ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กระแส Work Life Balance (เวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์) ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้หลาย ๆ คนพบว่า Work Life Balance สามารถกลายเป็น Work ไร้ Balance ได้ง่าย ๆ ถ้าไม่มีแพลนในการจัดการเวลาและสังเกตความสุขของตัวเอง
สำหรับบางคน Work Life Balance ก็อาจจะไม่ใช่ทางออก เพราะสิ่งสำคัญในชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน วันนี้ซันเดย์เลยจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจกับคำว่า Work Life Balance ในมุมมองใหม่ ๆ พร้อมค้นหาความบาลานซ์ในแบบของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน
Work Life Balance คืออะไร?
Work Life Balance หมายถึงการใช้ชีวิตให้มีความสมดุลกันทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิต ช่วยทำให้ไม่เกิดอาการ Burnout จากการทำงาน โดยเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในวงกว้างทั่วโลก ทำให้คนวัยทำงานหันมาใส่ใจกับการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการเวลาระหว่างการทำงานและการพักผ่อน การดูแลสุขภาพไปพร้อม ๆ กับการทำงานที่มีประสิทธิภาพและอื่น ๆ อีกมากมาย
การเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance สามารถทำได้จากการไม่ทำงานเกินเวลา หาเวลาทำสิ่งที่ชอบ ไม่ตอบอีเมลในช่วงวันหยุด เมื่อถึงเวลาพักก็ต้องพักจริง ๆ รู้จักปฏิเสธเรื่องในที่ทำงานบ้างหากตารางงานของเราแน่นเกินไปแล้ว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลให้กับการใช้ชีวิต ให้ไม่เครียดกับเรื่องงานมากจนเกินไป และมีเวลาไปทำสิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
Work Life Balance ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดจริงหรือ?
ต้องบอกว่าการที่สามารถบริหารจัดการเวลาในชีวิตได้ถือว่าเป็นทักษะที่ควรมีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะมี Work Life Balance ในรูปแบบที่หลาย ๆ คนทำกัน เพราะความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น บางคนการทำงานให้ดีเลิศคือเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ ในขณะที่บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับครอบครัวมากกว่า และบางคนก็อาจจะมองว่าการมีเวลามากพอให้ได้ทำงานอดิเรกคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจได้ดีที่สุด
ทำให้หลักการดั้งเดิมของ Work Life Balance ที่แนะนำให้คนแบ่งเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตที่เท่ากัน อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนเสมอไป หลัง ๆ มาจึงมีคำว่า Work Life Harmony เข้ามาแทน ซึ่งอาจจะเหมาะกับสไตล์การใช้ชีวิตของคนบางกลุ่มมากกว่า
Work Life Harmony เพราะงานและชีวิต เป็นเรื่องเดียวกันได้
แนวคิด Work Life Harmony นี้จะแตกต่างจาก Work Life Balance ตรงที่เป็นแนวคิดที่มองว่าการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนั้นเป็นเรื่องเดียว ๆ กัน สามารถส่งเสริมกันให้แต่ละด้านดีขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แนวคิดนี้ก็ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเลยทีเดียว
ในขณะที่ Work Life Balance คือการทำงาน เลิกงาน แล้วใช้เวลาว่างในการทำสิ่งที่ชอบ แต่ Work Life Harmony กลับเป็นการทำงานและการใช้ชีวิตในแบบที่ชอบได้ในเวลาเดียวกัน เช่น บางคนเลือกที่จะ Work from Home เป็นจำนวน 3 วัน และเข้าออฟฟิศ 2 วัน ในวันที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศ เมื่อทำงานเสร็จแล้ว เขายังมีเวลาไปทำสิ่งอื่น ๆ ที่สนใจ เช่น การเข้าร่วมเวิร์คช็อป แล้วนำความรู้นั้นมาปรับใช้กับงานประจำที่ทำอยู่
อีกหนึ่งตัวอย่างคือนักออกแบบกราฟิกที่ทำงานแบบฟรีแลนซ์ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลก เขาจึงเลือกเดินทางไปด้วยและทำงานไปด้วย ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนที่พบเจอ แล้วสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับงานออกแบบได้ จะเห็นว่าการใช้ชีวิตของเขาคือการทำงานไปในตัว แต่เขายังคงมีความสุขกับการได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
อยากเริ่ม Work Life Harmony ต้องทำยังไง?
