หน้าหลัก สาระสุขภาพ ตับวายคืออะไร มีอาการแบบไหน มีการฟื้นฟูตับวายวิธีไหนบ้าง?

ตับวายคืออะไร มีอาการแบบไหน มีการฟื้นฟูตับวายวิธีไหนบ้าง?

ตับวาย

‘ตับ’ ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง หากไม่รู้จักวิธีดูแลตับอย่างเหมาะสม นานวันเข้าอาจเสี่ยงที่จะเกิด ‘ภาวะตับวาย’ ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย

แล้วภาวะตับวายคืออะไร มีอาการแบบไหน จะมีวิธีการฟื้นฟูตับวายได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบที่สงสัยได้ในบทความนี้กัน


‘ตับ’ สำคัญกับร่างกายอย่างไร?

‘ตับ’ เป็นอวัยวะกรองของเสียในร่างกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง ในแต่ละวันร่างกายจะลำเลียงเลือดทั้งหมดเข้าไปกรองสารพิษที่ตับมากถึง 360 รอบ ซึ่งแต่ละคนเองก็มีเลือดในร่างกายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 5 ลิตร เท่ากับว่าตับจะต้องกรองสารพิษอย่างน้อยวันละ 1,800 ลิตรเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวกรองสารพิษเท่านั้น แต่ ‘ตับ’ ยังเป็นอวัยวะสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน ทั้งยังมีส่วนช่วยในการควบคุมและสะสมสารอาหารในร่างกาย ที่สำคัญ ‘ตับ’ ยังเป็นอวัยวะสำคัญที่มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของกระบวนการย่อยอาหารในร่างกายอีกด้วย

รู้จัก ‘ภาวะตับวาย’

จะเห็นได้ว่า ‘ตับ’ เป็นอวัยวะสำคัญที่มีการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง แม้จะรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี ตับก็สามารถเสื่อมสภาพได้ตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่หากยิ่งไม่ดูแลรักษาสุขภาพ หรือ ใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียกับตับด้วยแล้ว แน่นอนว่าย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด ‘ภาวะตับวาย’ ได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เช่นกัน

แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีดูแลตับให้แข็งแรงและอยู่คู่ร่างกายได้นาน ๆ ในส่วนนี้ลองมาทำความเข้าใจถึงรายละเอียดและความอันตรายของภาวะตับวายกัน

ตับวายคืออะไร-มีอาการแบบไหน

ภาวะตับวายคืออะไร?

ตับวาย (Liver Failure) คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนอย่างเคย 

หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา ร่างกายก็จะเริ่มมีการสะสมของเสียและสารพิษเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ภาวะสมองบวม’ จากการที่ตับไม่สามารถกำจัดแอมโมเนียในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึง ‘ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร’ 

ที่สำคัญ ภาวะตับวายยังสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงอื่นได้ เช่น อาจมีส่วนทำให้ไตวายเฉียบพลัน มีภาวะเลือดออกผิดปกติ มีภาวะภูมิต้านทานลดลง หรือ ทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว หรือ มะเร็งตับที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้

ตับวายมีกี่ประเภท?

ในปัจจุบันนี้ ทางการแพทย์ได้แบ่งภาวะตับวายออกเป็น 2 ประเภทหลัก ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ภาวะตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะตับวายที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน หรือ ไม่กี่สัปดาห์ 
  2. ภาวะตับวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อของตับเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ ส่วนใหญ่มักเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย ใช้เวลาหลายปีถึงจะค่อย ๆ แสดงอาการออกมา
ประกัน ipd ผู้ป่วยใน

สาเหตุตับวายที่หลายคนมองข้าม

หลายคนมักเข้าใจว่า สาเหตุตับวายเกิดจากการที่ดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุการเกิดตับวายนั้นจะแตกต่างกันไปตามประเภทของภาวะตับวาย ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. สาเหตุการเกิดตับวายเฉียบพลัน 

มักเกิดจากการรับประทานยาเกินขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาพาราเซตามอล ยาเสพติดอย่างยาอี หรือ โคเคน ไปจนถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเศร้า รวมไปถึงยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) 

นอกจากนี้ การรับประทานสมุนไพรอย่างสารสกัดใบชา ขี้เหล็ก บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร รวมถึงเห็ดเผาะ เป็นจำนวนมากติดต่อกันยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตับวายได้ ไม่เพียงเท่านั้น การได้รับสารพิษจากสารทำความเย็น หรือ ตัวทำละลายสำหรับแว็กซ์เคลือบเงา ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

ที่สำคัญ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไปจนถึงไวรัสที่ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งอย่างไวรัสเอ็บสไตบาร์ที่ติดต่อผ่านทางของเหลวในปาก และ ไวรัส Herpes simplex หรือ HSV ที่ก่อให้เกิดโรคเริม ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

2. สาเหตุการเกิดตับวายเรื้อรัง

สาเหตุตับวายเรื้อรังมักเป็นผลมาจากโรคตับแข็ง (Cirrhosis) หรือ ภาวะที่ตับได้รับความเสียหายและเกิดแผลเป็นถาวร ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน หรือ มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะไขมันพอกตับ ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้ง หรือ ได้รับสารพิษเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ภาวะตับวายเรื้อรังยังมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี ทั้งยังสามารถเกิดได้จากโรคร้ายอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรควิลสันที่เกิดจากการสะสมทองแดงในตับมากเกินไป ไปจนถึงโรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง

ตับวายมีอาการอย่างไร?

