หน้าหลัก เรื่องราวการงาน 7 เทคนิคเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน เพิ่มโอกาสได้งานที่หวังไว้!

7 เทคนิคเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน เพิ่มโอกาสได้งานที่หวังไว้!

how to interview

สัมภาษณ์งานมาหลายที่ก็ยังถูกเลือกให้เป็นผู้ที่ผิดหวัง แต่รอบนี้ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไป สำหรับใครที่ฝ่าฟันรอบแบบทดสอบจนมาถึงรอบการสัมภาษณ์งานแล้ว แต่ยังรู้สึกกลัวว่าจะมาตกม้าตายในรอบนี้ ลองมาดู 7 เทคนิคเตรียมสัมภาษณ์งานที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์ราบรื่น สร้างความประทับใจ แถมไม่มาย้อนทำร้ายตัวเองหลังได้งานไปแล้ว

เทคนิคเตรียมสัมภาษณ์งาน

1. ศึกษาตัวงาน บริษัท และตัวเองก่อนไปสัมภาษณ์งาน

การตอบคําถามสัมภาษณ์งาน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทเห็นทักษะในการทำงาน การแก้ปัญหา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวสะท้อนความใส่ใจที่ผู้สมัครมีต่อบริษัทด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น หากไม่อยากพลาดท่าเรื่องการสัมภาษณ์งาน นอกจากจะเตรียมการแนะนําตัวสัมภาษณ์งาน หรือฝึกตอบคำถามที่เจอบ่อยในการสอบสัมภาษณ์งานแล้ว ผู้สมัครยังควรศึกษาตัวงานและบริษัทให้ครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเภทธุรกิจ กลุ่มลูกค้า ช่องทางการตลาด วัฒนธรรมองค์กร สินค้าและบริการหลัก ไปจนถึงปัญหาที่มักพบเจอบ่อย ๆ ในธุรกิจ 

การศึกษาตัวงานและบริษัทอย่างรอบด้านนี้ จะถือเป็นการเรียนรู้ธุรกิจของบริษัทที่สนใจไปในตัว ตลอดจนเป็นการถามใจตัวเองไปพร้อมกันว่า จริง ๆ แล้ว เราอยากทำงานที่บริษัทแห่งนี้มากน้อยแค่ไหนกันแน่

2. ฝึกการฟังและจับใจความคำถามของผู้สัมภาษณ์

เมื่อเข้าถึงรอบการสัมภาษณ์งาน เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเริ่มเตรียมตัวจากการค้นหาว่า ‘การสัมภาษณ์งานถามอะไรบ้าง’ แล้วค่อยลิสต์คำถามและฝึกสร้างคำตอบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคำถาม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงแต่จะลิสต์คำถามและฝึกการตอบเท่านั้น แต่ผู้สมัครยังควรฝึกการฟังและจับใจความคำถามด้วยเช่นกัน เพราะในบางครั้ง ผู้สัมภาษณ์อาจมีการเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานขึ้นมา จากนั้นจึงถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหลาย ๆ แง่มุม ซึ่งหากผู้สมัครจับใจความได้ไม่ครบ หรือ ตอบไม่ตรงคำถาม ก็อาจทำให้โดนตัดคะแนนการสัมภาษณ์ไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน

ดังนั้น เลือกคำถามสัมภาษณ์งานมาฝึกตอบ พร้อมพลิกแพลงคำถามหลาย ๆ แบบแล้ว อย่าลืมฝึกการฟังและจับใจความคำถาม เพื่อเลือกคำตอบที่เหมาะสม ตรงประเด็น และชัดเจนมากที่สุดด้วย

3. ตอบคำถามตามความเป็นจริงดีที่สุด

จริงอยู่ว่า การสัมภาษณ์งานควรจะต้องสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์มากที่สุด แต่การสร้างความประทับใจระหว่างสัมภาษณ์งานนี้ก็ควรมีขอบเขตและอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง มิเช่นนั้น ตัวเราอาจกำลังเป็นคนที่สร้างความคาดหวังผิด ๆ หรือ False Expectation ให้กับผู้สัมภาษณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานจริงได้

เช่น หากตอนสัมภาษณ์งานได้เล่าถึงอะไรที่ไม่อยู่บนหลักความเป็นจริง อย่างสกิลการทำงานของตัวเอง หรือ การแก้ปัญหาในกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน เมื่อเข้ามาทำงานจริงก็ย่อมรู้สึกได้ถึงความกดดันจากความคาดหวังที่ตัวเองสร้างเอาไว้เมื่อตอนสัมภาษณ์ มิหนำซ้ำยังอาจสร้างความขัดแย้งในที่ทำงานได้ 

