การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ต้องศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไหล่ชิ้นสำคัญอย่าง ‘แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่ไม่เพียงแต่จะมีราคาสูงที่สุดในบรรดาอะไหล่ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนทั้งในเรื่องของความจุและอายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเอง
สำหรับใครที่กำลังวางแผนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ มาดูทุกเรื่องเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่นำมาฝากในบทความนี้ เพื่อช่วยให้ทุกคนเลือกประเภทของแบตเตอรี่ รวมไปถึงวิธีการดูแลรักษาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสมกัน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท?
แม้รถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีใช้ ‘แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน’ ในการกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในการขับเคลื่อน แต่สำหรับโลกยนตรกรรมแล้ว แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีด้วยกันถึง 7 ประเภทที่นอกจากจะมีหลักการทำงานที่แตกต่างกันแล้ว แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละแบบยังมีราคาไม่เท่ากัน ทั้งยังมีข้อจำกัดและการดูแลรักษาที่แตกต่างกันด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณา 7 ประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างละเอียดจะพบว่า ‘แบตเตอรี่แบบนิเกิล-แคดเมียม’ นั้นถือเป็นแบตเตอรี่ที่มีความเป็นพิษและเสี่ยงที่สารแคดเมียมจะรั่วไหลในระหว่างผลิต ด้วยเหตุนี้ แบตเตอรี่ดังกล่าวจึงกลายเป็นแบตเตอรี่ต้องห้ามและไม่ได้มีการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน
ในทางตรงกันข้าม ‘แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน’ และ ‘แบตเตอรี่โซลิดสเตต’ จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงของการทดลองและพัฒนาคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในอนาคตอาจได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ทั้งสองประเภทนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ แม้จะทดลองนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดอย่าง Lamborghini Sián FKP 37 และ Lamborghini Aventador แต่ ‘แบตเตอรี่แบบตัวเก็บประจุไฟฟ้า’ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความเสถียรในการจ่ายกระแสไฟ การเก็บประจุ และความซับซ้อนในการผลิต จึงทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปมากนัก
ดังนั้น จากรายละเอียดข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันจะมีเพียงแค่ 3 ประเภทหลักเท่านั้น โดย ‘ซันเดย์’ ขออธิบายรายละเอียดของแบตเตอรี่แต่ละประเภทตามลำดับความนิยมในปัจจุบัน ดังนี้
1. แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน
‘ลิเธียมไอออน’ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 90 ทำให้มีความเสถียรในการใช้งาน ทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่จะเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก รอบชาร์จสูง และสามารถนำกลับใช้ซ้ำได้เท่านั้น แต่อายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแบบลิเธียมไอออนยังมีมากกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ ทั้งยังมีรองรับนวัตกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Fast Charge ทั้งยังไม่ก่อให้เกิด Memory Effect หรือ ภาวะที่แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานลดลงอันเนื่องมาจากการชาร์จไฟไม่เต็ม 100%
อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะต้องรักษาอุณหภูมิของแบตเตอรี่ให้สมดุล เนื่องจากอุณหภูมิของตัวแบตเตอรี่จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานโดยตรง ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะระเบิด หรือ ลุกไหม้ได้ หากไม่ได้มีการติดตั้ง หรือ ดูแลรักษาระบบหล่อเย็น (Liquid Cooling) ให้อยู่ในสภาพปกติ
ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้า:
- ORA Good Cat
- Neta V
- TESLA ยกเว้น TESLA Model 3
- MG
- BMW i3 i4 iX และ iX3
- Audi e-tron
Sunday Tips! รู้ไว้ใช่ว่า! ทางค่ายรถยนต์ BYD ได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ Blade Battery ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟสที่มีความปลอดภัยสูงและติดไฟยาก แม้จะได้รับความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงก็ตาม ทั้งยังสามารถชาร์จได้ไวและทนทานต่อการใช้งาน นอกจาก BYD แล้ว ในอนาคตอาจได้เห็นการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าลิเธียมไอออนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน |
2. แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด
ก่อนที่จะกลายมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในโลกยนตรกรรมเองก็ได้มีการพัฒนารถยนต์ไฮบริดที่สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและน้ำมันเช่นกัน โดย ‘แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด’ คือหนึ่งในหัวใจหลักของรถยนต์ไฮบริดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แบตเตอรี่ตะกั่วกรดทำหน้าที่ในการจุดสตาร์ทเครื่องยนต์ ทั้งยังเป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบการทำงานทั้งหมดในรถยนต์ นอกจากนี้ แบตเตอรี่ตะกั่วกรดยังเป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มอเตอร์ขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านอายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และประสิทธิภาพในการทำงานในระยะยาว ในปัจจุบันนี้ ‘แบตเตอรี่ตะกั่วกรด’ จึงกลายมาเป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแทน
ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้า:
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบ HEV และ PHEV
- TESLA Model 3 ใช้เป็นตัวจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบ Infotainment หรือระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการแสดงผลข้อมูลและความบันเทิงภายในรถยนต์
3. แบตเตอรี่แบบนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
แบตเตอรี่แบบนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ เป็นแบตเตอรี่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ‘แบตเตอรี่ตะกั่วกรด’ ในรถยนต์ไฮบริดในเรื่องของอายุการใช้งาน ทั้งยังตอบโจทย์ด้านความทนทานในการใช้งานในสภาวะอากาศที่หลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้จะแก้ปัญหาของ ‘แบตเตอรี่ตะกั่วกรด’ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แต่แบตเตอรี่แบบนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์กลับมีความจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่น้อยกว่าแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน ทั้งยังมีการคายประจุที่สูงแม้จะไม่ได้ใช้งาน หรือ จอดรถยนต์เอาไว้เฉย ๆ ทำให้เจ้าของรถยนต์จะต้องหมั่นสังเกตระดับแบตเตอรี่และวางแผนการเดินทางให้มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้า:
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดจากค่าย Honda และ Toyota เช่น Honda Accord Hybrid และ Toyota Camry Hybrid
ทำไมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูง?
