หน้าหลัก เรื่องราวรอบตัว 8 นิสัยคน Toxic เป็นยังไง พร้อมวิธีรับมือ

8 นิสัยคน Toxic เป็นยังไง พร้อมวิธีรับมือ

คน Toxic รับมือยังไง

เพราะความสุขของชีวิตเริ่มต้นจากสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงไปพร้อมกัน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หลาย ๆ ครั้งชีวิตก็มักพัดพาคนนิสัยเป็นพิษ หรือ Toxic People เข้ามาแวะเวียนในชีวิตประจำวันจนทำให้ สุขภาพใจค่อย ๆ อ่อนแอลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว

แล้ว คน Toxic หรือ กลุ่ม Toxic People ที่ว่านี้คือคนแบบไหน มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ควรรับมือคน Toxic อย่างไรให้เหมาะสมและดีต่อใจของเรามากที่สุด บทความนี้มีคำตอบ!

เลือกอ่านประเด็นที่สนใจ

Toxic-People-คือคนแบบไหน

Toxic People คือคนแบบไหน?

แม้ใครหลายคนจะพร่ำสอนว่าอย่าเอาความสุขของตัวเองไปผูกติดไว้กับ ‘คนอื่น’ แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็ยากที่ปฏิเสธเช่นกันว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด รู้ตัวหรือไม่ การอยู่ใกล้ ‘คนอื่นที่มีนิสัยเป็นพิษ’ หรือ ‘Toxic People’ ก็สามารถสร้างความทุกข์ใจ จนทำให้แบ่งแยกความสุขของตัวเองออกมาไม่ได้ 100%

โดย Toxic People คือ คนที่มีพฤติกรรมทำลายความรู้สึกของคนรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้สามารถส่งผลต่อทั้งความรู้สึกในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกในระยะยาว ไปจนถึงวิธีการมองคุณค่าภายในตัวเอง ทั้งยังสามารถส่งผลต่อลักษณะนิสัยและสภาพจิตใจของบุคคลรอบข้าง

ในอีกนัยยะหนึ่ง Toxic People นั้นจะเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมและการกระทำที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลรอบข้าง ทั้งในเชิงร่างกาย จิตใจ หรือ ทั้งสองอย่าง

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ที่มองปัญหาคนอื่นจากมุมมองของตัวเองอาจมองว่า การอยู่ใกล้ Toxic People ไม่ได้ทำให้ตายแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ความตายจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจากไป แต่การอยู่ใกล้ Toxic People เป็นประจำอาจเป็นความตายที่ค่อย ๆ กัดกินชีวิตทีละน้อยอย่างต่อเนื่องไปทุกวัน จนท้ายที่สุดอาจเกิด ‘อาการใจพัง’ จนไม่สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเหมือนเดิมก็เป็นได้


นิสัยคนเป็นพิษ-Toxic-People

8 เช็กลิสต์นิสัย คนเป็นพิษ (Toxic People) ที่หลายคนยังไม่รู้ 

นอกจากคนรอบตัวในชีวิตประจำวันอย่างเพื่อน คนที่ทำงาน หรือ คนรักแล้ว Toxic People ยังสามารถในรูปแบบของคนในครอบครัวอย่างญาติ พี่น้อง รวมไปถึงพ่อแม่ด้วยเช่นกัน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ตอนนี้ชีวิตกำลังรายล้อมไปด้วย Toxic People อยู่ ลองมาสังเกตพฤติกรรมคนรอบข้างตาม 8 เช็กลิสต์ ดังนี้

