นอกจากประกันรถยนต์แล้ว ค่าต่อภาษีรถยนต์เองก็เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายประจำปีที่เจ้าของรถยนต์ต้องวางแผนให้รอบคอบ เพราะหากปล่อยให้รถยนต์ขาดจากการต่อภาษีเมื่อไร ไม่เพียงแต่จะเสี่ยงโดนระงับทะเบียนรถยนต์เท่านั้น แต่เจ้าของรถยนต์ยังเสี่ยงโดนคิดค่าปรับย้อนหลัง ซึ่งอาจเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้เลยทีเดียว
เห็นความสำคัญของภาษีรถยนต์แล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงสงสัยถึงภาษีรถไฟฟ้า หรือ ภาษีรถ EV เช่นกัน สำหรับใครที่วางแผนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ แต่ยังไม่ชัวร์ว่าภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความแตกต่างจากภาษีรถยนต์ทั่วไปอย่างไร จะมีการคำนวณภาษีรถยนต์เหมือนกันหรือไม่ หากสงสัยแบบเดียวกันอยู่ มาหาคำตอบในบทความนี้กัน!
เข้าใจภาษีรถยนต์ก่อน
ก่อนที่จะดูวิธีคิดค่าภาษีรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์ไฟฟ้า ในส่วนนี้ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาษีรถยนต์คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน ตลอดจนข้อกฎหมายเบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีรถยนต์ในส่วนนี้กัน
ภาษีรถยนต์คืออะไร?
ภาษีรถยนต์ คือ ค่าใช้จ่ายภาคบังคับที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนจะต้องชำระเมื่อครบกำหนดเวลา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้นำภาษีรถยนต์เหล่านี้ไปดูแลรักษาและพัฒนาถนน รวมถึงระบบคมนาคมภายในประเทศทั้งหมด โดยรถยนต์ที่เสียภาษีรถยนต์เป็นที่เรียบร้อยจะได้รับป้ายกระดาษสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มาติดที่หน้ากระจกนั่นเอง
ไม่จ่ายภาษีรถยนต์ ผิดกฎหมายหรือไม่?
ตามกฎหมายแล้ว หากเจ้าของรถยนต์ไม่ต่อภาษีรถยนต์เมื่อถึงเวลาที่กำหนด หรือชำระล่าช้า จะต้องได้รับโทษเป็นค่าปรับ โดยหากค้างชำระไม่เกิน 3 ปีจะต้องเสียค่าปรับ 1% ของค่าภาษีรถยนต์ที่ต้องชำระต่อเดือน จนกว่าจะถึงวันที่ชำระเรียบร้อย
ในระหว่างนี้ เจ้าของรถยนต์จะไม่สามารถนำรถยนต์ไปทำธุรกรรมทางการเงินอย่างการขอสินเชื่อหรือเข้าไฟแนนซ์ได้ จนกว่าจะดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ให้เรียบร้อย แต่ยังสามารถนำรถยนต์ไปซื้อขายได้ตามปกติ
แต่หากค้างชำระนานเกิน 3 ปี กรมการขนส่งทางบกจะส่งจดหมายแจ้งจอดให้กับเจ้าของรถยนต์ ส่งผลให้ป้ายทะเบียนรถยนต์ถูกยกเลิก ซึ่งเมื่อได้รับจดหมายแจ้งจอดแล้ว เจ้าของรถยนต์จะต้องไปทำบันทึกการระงับทะเบียนภายใน 30 วันที่เขตพื้นที่จดทะเบียนรถยนต์ด้วย มิเช่นนั้นอาจโดนค่าปรับเพิ่มได้
สำหรับเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ได้ชำระภาษีรถยนต์มานานเกิน 3 ปี จะต้องดำเนินการขอป้ายทะเบียนใหม่ ชำระภาษีรถยนต์ที่ค้างอยู่ให้ครบ ตลอดจนซื้อพ.ร.บ.รถยนต์ใหม่ และต้องแจ้งของใช้รถยนต์ใหม่อีกครั้ง
ดังนั้น หากอยากเสียเวลากับการดำเนินการ หรือต้องรับความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากการไม่ต่อภาษีรถยนต์ อย่าลืมชำระภาษีรถยนต์ตามเวลาที่กำหนดด้วย โดยเจ้าของรถยนต์สามารถดำเนินการต่อภาษีก่อนกำหนดได้ไม่เกิน 90 วัน
ภาษีรถยนต์ต่างจาก พ.ร.บ.รถยนต์ อย่างไร?
หลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังซื้อรถยนต์เป็นครั้งแรก มักเข้าใจว่า ‘ภาษีรถยนต์’ นั้นเป็นค่าใช้จ่ายก้อนเดียวกับ ‘พ.ร.บ.รถยนต์’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ.ร.บ.รถยนต์ นั้นเป็นค่าใช้จ่ายคนละก้อนกับภาษีรถยนต์ ทั้งมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันด้วย
โดย ‘พ.ร.บ.รถยนต์’ คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับที่จะให้ความคุ้มครองความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันบนท้องถนน ซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองในรูปแบบของค่ารักษาพยาบาล หรือ เงินชดเชยตามเงื่อนไขที่กำหนด นอกจากนี้ ‘พ.ร.บ.รถยนต์’ ยังเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการต่อภาษีรถยนต์ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เจ้าของรถยนต์จะต้องต่อพ.ร.บ.รถยนต์ก่อนที่จะต่อภาษีรถยนต์นั่นเอง
ตามกฎหมายแล้ว ‘พ.ร.บ.รถยนต์’ ถือเป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนจะต้องทำและต่ออายุทุกปี หากเจ้าของรถยนต์ไม่ต่อพ.ร.บ.รถยนต์ จะต้องรับโทษถูกปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท
เอกสารที่ต้องเตรียม และ วิธีต่อภาษีรถยนต์
เอกสารสำหรับต่อภาษีรถยนต์
- คู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ฉบับจริง หรือ สำเนา
- พ.ร.บ. รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือ รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ กรณีที่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ (ถ้ามี)
วิธีต่อภาษีรถยนต์
- ต่อประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถยนต์ ให้เรียบร้อยก่อน
- นำรถยนต์ไปตรวจสภาพ ในกรณีที่รถยนต์อายุเกิน 7 ปี หรือในกรณีที่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์
- เตรียมเอกสารให้ครบ พร้อมนำไปยื่นและชำระเงินที่จุดบริการ เช่น สำนักงานขนส่ง กรมการขนส่งทางบก ที่ทำการไปรษณีย์ไทย หรือ จุดบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รถยนต์น้ำมันจ่ายภาษีเท่าไหร่?
วิธีคิดภาษีรถยนต์น้ำมันจะแตกต่างกันไปตามประเภทของรถยนต์ โดยจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ซึ่งแต่ละประเภทจะมีการคำนวณภาษีรถยนต์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ป้ายขาว ตัวหนังสือสีดำ
ในกรณีเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะมีการคำนวณภาษีรถยนต์แบบขั้นบันได ซึ่งจะเป็นไปตามรายละเอียด ดังนี้
กำลังเครื่องยนต์ | อัตราภาษีต่อกำลังเครื่องยนต์ | ภาษีแต่ละช่วงขั้น | ภาษีสะสมสูงสุด |
600 ซีซีแรก | 0.50 | 300 | 300 |
ส่วนเกิน 600 – 1,800 ซีซี | 1.50 | 1,800 | 2,100 |
ส่วนเกิน 1,800 ซีซี | 4.00 | ตามจำนวนซีซี | ตามจำนวนซีซี |
วิธีคิดภาษีรถยนต์
ตัวอย่างเช่น หากรถยนต์มีกำลังเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี เท่ากับว่า จะต้องคำนวณภาษีรถยนต์ตามขั้นบันได ดังนี้
- 600 ซีซีแรก คิดเป็น 300 บาท
- 1,800 ซีซีแรก คิดเป็น 1,800 บาท
- ส่วนต่าง 2,500 – 1,800 = 700 ซีซี คิดเป็น 700 x 4 = 2,800 บาท
- เท่ากับว่า เจ้าของรถยนต์จะต้องเสียภาษีทั้งหมด 300 + 1,800 + 2,800 = 4,900 บาท
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรรู้!
