แม้จะมีการปรับลดราคาลง ตลอดจนมีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงเป็นกังวลถึง “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า” ซึ่งเป็นอะไหล่ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในรถยนต์ คิดเป็น 80%–90% ของมูลค่าทั้งคัน ที่ส่งผลโดยตรงต่อเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
แล้วบริษัทประกันจะคุ้มครองแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าอย่างไร มีเงื่อนไขใดที่ผู้เอาประกันควรทราบ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจทำประกันรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มาไขทุกข้อสงสัยในบทความนี้กัน

เงื่อนไขความคุ้มครองแบตเตอรี่รถไฟฟ้าเบื้องต้น
ตามเงื่อนไขประกันรถไฟฟ้าที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ สำนักงานคปภ. ได้มีข้อกำหนดให้ประกันจะคุ้มครองแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าตามอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ พร้อมพิจารณาร่วมกับความคุ้มครองและการชดใช้สินไหมที่เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์
โดยเบื้องต้นแล้ว ประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะให้ความคุ้มครองแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งานตามรายละเอียด ดังนี้
อายุการใช้งานแบตเตอรี่ | ความคุ้มครอง |
ไม่เกิน 1 ปี | 100% |
ไม่เกิน 2 ปี | 90% |
ไม่เกิน 3 ปี | 80% |
ไม่เกิน 4 ปี | 70% |
ไม่เกิน 5 ปี | 60% |
มากกว่า 5 ปีขึ้นไป | 50% |
*กรรมสิทธิ์ของซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นของผู้เอาประกันภัยและบริษัทตามสัดส่วนเดียวกับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่
**กรณีที่มีการตกลงให้มีการจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกเปลี่ยนให้บริษัทดำเนินการจำหน่ายและจัดสรรจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามสัดส่วนข้างต้น
ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ผู้เอาประกันควรทำอย่างไร?
สิทธิการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่ต้องรู้
เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้สิทธิ 2 แบบ
- ปรับเพิ่มทุนประกันภัย ตามมูลค่าของรถและแบตเตอรี่ลูกใหม่ โดยต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มตามทุนที่ปรับขึ้น บริษัทจะออกเอกสารแนบท้ายเพื่อยืนยันการปรับเปลี่ยนทุนประกัน
- ไม่ปรับเพิ่มทุนประกันภัย แม้จะมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ โดยความคุ้มครองจะยังอ้างอิงตามทุนประกันเดิมและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก่อนเปลี่ยน ตามตารางการชดเชยที่กำหนดไว้
หลังจากเลือกสิทธิที่ต้องการแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งการใช้สิทธิให้บริษัททราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากบริษัท หากเกินกว่า 30 วัน จะถือว่าผู้เอาประกันเลือกไม่ปรับเพิ่มทุนประกันภัย
บริษัทประกันรถยนต์ไฟฟ้า ต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันทราบใน 7 วัน ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และ บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์
กรณีการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้า
ผู้เอาประกันสามารถเลือกเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้า ได้เป็น 2 กรณีหลัก ดังนี้
1. กรณีให้บริษัทเป็นผู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ใหม่
กรณีที่ 1: ผู้เอาประกัน ยินยอมเพิ่มทุนประกัน
- ผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มเติม
- บริษัทจะออก เอกสารแนบท้าย (ร.ย.ฟ.08) เพื่อเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัย
- หากเกิดอุบัติเหตุในช่วง 30 วันหลังเปลี่ยนแบตเตอรี่ บริษัทจะคุ้มครองในระดับเดียวกับปีแรก แม้ยังไม่ชำระเบี้ยเพิ่ม
กรณีที่ 2: ผู้เอาประกัน ไม่ยินยอมหรือไม่แจ้งความประสงค์
- บริษัทจะให้ความคุ้มครอง ตามทุนประกันเดิม และตามอายุของแบตเตอรี่เดิม
- ไม่มีการเพิ่มทุน และจะไม่ใช้เอกสารแนบท้าย (ร.ย.ฟ.06) เพื่อการชดเชย
2. กรณีผู้เอาประกันเป็นผู้เปลี่ยนแบตเตอรี่เอง
กรณีที่ 1: ผู้เอาประกัน แจ้งขอเพิ่มทุนประกัน
- ต้องแจ้งความประสงค์ต่อบริษัท และชำระเบี้ยเพิ่ม ก่อนเกิดความเสียหาย
- บริษัทจะออก เอกสารแนบท้าย (ร.ย.ฟ.08) เพื่อเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัย
กรณีที่ 2: ผู้เอาประกัน ไม่แจ้งหรือไม่ชำระเบี้ยเพิ่ม
- บริษัทจะให้ความคุ้มครอง ตามทุนประกันเดิม และตามอายุแบตเตอรี่ก่อนเปลี่ยน
- ค่าชดเชยจะเป็นไปตาม ตารางอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่