ภาวะตับวายมักจะไม่แสดงอาการที่รุนแรงในทันที แต่หากเริ่มสังเกตว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้โดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อไหร่ ขอแนะนำให้รีบเข้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติในทันที โดยภาวะตับวายมักจะแสดงอาการ ดังนี้ 

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดรอยช้ำและเลือดออกง่ายผิดปกติ
  • มีอาการคัน
  • ขาบวมน้ำ
  • ท้องบวมน้ำ เนื่องจากมีภาวะท้องมาน (Ascites) หรือ ภาวะที่ของเหลวสะสมในระหว่างเยื่อหุ้มช่องท้องและอวัยวะภายในช่องท้องมากผิดปกติ
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • รู้สึกจุกที่บริเวณชายโครงด้านขวา
  • ตับ หรือ ม้าม มีขนาดใหญ่ขึ้น
  • มีภาวะดีซ่าน หรือ ภาวะที่เยื่อบุตาขาว เนื้อเยื่อ และผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื่องจากมีสารบิลิรูบินสะสมในกระแสเลือดมากเกินไป
  • มือสั่น กระตุก
  • มีภาวะเซื่องซึม สับสน ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • โคม่า 

การรักษาภาวะตับวายในปัจจุบัน

การฟื้นฟูตับวายในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ประเภทของตับวาย ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้น

การตรวจภาวะตับวาย

ในขั้นแรก แพทย์จะทำการตรวจสอบภาวะตับวายตามวิธีที่เห็นสมควร ซึ่งจะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการและสภาพร่างกายของคนไข้ โดยหลัก ๆ จะทำได้ 6 วิธี ดังนี้

  1. การซักประวัติ
  2. ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ 
  3. การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน 
  4. การถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 
  5. การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) 
  6. ลงความเห็นให้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาความเสียหายของตับ
การฟื้นฟูตับวายทำได้อย่างไร

การฟื้นฟูตับวายทำได้อย่างไร?

หากตรวจพบภาวะตับวาย แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยส่วนใหญ่จะมีด้วยกัน 4 วิธีหลัก ดังนี้

  1. รักษาตามอาการและความเฉพาะเจาะจง เช่น ใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) เพื่อต้านพิษจากการรับประทานพาราเซตามอลเกินขนาด หรือ ให้ยาต้านเชื้อไวรัสร่วมกับการปรับพฤติกรรม 
  2. รักษาตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะสมองบวมเนื่องจากมาจากตับวาย 
  3. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือ ปลูกถ่ายตับ ในกรณีที่รักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล 
  4. การใช้เครื่องพยุงการทำงานของตับ ซึ่งจะเป็นการใช้โปรตีนอัลบูมินเข้ามาช่วยจับสารพิษที่เกิดจากภาวะตับวาย แต่ไม่ได้ช่วยรักษาภาวะตับวายโดยตรง ส่วนใหญ่มักใช้เพื่อประคองอาการ ลดภาวะแทรกซ้อน หรือใช้ในระหว่างที่รอผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนตับ 

8 วิธีดูแลตับให้แข็งแรง ห่างไกลจากตับวาย

8 วิธีดูแลตับให้แข็งแรง

การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับวายได้ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะมีวิธีดูแลตับอย่างไรให้แข็งแรง ขอแนะนำให้ปฏิบัติตัวตาม 8 วิธี ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อตับ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง หรือ เลิกดื่มไปเลย 
  2. รักษาสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่สะอาดจากร้านที่ได้มาตรฐาน การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัย ไปจนถึงการงดใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  3. รับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสมและอยู่ในความควบคุมของแพทย์ เช่น ไม่รับประทานพาราเซตามอลเกินขนาด ห้ามรับประทานยาสมุนไพร วิตามินและอาหารเสริมก่อนปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  4. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบตามระยะเวลาที่กำหนด
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำลายและเลือด
  6. ควบคุมน้ำหนักและไขมันในร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายและการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  7. เข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
  8. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง เช่น ยาฆ่าแมลง สเปรย์กระป๋อง ไปจนถึงสารเคมีอื่น ๆ เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวอาจซึมเข้าสู่ผิวหนังและเป็นอันตรายต่อตับได้

ตับวายเป็นภาวะที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งยังส่งผลเสียในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มิหนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้เช่นกัน รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมดูแลตับของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอตามทั้ง 8 วิธีดูแลตับที่นำมาฝากในวันนี้ พร้อมรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับวายได้


โรคที่เกี่ยวข้องกับตับเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคเสี่ยงที่ส่งผลต่อการทำประกันสุขภาพ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคตับ เงื่อนไขในการทำประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้อง หรือ ปรึกษารายละเอียดการทำประกันสุขภาพออนไลน์กับ Sunday สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @easysunday หรือโทร. 02 – 022 – 1111

ประกัน ipd ผู้ป่วยใน
ประกัน Sunday lumpsum ipd only เหมาจ่าย แบบผู้ป่วยใน

Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จักไวรัส RSV โรคทางเดินหายใจในเด็ก อันตรายถึงชีวิต

โรค RSV คืออะไร สังเกตอาการได้อย่างไรบ้าง? ในช่วงที่อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ อย่างช่วงปลายฝนต้นหนาว…

นอนเยอะแต่เหมือนนอนไม่พอ คุณอาจจะเป็นโรคนอนเกิน!

นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ อาจเป็นโรคนอนเกินได้นะ! มีใครเคยเป็นบ้าง นอนเต็ม 8 ชั่วโมงก็แล้ว 12 ชั่วโมงก็แล้ว…
oversleeping-symptoms-feeling-tired-despite-sleeping-a-lot
0
Share