ซันเดย์ต้องบอกว่า Work Life Harmony ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องเริ่มต้นยังไง แต่ถ้าจะให้ง่ายที่สุดคือเริ่มมองหาว่าเรามีความสุขกับอะไรบ้าง แล้วสิ่งเหล่านั้นสามารถทำให้เราเก่งขึ้นในด้านอื่น ๆ ได้อย่างไรบ้าง เราจะสามารถใช้ชีวิตกับสิ่งที่ต้องรับผิดชอบและสิ่งที่ชอบไปด้วยกันได้อย่างไร
การมองหาจุดเชื่อมโยงระหว่างชีวิตส่วนตัว การทำงาน สิ่งที่ชอบและความสุขเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Work Life Harmony เช่น หากคุณเป็นนักการตลาดที่ชอบดูภาพยนตร์ ก็สามารถใช้เวลาในการสร้างโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ แล้วนำความรู้จากการทำการตลาดมาผสมผสานกับงานอดิเรกนี้ได้ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่คุณเรียนรู้จากการทำโซเชียลมีเดีย ก็สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้ด้วย สิ่งสำคัญคือ คุณมีความสุขในการได้ทำทั้งสองอย่าง และได้พัฒนาตัวเองไปได้พร้อม ๆ กัน
สุดท้ายแล้ว การปรับชีวิตให้เป็น Work Life Harmony ไม่มีสิ่งที่ผิดหรือถูก แต่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และปรับปรุงไลฟ์สไตล์ไปเรื่อย ๆ จนเจอกับสิ่งที่ชอบและใช่ ที่สามารถเติมเต็มและสร้างความสุขให้เราได้นั่นเอง
ทำไมต้อง Work Life Harmony?
Work Life Harmony มีข้อดีอยู่หลายอย่าง นอกจากความสุขที่ได้จากการทำงานและการใช้ชีวิตแล้ว ก็ยังช่วยทำให้อัตราการเกิด Burnout ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเราจะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ อีกสิ่งหนึ่งก็คือช่วยลดการเกิด Quiet Quitting ได้ดี
Quiet Quitting คือการที่พนักงานทำงานด้วยความไม่จริงจัง ถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีมหรือเป็นฝ่ายบุคคลแล้วกำลังเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ การนำแนวคิด Work Life Harmony มาใช้ในองค์กรก็อาจจะช่วยปรับปัญหานี้ให้ดีขึ้นได้ โดยอาจจะเริ่มจากการอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้เป็นบางวัน เพิ่มมุมพักผ่อนภายในออฟฟิศให้มากขึ้น หรือเพิ่มกิจกรรมที่สามารถทำให้พนักงานสนุกกับงานที่ทำมากขึ้นได้
นอกจากนี้อาจจะนำแนวคิด Work-Life Integration เข้ามาใช้ด้วยก็ได้ โดยเป็นการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของงานที่ออกมาดี มากกว่าจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการทำงาน เน้นที่ประสิทธิภาพนั่นเอง
โฟกัสที่ความสุข แล้วทุกอย่างจะ Balance เอง
สุดท้ายนี้ซันเดย์ก็ตอบให้ทุกคนไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วมันคือการทดลองนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง แล้วค่อย ๆ ปรับวิธีและแนวคิดเพื่อเจอสไตล์การใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ ถ้าอยากมีชีวิตที่ Balance ในทุก ๆ ด้าน การเลือกความสุขและความสบายใจของตัวเองก่อน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ตราบใดที่คุณเลือกสิ่งที่ทำให้มีความสุขแล้วไม่ไปกระทบกับความรับผิดชอบในส่วนอื่น ๆ ของชีวิต ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วล่ะ 😃