สารพัดเรื่องราวรอบตัวอาจทำให้ใครหลายคน ‘ปวดหัว’ ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดจากความเครียดที่ถาโถมเท่านั้น บางครั้งอาการ ‘ปวดหัว’ อาจเป็นสัญญาณของ ‘หลอดเลือดในสมองโป่งพอง’ – หนึ่งในโรคร้ายที่เสี่ยงเสียชีวิตกะทันหันได้โดยไม่ทันตั้งตัว
รับมือหลอดเลือดในสมองโป่งพองก่อนสายไป เพียงทำความรู้จักตัวโรค อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกันหลอดเลือดสมองโป่งพองที่นำมาฝากในบทความนี้กัน
รู้จัก ‘หลอดเลือดในสมองโป่งพอง’ ให้มากขึ้น
หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน หรือ เกิดภาวะทุพพลภาพอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีรับมือและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ ลองมาทำความรู้จักตัวโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองให้มากขึ้นในส่วนนี้กัน
หลอดเลือดในสมองโป่งพองคืออะไร?
หลอดเลือดในสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เป็นภาวะที่ผนังเส้นเลือดในสมองเกิดการเสื่อมสภาพแบบเฉพาะจุด ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดดังกล่าวมีความบางกว่าส่วนอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อร่างกายเกิดภาวะความดันสูงขึ้น อาจทำให้เส้นเลือดที่มีผนังเส้นเลือดบางกว่าบริเวณอื่น เกิดการพองตัวขึ้น
หากยังมีความดันเลือดส่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เส้นเลือดที่พองตัวขึ้นก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะแตกในเวลาต่อมา ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือ เนื้อสมอง จนนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิตได้
สาเหตุหลอดเลือดสมองโป่งพอง
ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ในปัจจุบันได้มีข้อสันนิษฐานมากมายถึงสาเหตุว่าทำไมผนังเส้นเลือดในสมองถึงบางลง
แพทย์บางส่วนลงความเห็นว่าเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด กรรมพันธุ์ หรือ มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่กำเนิด ในขณะที่แพทย์บางส่วนคาดว่าอาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรค หรือ ภาวะที่ทำให้ผนังของหลอดเลือดอ่อนแอลง
โดยสาเหตุหลอดเลือดสมองโป่งพองที่เกี่ยวข้องกับโรค หรือ ภาวะที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของผนังหลอดเลือดนั้นจะประกอบไปด้วย
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในหลอดเลือด
- ภาวะบาดเจ็บที่สมอง หรือ ประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อสมอง
- ภาวะเบาหวาน
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น การติดเชื้อในหลอดเลือด ไขมันในหลอดเลือด หรือ ภาวะหลอดเลือดแดงฉีกเซาะ
- ผู้ป่วยภาวะถุงน้ำ
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- การใช้สารเสพติด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานอาหารเค็มจัด ไขมันสูง หรือ มีรสจัด ติดต่อกันเป็นเวลานาน
หลอดเลือดในสมองโป่งพองมีอาการอย่างไร?
แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่โดยทั่วไปแล้ว หลอดเลือดในสมองโป่งพองจะแสดงอาการเบื้องต้น ดังนี้
- หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้ กลืนอาหารได้ลำบาก ปวดร้าวที่ใบหน้า เนื่องจากเส้นเลือดโป่งพองทับกับเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า
- แขนขาอ่อนแรง มีอาการเหน็บชาตามร่างกาย
- เห็นภาพซ้อน ภาพมัว
- สับสน ซึมลง ทำอะไรเชื่องช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
- ความดันในสมองสูง
- เลือดออกในจอประสาทตา
- ระดับความรู้สึกตัวลดลง
- กลุ่มอาการรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน ประกอบไปด้วย อาการปวดหัวรุนแรงฉับพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตึงต้นคอ ชักเกร็ง คอแข็ง หรือ หมดสติ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจมีภาวะเส้นเลือดในสมองรั่ว แตก หรือ เส้นเลือดโป่งพองจนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สมองส่วนปลาย จนทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เลือดออกที่เนื้อสมอง หรือ เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้
หลอดเลือดโป่งในสมอง รักษาได้อย่างไร?
หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เป็นระเบิดเวลาที่ไม่มีทางรู้ว่าจะแสดงอาการเมื่อไหร่ ซึ่งแนวทางการตรวจและรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้ตามรายละเอียด ดังนี้
วิธีการตรวจหลอดเลือดในสมองโป่งพอง
หลอดเลือดโป่งในสมองเป็นภาวะที่ตรวจพบได้ยาก ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ภาวะที่เส้นเลือดในสมองแตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้ว การตรวจหาภาวะหลอดเลือดในสมองโป่งสามารถทำได้ 4 วิธี คือ
- การตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA)
- การตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA)
- การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจสอบหลอดเลือด
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Scan)
วิธีการรักษาหลอดเลือดในสมองโป่งพอง
สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่มีความซับซ้อนสูง หากตรวจพบหลอดเลือดในสมองโป่งพอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจลงความเห็นให้รักษาด้วย 4 วิธีเบื้องต้น ดังนี้
- ผ่าตัดสมอง เพื่อปิดซ่อมผนังหลอดเลือดที่เป็นปัญหา
- การรักษาทางหลอดเลือดผ่านทางข้อมือ หรือ ขาหนีบ โดยแพทย์จะใส่ท่อตาข่ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนผ่านตาข่ายนี้แทนหลอดเลือดที่โป่งพอง
- การใส่ขดลวด หรือ หนีบเส้นเลือดโป่งพอง เพื่อไม่ให้เลือดผ่านยังเส้นเลือดที่มีปัญหาอยู่
- การรักษาด้วยยาต้านแคลเซียม ลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด เนื่องจากการหดเกร็งของเส้นเลือดในสมอง
ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโป่งพองควรดูแลตัวเองอย่างไร?
การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่หลอดเลือดในสมองจะแตก ดังนั้น หากตรวจพบแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในทันที ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสทุพพลภาพและเสียชีวิตโดยกะทันหันได้
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพองจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาอาการและลดความเสี่ยงที่เส้นเลือดในสมองจะแตก ตลอดจนต้องดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสารเสพติด รวมไปถึงลดการรับประทานอาหารเค็มจัด ไขมันสูง รวมถึงอาหารรสจัด
5 วิธีป้องกันหลอดเลือดสมองโป่งพอง คุณเองก็ทำได้!
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อหาความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดในสมอง
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ เช่น การผ่อนคลายความเครียด การงดการทานอาหารเค็ม อาหารไขมันสูง รวมไปถึงการงดสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อลดไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากไขมันสะสมในร่างกายและหลอดเลือดเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงที่หลอดเลือดในสมองจะแตกได้
- รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
- ควบคุมอาการของโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด
หลอดเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบใกล้ตัวที่ต้องรู้ให้เท่าทัน ผู้ให้บริการประกันสุขภาพออนไลน์อย่าง Sunday หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความที่นำมาฝากนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้รู้จักสาเหตุหลอดเลือดสมองโป่งพอง รวมไปถึงวิธีรับมือและป้องกันอย่างเหมาะสม
รู้แบบนี้แล้ว หากมีอาการปวดศีรษะผิดปกติ มีความรู้สึกตัวที่เปลี่ยนไป หรือมีกลุ่มอาการเสี่ยงเกิดขึ้นกับตัว หรือ คนใกล้ตัวเมื่อไหร่ อย่าลืมรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการทุพพลภาพและเสียชีวิตทันที