ด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนแท่นชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย ผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจึงควรให้ความสำคัญกับ ‘มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า’ ที่บ่งบอกถึงระยะทางในการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละค่าย
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อยว่า ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละค่ายถึงมีหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่มาตรฐาน NEDC กับ WLTP ไปจนถึงมาตรฐาน CLTC และ EPA ที่มีหลักและตัวแปรในการคำนวณที่แตกต่างกัน
แล้วมาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าควรพิจารณาจากหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าตัวไหน มาหาคำตอบในบทความนี้กัน!
เข้าใจ ‘มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า’ กันก่อน
นอกจากราคารถยนต์ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับการซ่อมบำรุงในอนาคตแล้ว การตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ยังต้องพิจารณาให้ละเอียดด้วยว่า รถยนต์คันใหม่นี้จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้ออย่างเรา ๆ ได้อย่างไร
สำหรับผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า การพิจารณาถึง ‘ระยะทางการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า’ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน
โดยไม่เพียงแต่จะมีจุดให้บริการที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทยเท่านั้น แต่การชาร์จไฟให้กับรถยนต์แต่ละครั้งยังใช้เวลาที่นาน ทำให้เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องวางแผนการเดินทางให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินอย่าง ‘รถยนต์ไฟฟ้าแบตหมด’ ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การเลือกรถยนต์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์และการใช้งานมากที่สุด จึงควรพิจารณาถึง ‘ระยะทางการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า’ ที่วัดได้จาก ‘มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นตัวเลขบ่งบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นนั้นสามารถขับขี่ได้ไกลมากที่สุดแค่ไหน ต่อการชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง
รู้จัก 4 หน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เชื่อหลายคนคงสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะค่ายรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละแห่งกลับใช้มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เหมือนกัน มิหนำซ้ำในแต่ละประเทศยังมีการใช้หน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่แตกต่างกันด้วย
โดยในปัจจุบันนี้ หน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นจะมีด้วยกัน 4 หน่วยหลัก ซึ่งจะมีการใช้ตัวแปรและหลักในการคำนวณที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. มาตรฐาน NEDC
มาตรฐาน New European Driving Cycle หรือ NEDC เป็นมาตรฐานวัดระยะทางรถยนต์สำหรับใช้ในเมืองและชานเมือง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้ในยุโรปช่วงยุค 80 – 90 แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกการใช้งานไปแล้ว เนื่องจากมีความแม่นยำที่น้อยกว่ามาตรฐานอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางแห่งยังมีการใช้มาตรฐาน NEDC เป็นหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ เช่น ค่ายรถยนต์ NETA และ GWM รวมถึงค่ายรถยนต์ MG ด้วย
2. มาตรฐาน CLTC
มาตรฐาน CLTC หรือ China Light-Duty Vehicle Test Cycle เป็นมาตรฐานการทดสอบรถยนต์จากประเทศจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว มาตรฐาน CLTC มักจะมีค่าที่สูงกว่ามาตรฐานอื่น ๆ เนื่องจากจะเน้นไปที่การทดสอบรถยนต์ที่ความเร็วต่ำ กลาง สูง เป็นเวลา 30 นาที ในระยะทาง 14.5 กิโลเมตร แต่จะมีการจำกัดความเร็วในการทดสอบสูงสุดอยู่ที่ 114 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในปัจจุบันนี้ มาตรฐาน CLTC จะนิยมใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศจีน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า TESLA ที่จำหน่ายในประเทศจีนเองก็ใช้มาตรฐาน CLTC ด้วยเช่นกัน
