hero-image

ไปญี่ปุ่นตอนฝนตกได้ไม่หวั่น เที่ยวมันส์ได้แม้เจอมรสุม

“ใครๆ ก็ไปญี่ปุ่น” เพราะที่นี่คือประเทศยอดฮิตติดท๊อปเทรนด์ของคนไทยมาเนิ่นนาน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าอุปสรรคสำคัญของญี่ปุ่น ก็คือสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะใครที่อยากไปเที่ยวช่วงฤดูมรสุม (เดือน ก.ย.- ต.ค. ของแต่ละปี) โดยเฉพาะเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 ที่ชื่อว่า “ฮากีบิส” เข้ามาประชิดกับชายฝั่งญี่ปุ่นจนทำให้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเสียหายในบางพื้นที่รวมถึงทางรถไฟบางเส้นก็ถูกตัดขาด ส่งผลให้การเดินทางต้องหยุดชะงักเพราะเที่ยวบินยกเลิก รถไฟหยุดวิ่งทุกเส้นทาง

แม้ท้ายที่สุดแล้วพายุฮากีบิสจะผ่านไป โดยที่สร้างความเสียหายเอาไว้ไม่มาก (ยกเว้นในบางพื้นที่) แต่ก็เรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้นักท่องเที่ยวหลายๆ คนที่เล็งช่วงเวลาหยุดยาวหรือเตรียมใช้วันลาพักร้อนให้เต็มที่ในช่วงปลายปีให้เต็มที่ด้วยการไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ต้องพบกับความยากลำบากในการออกทริปไม่ใช่น้อย

ซึ่งในครั้งนี้นี่เองที่ ซันเดย์ จะมาแชร์เทคนิคในการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงฤดูมรสุม ว่าเราควรจะเตรียมตัวอย่างไร รวมถึงจะมีแนวทางไหนที่ทำให้ทริปของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นกัน

เช็กพยากรณ์อากาศ และติดตามประกาศของสายการบิน

ก่อนออกทริปเป็นเรื่องปกติที่ต้องหาข้อมูลเตรียมไว้ ซึ่งนอกจากจะหาข้อมูลที่เที่ยวก็ต้องอย่าลืมตรวจสอบข่าวสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเช็กรายงานสภาพอากาศก่อนออกเดินทางด้วยนะ โดยเฉพาะช่วงที่พายุฮากีบิสพัดเข้าชายฝั่งญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินที่ต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิก สายรถไฟที่ต้องหยุดวิ่ง หรือกระทั่งโรงแรมที่อาจไม่พร้อมให้บริการ

ซึ่งจุดสำคัญที่ต้องเน้นย้ำเลยก็คือ เราควรเช็กประกาศอย่างเป็นทางการบนหน้าเว็บไซต์ของสายการบินที่เราจองตั๋วเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ก็แนะนำให้โทรสอบถามได้เลย (แต่ช่วงเวลาที่วิกฤตินี่ก็โทรติดยากนิดนึง) เพื่อเมคชัวร์ว่าสายการบินของเราจะยังออกเดินทางตามกำหนดไหม หรือถูกเลื่อนไม่ก็ถูกยกเลิกด้วยเงื่อนไขอย่างไร หากจำเป็นจะต้องทำเรื่องขอคืนเงิน สามารถทำได้ด้วยด้วยวิธีไหนบ้าง

ติดต่อที่พักที่จองไว้ เพื่อคอนเฟิร์มว่าปลอดภัยก่อนออกเดินทาง

เมื่อเราเช็กจนมั่นใจในระดับหนึ่งแล้วว่า สายการบินที่เราซื้อตั๋วไว้จะไม่ถูกยกเลิกแน่ๆ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องเช็กให้ละเอียดก็คือ โรงแรมหรือที่พักของเราในญี่ปุ่นนั้นจะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นถึงเราเดินทางไปถึงที่หมายสำเร็จ แต่ถ้าโรงแรมปิดทำการก็อาจต้องรอนแรมหาโรงแรมอย่างยากลำบากกลางทริปได้เลยทีเดียว

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้าอย่างเราจะสามารถติดต่อไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงแรมได้โดยตรงผ่านอีเมล์ ส่วนการโทรศัพท์นั้นก็สามารถทำได้หากมั่นใจว่าทางโรงแรมมีพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้คอยให้บริการอยู่ ซึ่งมักจะมีในโรงแรมใหญ่ๆ ที่แขกต่างประเทศเข้าพักเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นโรงแรมขนาดเล็ก (โดยเฉพาะเรียวกังที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมากๆ) อาจจะต้องลองติดต่อไปดูก่อน