  1. ชอบควบคุมคนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการบงการ การทำร้ายร่างกาย การบิดเบือนความจริงอย่างการโกหก พูดเกินจริง การพูดโดยเลือกใช้คำเพื่อการทำร้ายคนอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมการพูดอ้อม ๆ หรือ การใช้ ‘ความเงียบ’ (Silent Treatment) เพื่อบังคับให้คนอื่นทำตามที่ต้องการ หลอกด่า หรือ ทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดที่ไม่ยอมทำตาม
  2. ไม่รู้จักขอโทษ ชอบโยนความผิด รวมไปถึงพฤติกรรมชอบโน้มน้าวให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นฝ่ายผิด (Gaslighting) ทั้ง ๆ ที่เรื่องจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น
  3. ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบวิจารณ์ผู้อื่น มีพฤติกรรมการตัดสินใจคนอื่นจากบรรทัดฐานของตัวเอง คิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ ไปจนถึงพฤติกรรมหลงและสนใจแต่เรื่องของตัวเอง พฤติกรรมด้อยค่าผู้อื่น ยกตัวเองให้สูงแต่กดคนอื่นให้ต่ำ หากอยู่ใกล้ไปนาน ๆ คนรอบข้างก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่น้อยลง
  4. อยู่ใกล้แล้วเครียด หดหู่ และซึมเศร้า Toxic People มักชอบสร้างความซึมเศร้าให้กับตนเองและกระจายให้คนอื่น บ่อยครั้งคนรอบข้างเองก็จะรู้สึกอึดอัด เครียด หดหู่ และด่ำดิ่งสู่ความเศร้าได้เช่นกัน
  5. ไม่ให้เกียรติคนอื่น ไม่มีมารยาท อยู่ด้วยแล้วรู้สึกถูกคุกคาม มีพฤติกรรมชอบก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น ไม่มีความเกรงใจ
  6. ไม่มีความจริงใจ ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น แต่ปิดความผิดของตนเอง อย่างการชอบนินทาให้คนอื่นเสียหาย การแต่งเติมเรื่องราว ไปจนถึงการนำเรื่องของคนอื่นไปพูดต่อ แต่เรื่องของตัวเอง หรือ ความผิดอื่น ๆ กลับปิดเอาไว้
  7. ชอบเรียกร้องความสนใจและความสงสารจากคนอื่น รวมไปถึงการชอบสร้างเรื่อง จากนั้นจึงโยนความผิดให้ผู้อื่นและทำให้ตัวเองเป็นเหยื่อของสถานการณ์
  8. เปลี่ยนแปลงเสมอ ทั้งอารมณ์แปรปรวน ชอบประชดประชัน ทำอะไรตามใจตัวเอง เปลี่ยนแปลงทุกเรื่องตามที่ต้องการ ทำให้หาความแน่นอนไม่ได้สักอย่าง

คนเป็นพิษ หรือ Toxic People นิสัยแบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า นิสัยที่เป็นพิษของ Toxic People มักมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิสัยคนเป็นพิษของ Toxic People สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

1. ประสบการณ์ที่ผ่านมา 

เช่น การผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ การผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่ทำให้เกิดบาดแผลในใจ

2. การเลี้ยงดูของครอบครัวที่ทำให้เกิดบาดแผลในใจ (Trauma) 

เช่น การอาศัยอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในแง่มุมต่าง ๆ มีการใช้สารเสพติด หรือ บ่มเพาะนิสัยที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงและการทำผิด จนเกิดเป็นพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว และฉุนเฉียว (Conduct Behavior) 

นอกจากนี้ แม้จะไม่มีความรุนแรงที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่บางครอบครัวเองก็มีการใช้ความรุนแรงทางอ้อมกับคนในครอบครัว เช่น การชอบติเตียนและกล่าวโทษลูกทุกเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจ หรือ เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำ จนทำให้ลูกโตมาแบบไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ส่งผลให้กลายเป็นคนเอาอกเอาใจคนอื่นมากไป (People Pleaser) หรือกลายเป็นคนมองไม่เห็นคุณค่าของผู้อื่นไปเลย 

ที่สำคัญ การอยู่กับครอบครัวที่ชอบให้ท้าย ปกป้องจนเกิดขอบเขต หรือ ชื่นชมมากเกินไป ก็สามารถบ่มเพาะนิสัยที่เป็นพิษกับผู้อื่นได้เช่นกัน

3. โรคจิตเวชบางประเภท 

เช่น โรคบุคลิกภาพอย่าง โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ไปจนถึงโรคความผิดปกติทางจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

