hackdays: ทีม Data Scientist เล่าเบื้องหลังการแข่งขัน
- Sunday’s Data Science Team Won AWS Hackdays Bangkok
- ประกันภัยแบบเดิมหลบไป “อินชัวร์เทค” ทางเลือกใหม่ของศตวรรษที่ 21