แต่อย่างไรก็ดีถ้าเราไม่แน่ใจในเรื่องของการพูดคุยติดต่อกับที่พักโดยตรง แนะนำให้มองหาศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (Tourist Information Center) ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะมีทั้งหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเดินทางอย่าง JR Information Center ซึ่งตั้งอยู่ตามสถานีใหญ่ๆ หรือจะเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเรื่องการท่องเที่ยวโดยตรงอย่าง Asakusa Tourist Information Center ที่ตั้งอยู่กลางย่านท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองโตเกียว พวกเขาก็พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงมีพนักงานคนไทยคอยให้บริการ ช่วยค้นหาเส้นทาง ติดต่อประสานงานกับทางโรงแรมได้อย่างราบรื่นอีกด้วย

วางแผนเที่ยวให้เหมาะกับสภาพอากาศ ถ้าไม่อยากสมบุกสมบัน

สำหรับนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมที่ญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ซันเดย์อยากจะแนะนำว่าให้เช็กสภาพอากาศให้ดี เพราะการเดินเท้าท่องเที่ยวธรรมชาติในวันที่ฝนตกนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ลำบากเอาการ โดยเฉพาะการปีนบันไดหรือการขึ้นลงทางชันก็อาจเกิดการลื่นไถลได้ง่ายจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือหากใครที่จองรถรางและกระเช้าเอาไว้ก็อาจจะไม่ได้นั่งชิลดั่งใจเพราะฝนตกใส่ตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าฝนที่ตกในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นละอองฝนขนาดเล็ก แต่ถ้าต้องเดินเที่ยวท่ามกลางสายฝนแบบนี้ไปนานๆ ก็ทำให้หมดสนุกไปได้มากเหมือนกัน เพราะไหนจะต้องพกร่มหรือเสื้อกันฝนที่พะรุงพะรัง ไหนจะต้องมาระวังเรื่องอุปกรณ์กล้องถ่ายรูปเปียกชื้น ยังไม่รวมถึงเรื่องของสุขภาพร่างกายที่ฝนปรอยๆ แบบนี้อาจทำให้เราป่วยได้อีกต่างหาก

ดังนั้นทางที่ดี เราควรวางแผนเที่ยวธรรมชาติในช่วงเวลาที่พยากรณ์อากาศแจ่มใสจะเป็นการดีที่สุด หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็แนะนำให้เปลี่ยนแผนไปสถานที่ท่องเที่ยวในร่มอย่างพิพิธภัณฑ์ธีมปาร์ค หรือแหล่งช้อปปิ้งในร่มต่างๆ ทดแทน

เตรียมอุปกรณ์กันฝนไว้ให้พร้อม

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าสภาพอากาศของญี่ปุ่นในช่วงฤดูมรสุมนั้นแปรปรวนได้เสมอ เราจึงควรเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ไปให้พร้อม เผื่อจะต้องรับมือกับฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ทันตั้งตัว

ร่มแบบใสขนาดเล็ก

เพราะฝนที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ได้ตกมาหาเราตรงๆ แต่มักจะเป็นการสาดมาจากทิศทางลมด้านข้างเสียมากกว่า ดังนั้นจะมีบางครั้งที่เราจะต้องใช้ร่มมากันฝนสาดใส่หน้า ซึ่งร่มแบบใสจะช่วยปกป้องเราจากละอองฝนได้ โดยที่ยังสามารถมองเห็นทางเดินข้างหน้าได้พร้อมกัน

รองเท้าที่กันน้ำกันฝนได้

ถึงจะเป็นคนรักสนีกเกอร์แค่ไหน แต่ก็แนะนำให้พกรองเท้าที่ทำจากวัสดุยางหรือหนังที่สามารถกันน้ำได้ติดกระเป๋าไปอีกคู่จะดีกว่า เพราะการใช้รองเท้าผ้าใบในช่วงเวลาที่ฝนตกอาจจะทำให้ตัวรองเท้าเปียกชื้นเดินไม่สบายเท้า หรือหากต้องเจอน้ำท่วมฉับพลันจะได้มีอีกคู่เอาไว้เปลี่ยนได้ตอนฉุกเฉิน