3. มาตรฐาน WLTP
มาตรฐาน WLTP หรือ Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure เป็นมาตรฐานใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใช้แทนที่มาตรฐาน NEDC โดยการทดลองมาตรฐาน WLTP จะมีความโดดเด่นในเรื่องของความแม่นยำและสมจริงในการทดสอบ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีค่ายรถยนต์ชั้นนำเลือกใช้มาตรฐาน WLTP หลายค่าย ทั้ง Mercedes Benz, BMW, Porsche รวมไปถึง Volvo และ Audi
มาตรฐาน WLTP จะมีการทดสอบหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่การตอบสนองต่ออัตราสิ้นเปลืองไฟในสภาวะการจราจร การทดสอบการเบรกหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงการเพิ่มตัวแปรในการใช้งานรถยนต์ในชีวิตจริง อย่างการเปิดเครื่องปรับอากาศ การบรรทุกของในน้ำหนักต่าง ๆ การเร่งแซงในแต่ละจังหวะ รวมไปถึงการทดสอบด้วยความเร็วรถยนต์ตั้งแต่ 47 – 132 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ดี มาตรฐาน WLTP นั้นจะทำการทดสอบให้บริเวณที่มีการควบคุมอุณหภูมิโดยเฉพาะ ทำให้ค่าอัตราการสิ้นเปลืองที่วัดได้จากมาตรฐาน WLTP มักจะไม่เท่ากับค่าอัตราสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้นจริง
4. มาตรฐาน EPA
มาตรฐาน EPA หรือ U.S Environmental Protection Agency เป็นมาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความแม่นยำมากที่สุดในปัจจุบัน
มาตรฐาน EPA จะการทดสอบโดยการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาชาร์จไฟให้เต็ม จากนั้นจอดทิ้งไว้ 1 คืน แล้วค่อยเริ่มการทดสอบตามมาตรฐานของ EPA ตั้งแต่การนำรถยนต์ไฟฟ้าทดสอบที่เครื่อง Dynamometer เพื่อวัดสมรรถนะรถยนต์ก่อน จากนั้นจึงนำไปขับในเส้นทางจริง ทั้งบนทางด่วน ในเมือง ทางหลวง รวมถึงถนนสายต่าง ๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด และ
เมื่อได้ระยะทางการขับขี่ทั้งหมดมาแล้ว ก็จะทำการคูณด้วยตัวเลข 0.7 เพื่อหาระยะทางที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้จริง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาสรุปผลการทดสอบ ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบรถยนต์ที่เทียบเท่ากับการใช้งานจริงมากที่สุดมาตรฐานถึงเลยก็ว่าได้
มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ในปัจจุบันนี้ มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นมาตรฐาน NEDC กับ WLTP ตามมาตรฐานยุโรป อย่างไรก็ดี มาตรฐาน WLTP นั้นจะมีค่าที่สูงกว่ามาตรฐาน EPA อยู่ที่ 11% โดยประมาณ ดังนั้น หากต้องการเปรียบเทียบหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าแบบคร่าว ๆ แล้วก็สามารถคำนวณเบื้องต้นได้
อย่างไรก็ดี ทั้ง 4 มาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าข้างต้นนั้นเป็นเพียงมาตรฐานที่ใช้พิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากระยะทางการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายังขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แต่ง ผู้โดยสาร สภาพการจราจร อุณหภูมิของสภาพแวดล้อม ไปจนถึงลักษณะการใช้งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ดังนั้น ขอแนะนำให้ลองทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าด้วยตัวเองในเส้นทางการใช้งานในชีวิตประจำวันดูก่อน จากนั้นให้ลองสังเกตถึงระยะทางการใช้งานและอัตราการสิ้นเปลืองจริงต่อไป
เพียงเท่านี้ ผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็มีพื้นฐานในการพิจารณามาตรฐานระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย แต่นอกจากจะพิจารณาถึงการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว อย่าลืมพิจารณาถึงประกันรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
เลือกประกันรถยนต์ไฟฟ้า Sunday หนึ่งเดียวที่คุณสามารถออกแบบความคุ้มครองที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ด้วยตัวเอง มาคำนวณเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อวางแผนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องกรอกข้อมูลติดต่อ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิดผู้ขับขี่’ และ ‘รหัสไปรษณีย์ที่อยู่ปัจจุบัน’ เท่านั้น