หลายคนเข้าใจว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาถูกลงในอนาคต เนื่องจากมีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะประเมินราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้จำเป็นต้องเข้าใจถึง ‘ต้นทุน’ ในการทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก่อน
หลัก ๆ แล้ว ‘ต้นทุน’ การทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าขึ้นอยู่ ‘แร่ธาตุ’ ที่นำมาใช้ รวมเข้า ‘ส่วนประกอบ’ ในการทำแบตเตอรี่ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ต้นทุนด้านแร่ธาตุที่นำมาทำแบตเตอรี่อย่างลิเธียม นิเกล และโคบอลต์กลับมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิหนำซ้ำหากยิ่งทำเหมืองขุดแร่ธาตุมากขึ้น แต่ไม่มีนวัตกรรมการผลิตขึ้นมาแทนที่ นานวันเข้าปริมาณแร่ธาตุก็จะลดลงและหายากขึ้น ส่งผลให้การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นตาม
อย่างไรก็ดี นอกจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในอนาคตอาจมีการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่น้อยลง แต่มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งาน ความปลอดภัย และการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น หากสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ อย่าลืมติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ทั้งในด้านของนวัตกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตด้วย
3 เคล็ดลับยืดอายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนยังไม่รู้!
แม้จะเป็นอะไหล่ที่มีราคาสูง แต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานได้นานถึง 10 – 20 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและการใช้งานที่ถูกต้อง สำหรับใครที่อยากยืดอายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองมาดู 3 เคล็ดลับง่าย ๆ ที่นำมาฝากดังนี้
1. ชาร์จแบตเตอรี่อย่างเหมาะสม
การชาร์จแบตเตอรี่แช่เอาไว้เป็นเวลานาน หรือ การปล่อยแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% บ่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงที่แบตเตอรี่จะเสื่อมคุณภาพและเก็บไฟฟ้าได้น้อยลง ดังนั้น ควรชาร์จแบตเตอรี่อย่างเหมาะสม ไม่แช่ 100% หรือปล่อยให้แบตเตอรี่น้อยกว่า 20% บ่อย ๆ หากไม่จำเป็น
2. หลีกเลี่ยงการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง หากไม่จำเป็น
การชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง หรือ การชาร์จแบบ DC แม้จะช่วยให้แบตเตอรี่เต็มไวขึ้น แต่ไฟฟ้าปริมาณมหาศาลที่ไหลเข้าสู่แบตเตอรี่ในเวลาอันรวดเร็วสามารถทำให้เกิดความเครียดและความร้อนสะสมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสั้นลงเช่นกัน
3. ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะสม และ ไม่จอดตากแดดบ่อย
การจอดรถยนต์ตากแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความร้อนโดยตรง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เซลล์ในแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพไวและมีอายุการใช้งานที่น้อยลง
นอกจากนี้ การชาร์จไฟฟ้าในบริเวณที่มีอุณหภูมิไม่สูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ตลอดจนมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ไม่ขับเร็วจนทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเกินกำลัง หรือ นำไปใช้งานในบริเวณที่ต้องใช้กำลังรถยนต์สูงเกินกว่าปกติ ก็เพิ่มความเสี่ยงที่อายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะสั้นลงเช่นกัน
เท่านี้ผู้ที่สนใจและเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าก็เข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท ราคาเท่าไร ตลอดจนทราบถึงอายุการใช้งานและความจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังว่ารายละเอียดทั้งหมดที่นำมาฝากนี้จะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมและตอบโจทย์ตัวเองได้มากที่สุด
ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าตามรอบการใช้งานเท่านั้น แต่การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้ายังมีค่าใช้จ่ายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมแซมจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจ
เลือกบริหารความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายของการดูแลรถยนต์ไฟฟ้าหลังจากเหตุไม่คาดฝันด้วยประกันรถยนต์ไฟฟ้าจาก Sunday ตั้งแต่วันนี้ ทดลองสร้างแผนประกันรถยนต์ไฟฟ้าฟรี ปรับความคุ้มครองได้ตามใจเพื่อเลือกเบี้ยประกันรถยนต์ที่เหมาะสมกับตัวเองได้ทันที