รับมืออย่างไรให้เหมาะสมเมื่ออยู่ใกล้ Toxic People

การรับมือ Toxic People อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การเงียบหายทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แก้ปัญหา เพราะการเงียบหายไปเฉย ๆ อาจทำให้ Toxic People รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจและความชอบธรรมในการบงการก็เป็นได้ ดังนั้น หากใครมีความจำเป็นต้องเจอ Toxic People เป็นประจำ ขอแนะนำให้ลองตั้งรับและรับมือด้วยวิธีการเบื้องต้น ดังนี้

  1. พูดคุยกับ Toxic People เท่าที่จำเป็น เพื่อลดความรู้สึกในแง่ลบที่จะส่งผลกับตัวเรามากที่สุด
  2. เท่าทันเกม! สังเกตพฤติกรรม Toxic People ก่อนเผชิญหน้าและกำหนดขอบเขต เนื่องจาก Toxic People มักชอบทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจ ชอบรับบทเหยื่อ มีพฤติกรรมชอบนินทาและขี้อิจฉา ทั้งยังชอบบิดเบือนความจริง มักด้อยค่า ชอบทำให้คนอื่นรู้สึกผิด และบงการคนอื่นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ หากไม่สังเกตพฤติกรรมแล้วเลือกเผชิญหน้าเลยอาจส่งผลเสียกับตัวเราได้เช่นกัน ดังนั้น ก่อนจะไปเผชิญหน้าตรง ๆ อย่าลืมสังเกตพฤติกรรมก่อน จากนั้นจึงเลือกวิธีกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม
  3. ไม่คาดหวังว่า Toxic People จะเปลี่ยนแปลง หรือ ขอโทษ
  4. อย่าโทษตัวเอง หากยังไม่ได้พิจารณาให้ดี เนื่องจาก Toxic People ส่วนใหญ่มักพูดจาหว่านล้อมให้คุณรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามที่คนเหล่านี้ต้องการ ทั้งยังยกเหตุผลและความชอบธรรมมาด้อยค่าและบั่นทอนกำลังใจเสมอ
  5. อย่าคิดว่านิสัยคนเป็นพิษ หรือ Toxic People เป็นเรื่องปกติ เพราะจะยิ่งเปิดช่องให้คนเหล่านี้ทำพฤติกรรมเชิงลบกับเรามากยิ่งขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
รับมือเมื่ออยู่ใกล้-Toxic-People

ใจเริ่มพังจาก Toxic People ควรฟื้นฟูสภาพจิตใจเบื้องต้นอย่างไร?

สุขภาพใจที่แข็งแรงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เป็นสุข แต่หากใจเริ่มพัง หรือ รู้สึกเริ่มรับมือ Toxic People ไม่ไหว ลองมาฟื้นฟูสภาพจิตใจเบื้องต้นกันด้วยวิธีพื้นฐาน ดังนี้

  1. พาตัวเองออกจาก Toxic People หากรับมือจนรู้สึกว่าเริ่มไม่ไหว ทำอะไรก็ดูจะไม่มีอะไรดีขึ้น การเลือกตัดขาด ทำ Social Detox หรือ เลือกยุติความสัมพันธ์ที่สร้างความทุกข์ใจก็เป็นทางเลือกที่ช่วยฮีลใจได้เช่นกัน 
  2. หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลิน หรือ หากิจกรรมยามว่างกับคนที่รักเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ ๆ 
  3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้รู้สึกสบายใจ เป็นพื้นที่สำคัญที่ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาตัดสิน หรือ ทำให้รู้สึกทุกข์ใจ
  4. อ่อนแอบ้างก็ไม่เป็นไร การร้องไห้ หรือ แสดงความอ่อนแอออกมาในบางครั้งก็สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจจากความเครียดที่สะสมเป็นเวลานานได้เช่นกัน 
  5. ขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อเป็นการทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ตลอดจนเป็นการหาแนวทางในฟื้นฟูสภาพจิตใจจากทั้ง Toxic People บาดแผลในวัยเด็ก รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่อย่างถูกต้องและเหมาะสม
Toxic People เช็กให้ดีว่ามี 5 ข้อนี้หรือเปล่า? l TGIS EP.28 l Part 1

‘เรา’ เป็น Toxic People หรือเปล่า?