ดังนั้น หากต้องการสร้างความสบายใจให้กับการทำงานของตัวเองในอนาคต ขอแนะนำให้ตอบคำถามตามความเป็นจริงทั้งหมด ชี้แจงให้เคลียร์ว่าตัวเองทำอะไรได้หรือไม่ได้ มีประสบการณ์ด้านไหนมาก่อน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือการเรียนรู้ในเพื่อต่อยอดและพัฒนาสกิลทั้งหมดบ้าง

4. สอบถามขอบเขตการทำงานให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

การแนะนําตัวเองตอนสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่อย่าลืมสอบถามขอบเขตการทำงานของตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น KPIs หรือ OKRs จำนวนงานที่ต้องส่งในแต่ละวันหรือสัปดาห์ ผลลัพธ์ที่คาดหวังในแต่ละช่วงเวลา ลักษณะการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ไปจนถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือ Performance ตามสายงานของตัวเองทั้งหมด

การถามคำถามในส่วนนี้ตั้งแต่แรก ไม่เพียงแต่จะช่วยกำหนดการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ป้องกันการเพิ่มงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้ผู้สมัครได้เข้าใจถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน ตลอดจนได้มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย

5. ไม่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีกับที่ทำงานเก่า

แต่ละคนย่อมมีเหตุผลในการเปลี่ยนงานที่แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนเองก็เปลี่ยนงานใหม่เพราะที่ทำงานเก่าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ไม่ได้เป็นเหมือนวันแรกที่เริ่มงาน ไปจนถึงเนื้องานและบริษัทที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่สมัครงานเข้ามาใหม่

แม้จะมีความในใจอยู่เป็นหมื่นล้านคำมากแค่ไหน แต่การแสดงทัศนคติไม่ดีกับที่ทำงานเก่าก็ส่งผลเสียต่อการสัมภาษณ์งานใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะการแสดงทัศนคติในการทำงานระหว่างสัมภาษณ์งานนี้ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงความเป็นมืออาชีพและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานอีกด้วย

ดังนั้น การแสดงทัศคติที่ไม่ดีต่อที่ทำงานเก่า ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่าหัวหน้า วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงประสบการณ์การทำงานที่ทำงานเก่า อาจจะไม่ได้เป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์งานใหม่มากนัก

6. อย่าลืมเตรียมคำถามที่ควรถาม HR และผู้สัมภาษณ์ให้เรียบร้อย

นอกจากจะหาวิธีแนะนำตัวเองตอนสัมภาษณ์งาน ตลอดจนตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้ชัดเจนและเหมาะสมแล้ว ผู้สมัครยังมีสิทธิ์ตั้งคำถามและสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ กับทางบริษัทที่สัมภาษณ์งานด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่จะได้รับ วัฒนธรรมองค์กร การทำงานและแก้ปัญหาในกรณีต่าง ๆ ไปจนถึงผลประกอบการและแผนการเติบโตของบริษัท ทั้งนี้เพื่อเป็นการประเมินและคาดการณ์อนาคตของตัวเองในบริษัทที่กำลังสัมภาษณ์งานด้วย

7. นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนไปสัมภาษณ์!

คืนก่อนวันสัมภาษณ์งานใหม่ เชื่อว่าใคร ๆ คงมีเรื่องคิดวนเวียนในหัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมตัวอย่างการตอบคำถามสัมภาษณ์งานอย่าง ‘ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่’ หรือ ‘เหตุผลที่อยากร่วมงานกับเรา’ ไปจนถึงคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่หากตอบคำถามสัมภาษณ์งานกับ HR หรือผู้สัมภาษณ์คนอื่น ๆ ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่ อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนคืนสัมภาษณ์ พร้อมวางแผนการเดินทาง รวมถึงแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นด้วย


จบลงไปแล้วกับ 7 เทคนิคการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์งานครั้งใหม่ราบรื่น ตรงประเด็น และมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ดี การสัมภาษณ์งานให้ได้งานขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่การพยายามตอบคำถามให้เต็มที่และดีที่สุดก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมนำทั้ง 7 เทคนิคที่นำมาฝากนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย

สู้กับการทำงานอย่างเต็มที่แล้ว อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมมองหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการดูแลสุขภาพอย่างการทำประกันสุขภาพออนไลน์จาก Sunday ที่จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับการเงินส่วนตัวที่เฝ้าพยายามทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด เช็กเบี้ยประกันสุขภาพออนไลน์ง่าย ๆ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ เท่านั้น

Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก Work Life Balance กันมานาน มารู้จัก Work Life Harmony บ้างดีกว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กระแส Work Life Balance (เวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์) ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง…
Work Life Balance vs Work Life Harmony

รู้จักชาว ESTJ ทำไมใคร ๆ ถึงเรียกว่า “บุคลิกภาพผู้บริหาร”? 

มนุษย์แต่ละคนย่อมมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ถึงลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพหลาย ๆ แบบ…
ESTJ จุดเด่น จุดด้อย