แบตเตอรี่รถไฟฟ้าเสียหาย ประกันรถยนต์ไฟฟ้าคุ้มครองอย่างไร?
หากรถยนต์ไฟฟ้าของผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุ หรือ ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าใหม่ บริษัทประกันภัยจะมีการพิจารณาอนุมัติเคลมที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
ในส่วนผู้เอาประกัน
หากต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าใหม่ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์แล้ว กรรมสิทธิ์ของซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นของผู้เอาประกันภัยและบริษัท ตามสัดส่วนเดียวกับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่
กล่าวคือ หากมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าใหม่ ผู้เอาประกันก็จะได้สิทธิประโยชน์ เมื่อมีการออกค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ เช่น หากใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าปีที่ 2 แล้วเกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความคุ้มครองที่ 90%
เท่ากับว่า เมื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าลูกใหม่ ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายอีก 10% ที่เหลือ ซึ่งเมื่อบริษัทประกันภัยนำแบตเตอรี่ไปขายต่อและได้เงินมา ผู้เอาประกันจะได้รับเงิน 10% ที่ออกไปก่อนหน้า
ในส่วนบริษัทประกันรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้เอาประกันภัยที่รถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สามารถซื้อความคุ้มครองการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เพิ่มได้
แต่หลังจากบริษัทประกันภัยมีการจ่ายชดใช้ค่าความเสียหายเนื่องจากต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เรียบร้อยแล้ว สำนักงานคปภ. ระบุเงื่อนไขให้ซากแบตเตอรี่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทประกันภัยแทน
โดยหลังจากการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าใหม่แล้ว ผู้เอาประกันสามารถขอปรับทุนประกันตามมูลค่าแบตเตอรี่ใหม่ได้ ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามเรื่องทุนประกันใหม่กับบริษัทประกันรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันที โดยการพิจารณาจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
กรณีไหนที่อาจต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้า?
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอะไหล่ชิ้นสำคัญที่มีมูลค่าสูงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า โดยการตัดสินใจเปลี่ยนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับความเสียหายและมาตรฐานความปลอดภัยที่บริษัทรถยนต์แต่ละแห่งกำหนด
เช่น รถยนต์ไฟฟ้าบางค่ายอาจมีการกำหนดระดับความเสียหายของแบตเตอรี่รถไฟฟ้า รวมถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่ทำให้โครงสร้างแบตเตอรี่เสียหาย รั่ว หรือ บิดเบี้ยว
ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าบางค่ายอาจมีกำหนดลักษณะความเสียหายที่ส่งผลต่อการใช้งาน และจำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ เช่น เหตุไฟไหม้ หรือ ไฟลัดวงจร ส่งผลให้เกิดความร้อน หรือ แรงดันไฟฟ้าที่ผิดปกติ และทำให้ไม่สามารถใช้งานต่อได้ หรือ ความเสียหายต่อกรณีน้ำท่วม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่คุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในกรณีที่เกิดจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งานปกติ ความเสียหายจากการใช้ผิดวิธีและการประมาท เช่น ชาร์จผิดประเภท หรือ เป็นไปตามที่บริษัทประกันรถยนต์ไฟฟ้ากำหนด
ลุยน้ำท่วม ฝนตกหนัก เครื่องยนต์รถยนต์ไฟฟ้า EV จะมีปัญหาไหม?

เหตุผลที่เบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป

หากใครมีข้อสงสัย หรือ คำถามเกี่ยวกับความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์มาสอบถามได้ที่ @easysunday
สำหรับใครที่กำลังมองหาประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ “คุณ” สามารถออกแบบความคุ้มครองเองได้ สามารถเข้ามาเช็กเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้ากับซันเดย์ได้บนเว็บไซต์ได้ง่ายๆ แค่ 3 ขั้นตอน
- เลือกรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า
- กรอก “วันเดือนปีเกิด”
- กรอก “รหัสไปรษณีย์ที่อยู่ปัจจุบัน
แค่นี้ก็เช็กเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ได้แล้ว ไม่ต้องกรอกข้อมูลติดต่อให้ซับซ้อน!