กระเป๋าสะพายแบบกันน้ำ

คงไม่ดีแน่ถ้าเราต้องแบกเป้ลุยฝนจนเปียกชุ่มโดยไม่สนใจของที่ติดตัวมา ยิ่งตากล้องทั้งหลายที่ต้องพกเลนส์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัวตลอดเวลา แนะนำให้มองหากระเป๋าเป้ที่สามารถกันน้ำกันฝนสำหรับการเดินทางเอาไว้ใช้งาน ไม่อย่างนั้นถ้าฝนตกจนน้ำซึมเข้ากระเป๋าไปโดนอุปกรณ์เหล่านี้จนเสียหายต้องน้ำตาตกในแน่ๆ

ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ไหน ก็ต้องเตรียมแผนเอาไว้รับมือเสมอ

ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตข้างหน้านั้นจะเกิดอะไรขึ้น หากพอจะคาดการณ์ได้ว่าการเดินทางครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้พาตัวเราไปเจอกับเหตุไม่คาดฝันแล้วล่ะก็ ก่อนอื่นเลยก็อยากจะให้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นก่อนว่าร้ายแรงเพียงใด จากนั้นให้สติเอาไว้ไม่ตื่นตูม เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นนั้นมักจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติค่อนข้างบ่อย อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตที่ได้ประสิทธิภาพ จึงมักจะมีมาตรการเตรียมพร้อมเอาไว้รับมือครบครัน เราเพียงแต่ปฏิบัติตามแนวทางที่ได้รับแจ้งมาก็เพียงพอ

ซึ่งหากเป็นเรื่องของลมพายุก็มักจะเป็นการหลีกเลี่ยงการออกจากเคหะสถานในช่วงเวลาที่พายุผัดผ่าน ตรวจสอบความแข็งแรงของประตูและหน้าต่าง เตรียมสำรองน้ำดื่ม อาหารแห้ง และแบตเตอรี่ให้เพียงพอ ระวังสิ่งของด้านนอกบ้านหรือระเบียงที่อาจปลิวจากลมกระโชกแรงซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ และเตรียมตัวเคลื่อนย้ายหากมีประกาศอพยพของทางการญี่ปุ่นตลอดเวลา

ประกันเดินทางเรื่องสำคัญ ช่วยเราได้เมื่อเจอเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้

หนึ่งในสิ่งจำเป็นที่ห้ามมองข้ามไม่ว่าจะออกทริปไปประเทศไหนก็ตาม นั่นก็คือเราควรต้องทำ “ประกันการเดินทาง” เตรียมเอาไว้อยู่เสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ยิ่งเป็นการทำประกันเดินทางเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่ต้องเจอภัยพิบัติแบบฮากิบิส จนเที่ยวบินต้องดีเลย์หรือยกเลิกเราก็ยังจะพอได้รับค่าทดแทนได้บ้าง ที่สำคัญก็คือหากเราเจอเหตุไม่คาดฝัน ต้องเข้าโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นขึ้นมา ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้อีกต่อไป

และการเลือกประกันการเดินทางที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับแพ๊คเกจประกันที่ราคาสูง จนไปเบียดเบียนงบเที่ยวของเรา โดยเฉพาะ “ประกันการเดินทางของซันเดย์” ที่เพียงแค่เลือกซื้อแผนประกันระดับเริ่มต้นในราคาไม่ถึงร้อยบาทต่อคน เราก็จะได้รับความคุ้มครองครอบคลุมสิ่งจำเป็นต่างๆ ตั้งแต่กระเป๋าหาย ไฟลท์ดีเลย์ เจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล รวมถึงเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เราต้องยกเลิกการเดินทางได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงฤดูมรสุมนั้น อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากมายอะไร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีตัวช่วยให้นักท่องเที่ยวมากมาย หากมีรถไฟสายไหนที่ต้องปิดให้บริการก็จะอัพเดทให้นักท่องเที่ยวได้ทราบอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ต้องห่วงว่าเราจะต้องเดินทางไปพบกับอันตรายโดยไม่คาดฝัน ยิ่งถ้าเรามีการติดตามข่าวสารข้อมูลที่อัพเดทอยู่เสมอ รวมถึงเตรียมตัวพร้อมรับมือเอาไว้ก่อนล่ะก็ ไม่ว่าจะเป็นทริปไหนก็สามารถท่องเที่ยวได้อย่างอุ่นใจแน่นอน