หากใช้งานรถยนต์มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป เจ้าของรถยนต์จะได้รับส่วนลดค่าภาษีเช่นกัน โดยจะแบ่งตามช่วงอายุรถยนต์ ดังนี้
- รถยนต์อายุมากกว่า 6 ปี ได้รับส่วนลด 10%
- รถยนต์อายุมากกว่า 7 ปี ได้รับส่วนลด 20%
- รถยนต์อายุมากกว่า 8 ปี ได้รับส่วนลด 30%
- รถยนต์อายุมากกว่า 9 ปี ได้รับส่วนลด 40%
- รถยนต์อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ได้รับส่วนลด 50%
ตัวอย่างเช่น หากใช้งานรถยนต์มีกำลังเครื่องยนต์ 2,500 ซีซีคันเดียวกับตัวอย่างข้างต้นมานาน 6 ปี จากเดิมต้องเสียภาษีอยู่ที่ 4,900 บาท แต่หากใช้รถยนต์มาเกิน 6 ปีแล้วจะได้ส่วนลด 10% คิดเป็น 4,900 x 10% = 490 บาท ดังนั้น จะต้องเสียภาษีรถยนต์ทั้งหมด 4,900 – 490 = 4,410 บาท
2. รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ป้ายขาว ตัวหนังสือสีน้ำเงิน
รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่งจะมีการคำนวณภาษีรถยนต์ตามน้ำหนักรถยนต์ และจะไม่มีส่วนลดภาษีรถยนต์เหมือนกับรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ซึ่งอัตราการเสียภาษีจะแตกต่างกันไป ดังนี้
น้ำหนักรถยนต์ | ค่าภาษี |
0 – 500 กิโลกรัม | 150 |
501 – 750 กิโลกรัม | 300 |
751 – 1,000 กิโลกรัม | 450 |
1,001 – 1,250 กิโลกรัม | 800 |
1,251 – 1,500 กิโลกรัม | 1,000 |
1,501 – 1,750 กิโลกรัม | 1,300 |
1,751 – 2,000 กิโลกรัม | 1,600 |
2,001 – 2,500 กิโลกรัม | 1,900 |
2,501 – 3,000 กิโลกรัม | 2,200 |
3,001 – 3,500 กิโลกรัม | 2,400 |
3,501 – 4,000 กิโลกรัม | 2,600 |
4,001 – 4,500 กิโลกรัม | 2,800 |
4,501 – 5,000 กิโลกรัม | 3,000 |
5,001 – 6,000 กิโลกรัม | 3,200 |
6,001 – 7,000 กิโลกรัม | 3,400 |
7,000 กิโลกรัมขึ้นไป | 3,600 |
3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ป้ายขาว ตัวหนังสือสีเขียว
รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจะมีการคำนวณภาษีรถยนต์ตามน้ำหนักรถยนต์ และจะไม่มีส่วนลดภาษีรถยนต์เช่นกัน ซึ่งอัตราการเสียภาษีจะแตกต่างกันไป ดังนี้
น้ำหนักรถยนต์ | ค่าภาษี |
0 – 500 กิโลกรัม | 300 |
501 – 750 กิโลกรัม | 450 |
751 – 1,000 กิโลกรัม | 600 |
1,001 – 1,250 กิโลกรัม | 750 |
1,251 – 1,500 กิโลกรัม | 900 |
1,501 – 1,750 กิโลกรัม | 1,050 |
1,751 – 2,000 กิโลกรัม | 1,350 |
2,001 – 2,500 กิโลกรัม | 1,650 |
2,501 – 3,000 กิโลกรัม | 1,950 |
3,001 – 3,500 กิโลกรัม | 2,250 |
3,501 – 4,000 กิโลกรัม | 2,550 |
4,001 – 4,500 กิโลกรัม | 2,850 |
4,501 – 5,000 กิโลกรัม | 3,150 |
5,001 – 6,000 กิโลกรัม | 3,450 |
6,001 – 7,000 กิโลกรัม | 3,750 |
7,000 กิโลกรัมขึ้นไป | 4,050 |
รถยนต์ไฟฟ้าจ่ายภาษีเท่าไหร่?
ภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการคำนวณจากน้ำหนักของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สำหรับเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 นั้นจะรับสิทธิประโยชน์ในการลดค่าภาษีรถไฟฟ้าจากมาตรการลดค่าภาษีจากอัตราที่กฎหมายกำหนด 80% เป็นเวลา 1 ปี
1. รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง
น้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า | ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับส่วนลด | ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า หลังจบมาตรการลดภาษี 30 กันยายน 2568 |
0 – 500 กิโลกรัม | 30 บาท | 150 บาท |
501 – 750 กิโลกรัม | 60 บาท | 300 บาท |
751 – 1,000 กิโลกรัม | 90 บาท | 450 บาท |
1,001 – 1,250 กิโลกรัม | 160 บาท | 800 บาท |
1,251 – 1,500 กิโลกรัม | 200 บาท | 1,000 บาท |
1,501 – 1,750 กิโลกรัม | 260 บาท | 1,300 บาท |
1,751 – 2,000 กิโลกรัม | 330 บาท | 1,600 บาท |
2,001 – 2,500 กิโลกรัม | 380 บาท | 1,900 บาท |
2,501 – 3,000 กิโลกรัม | 440 บาท | 2,200 บาท |
3,001 – 3,500 กิโลกรัม | 480 บาท | 2,400 บาท |
3,501 – 4,000 กิโลกรัม | 520 บาท | 2,600 บาท |
4,001 – 4,500 กิโลกรัม | 560 บาท | 2,800 บาท |
4,501 – 5,000 กิโลกรัม | 600 บาท | 3,000 บาท |
5,001 – 6,000 กิโลกรัม | 640 บาท | 3,200 บาท |
6,001 – 7,000 กิโลกรัม | 680 บาท | 3,400 บาท |
7,000 กิโลกรัมขึ้นไป | 720 บาท | 3,600 บาท |
2. รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เกิน 7 ที่นั่ง
น้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า | ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับส่วนลด | ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า หลังจบมาตรการลดภาษี 30 กันยายน 2568 |
0 – 500 กิโลกรัม | 15 บาท | 75 |
501 – 750 กิโลกรัม | 30 บาท | 150 |
751 – 1,000 กิโลกรัม | 45 บาท | 225 |
1,001 – 1,250 กิโลกรัม | 80 บาท | 400 |
1,251 – 1,500 กิโลกรัม | 100 | 500 |
1,501 – 1,750 กิโลกรัม | 130 | 650 |
1,751 – 2,000 กิโลกรัม | 160 | 800 |
2,001 – 2,500 กิโลกรัม | 190 | 950 |
2,501 – 3,000 กิโลกรัม | 220 | 1,100 |
3,001 – 3,500 กิโลกรัม | 240 | 1,200 |
3,501 – 4,000 กิโลกรัม | 260 | 1,300 |
4,001 – 4,500 กิโลกรัม | 280 | 1,400 |
4,501 – 5,000 กิโลกรัม | 300 | 1,500 |
5,001 – 6,000 กิโลกรัม | 320 | 1,600 |
6,001 – 7,000 กิโลกรัม | 340 | 1,700 |
7,000 กิโลกรัมขึ้นไป | 360 | 1,800 |
เท่านี้ ผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างภาษีรถยนต์ไฟฟ้าและภาษีรถยนต์ทั่วไป ตลอดจนรู้จักการคำนวณภาษีรถยนต์แต่ละประเภทอย่างถูกต้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นอกจากจะวางแผนการเงินสำหรับภาษีรถยนต์ หรือ ภาษีรถ EV แล้ว เจ้าของรถยนต์ยังต้องเตรียมวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับประกันรถยนต์ หรือ ประกันรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่กำลังวางแผนซื้อรถยนต์อยู่ แต่ไม่รู้ว่าควรเตรียมค่าประกันรถยนต์ไว้ที่เท่าไร ลองมาเช็กเบี้ยประกันกับ Sunday ก่อนได้ง่าย ๆ กรอกแค่ ‘ที่อยู่ปัจจุบัน’ และ ‘วันเดือนปีเกิดผู้ขับขี่’ พร้อมปรับความคุ้มครองได้ตามการใช้งานและเลือกรับส่วนลดได้มากถึง 4 จุด หากถูกใจกรมธรรม์ไหน กดเลือกซื้อต่อได้เองบนเว็บไซต์ทันที