การมองเห็นข้อเสียของคนอื่นดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับว่าตัวเราเองอาจมีพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อผู้อื่นกลับไม่ง่ายเท่าไรนัก เพราะการสำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ต้องเริ่มจากการ “วางอัตตา” ลงก่อน แล้วค่อย ๆ มองผ่านเลนส์ที่เข้าใจทั้งตัวเราและคนรอบข้างไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเบาใจสำหรับใครหลายคนเลย

แต่การกล้ายอมรับและพิจารณาอย่างเปิดใจนี้ อาจกลายเป็นประตูสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจมุมมองของผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน และรู้เท่าทันนิสัยที่อาจเป็นพิษต่อคนรอบตัวได้มากขึ้นด้วย

หากยังไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองทบทวนความขัดแย้งหรือความสัมพันธ์ในอดีตดูก่อนว่า เราเคย “พูด” หรือ “กระทำ” อะไรลงไป? เรารู้สึกยังไงตอนนั้น? แล้วสิ่งที่ทำส่งผลต่ออีกฝ่ายแค่ไหน? ในทางกลับกัน สิ่งที่อีกฝ่ายทำส่งผลต่อเราอย่างไร? ค่อย ๆ ลิสต์พฤติกรรมและเหตุผลออกมาอย่างเป็นกลาง — แล้วดูว่าสิ่งใดบ้างที่อาจเข้าข่ายเป็นพิษต่อคนอื่น หรือแม้แต่กับตัวเราเอง

ถ้าเจอว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าจะต้องปรับ อย่าเพิ่งรู้สึกแย่ เพราะนั่นคือสัญญาณที่ดีว่าคุณกำลัง “ตื่นรู้” และพร้อมจะเปลี่ยนแปลง ลองค่อย ๆ ตั้งสติ กลับไปทบทวนอีกครั้ง ทำความเข้าใจเหตุการณ์ใหม่ในมุมที่หลากหลายขึ้น หรือหากยังรู้สึกหนักแน่นในความรู้สึกฝังใจ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ก็เป็นทางออกที่มีพลังไม่น้อยเลย

แต่อย่าลืมว่า “พิษ” ที่เราเผชิญในชีวิตประจำวันอาจไม่ได้มาจากความสัมพันธ์อย่างเดียว บางครั้งมันแฝงอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่บีบคั้น — เช่น ความรู้สึกว่าต้อง “ทำให้มากขึ้นเรื่อย ๆ” โดยไม่หยุดพัก หรือความรู้สึกผิดทุกครั้งที่หยุดพัก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ Toxic Productivity และนำไปสู่ ภาวะหมดไฟ หรือ Karoshi (ทำงานจนตาย) ได้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะ Toxic Productivity และ Karoshi ได้ที่นี่

แม้เส้นทางของการเยียวยาทั้งจิตใจและความสัมพันธ์จะไม่ง่ายนัก แต่การเข้าใจตัวเอง คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของความเปลี่ยนแปลง และสำหรับใครที่กำลังเผชิญสิ่งเหล่านี้อยู่ ไม่ว่าจะเหนื่อยล้าจากคนรอบข้าง หรือจากการงานที่โหมหนักจนใจอ่อนแรง
ประกันสุขภาพออนไลน์จาก Sunday ก็ขอเป็นแรงใจเล็ก ๆ ให้คุณค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเองทีละนิดในแบบที่ไม่กดดัน

ปรับทัศนคติ ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกวัน
ความคิดลบมองโลกแง่ร้าย แก้ด้วย 7 วิธีนี้!
ประกันสุขภาพซันเดย์

Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

สรุปสิทธิประกันสังคม วัยทำงานไม่มีประกันสุขภาพควรรู้

เมื่อเริ่มงานใหม่ หลายบริษัทมักมีข้อกำหนดให้พนักงานต้องผ่านช่วงทดลองงานก่อนถึงจะได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพ หรือ…
วัยทำงานไม่มีประกันสุขภาพควรรู้

รู้จักกับ Vacation Guilt ลางานแล้วรู้สึกผิด พร้อมวิธีปรับตัวแบบมือโปร

ลางานแล้วรู้สึกผิดเกิดจากอะไร ต้องปรับตัวอย่างไรดี? มีใครเป็นแบบนี้บ้าง? ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี…
0
Share