หน้าหลัก เรื่องราวการงาน วิธีจูงใจพนักงานให้อยู่กับองค์กร เมื่อบริษัทเริ่มปรับมาทำงานตามปกติในยุค COVID-19

วิธีจูงใจพนักงานให้อยู่กับองค์กร เมื่อบริษัทเริ่มปรับมาทำงานตามปกติในยุค COVID-19

วิกฤติ COVID-19 ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมกับเศรษฐกิจและผลประกอบการขององค์กรในภาพใหญ่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในภาพเล็กต่อรูปแบบการทำงาน และการบริหารจัดการพนักงานในองค์กรอีกด้วย 

โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ องค์กร นั่นก็คือการเผชิญหน้ากับภาวะการลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ที่เกิดขึ้นหลังจาก COVID-19 เริ่มคลื่คลาย สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร? ในฐานะของ HR เราควรใช้วิธีไหนเพื่อให้สามารถจูงใจพนักงานเก่งๆ อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น? รวมถึงต้องปรับรูปแบบการทำงานยังไงให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่พนักงานต้องการมากที่สุด?

ซันเดย์ได้นำเอาเนื้อหาที่ได้พูดคุยกับคุณจูน “คุณนรีภัสร์ ลพานุกรม“ Country Manager จาก GetLinks มาสรุปและเรียบเรียงเพื่อให้ฝ่ายบุคคล รวมถึงเจ้าของธุรกิจ สามารถนำไปปรับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสามารถคลิกรับชมรายการ Thank God It’s Sunday EP.6 แบบเต็มๆ ได้ ที่นี่

วิธีจูงใจให้พนักงานเก่งๆ ยังอยู่กับองค์กรของเรา (Retain) หลังวิกฤติ COVID-19

คุณจูนได้แชร์ข้อมูลจากผลสำรวจของ FlexJobs ที่ได้รวบรวมความเห็นจากพนักงานกว่า 2,181 ราย ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 พบกว่า 39% จากพนักงานทั้งหมด ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น โดยมีพนักงานกว่า 84% ให้ความเห็นตรงกันว่า การที่ไม่ต้องเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ ช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก และสามารถนำเวลาที่ได้ไปใช้ทำงานได้มากกว่าเดิม

จากข้อมูลนี้ สามารถสรุปได้ว่าสิ่งที่องค์กรยุคใหม่และฝ่ายบุคคลควรปรับใช้ เพื่อจูงใจพนักงานจากยกเลิกมาตรการ WFH มีดังนี้

  • ควรเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้ไลฟ์สไตล์การทำงานในองค์กรมากขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องให้พนักงานทุกคนเข้าออฟฟิศ 5-6 วัน/สัปดาห์ อีกต่อไป แต่แนะนำให้ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร
  • บางองค์กรอาจจะเปิดโอกาส ให้พนักงานได้เลือกด้วยตนเองได้ว่าจะเข้า-ออก จากออฟฟิศในช่วงวันไหน และเวลาใด เพื่อลดความแออัด แลเพิ่มความสะดวกสบายให้มากขึ้น
  • สำหรับองค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานอยู่แล้ว (เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีไลน์การผลิต) อาจพิจารณาเพิ่มโอกาสให้พนักงานได้ Work from anywhere มากขึ้น

อะไรคือปัจจัยที่อาจทำให้พนักงานลาออกหลังยุค COVID-19

จากผลการวิเคราะห์ของทาง GetLinks พบว่า ผลกระทบหลังจากการ Work from home นั้น อาจส่งผลให้พนักงานแต่ละคนเกิดคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต (Value proposition) ของเค้าคืออะไร? ซึ่งหากองค์กรไม่สามารถตอบรับความต้องการของพวกเขาได้เพียงพอ ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่พนักงานส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออก หลังจากที่ยกเลิกมาตรการ Work from home และกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบ

  • บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า เค้าจำเป็นต้องทำงานที่รับผิดชอบสูง เพื่อหาเงิน (Money) ให้ได้มากๆ หรือเลือกงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยลงหน่อย แต่ได้เวลากลับคืนมาให้ครอบครัว (Happiness) มากขึ้น
  • บางคนอาจจะค้นพบว่า การที่พวกเขาได้กลับภูมิลำเนาเดิมที่ไม่ใช่ในเมืองในช่วงที่เกิดวิกฤติ พวกเขาก็ยังสามารถปรับตัวจนทำงานผ่านเครื่องมือออนไลน์ได้ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่ที่ไหน (Remote working) การที่ต้องกลับมาเข้าออฟฟิศในเมืองอีกครั้ง อาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการอีกต่อไป
  • พนักงานบางคนอาจจะรู้สึกดีกับการ Work from home เนื่องจากการไม่ต้องเดินทางไปทำงาน นอกจากจะลดเวลาที่สูญเปล่าในการเดินทางได้แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกทางหนึ่ง
  • พนักงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงวัย Millennials กับ GenZ ที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานมาเป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญก็คือพวกเค้าต้องการค้นหาความสมดุลของชีวิต 
  • พนักงานบางคนอาจจะอยากเติบโตในสายงานเดิม หรือมองหาสายงานใหม่ (Career) ในธุรกิจที่กำลังเติบโต (Sunrise business)

กรณีศึกษา : องค์กรยุคใหม่จะปรับตัวยังไงเพื่อให้สามารถจูงใจพนักงานอยู่กับเราได้นานๆ

แม้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันในออฟฟิศโดยตรง แต่หลายๆ องค์กร โดยเฉพาะภาคธุรกิจใหญ่ ต่างก็ปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานแบบ Work from home ไม่ว่าจะเป็นช่วงการระบาดของ COVID-19 หรือหลังจากที่วิกฤติคลี่คลายไปแล้วแต่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการทำงาน โดยมีการยกตัวอย่าง ดังนี้

กรณีศึกษาบริษัท Facebook

บริษัท Social Media ยักษ์ใหญ่ของวงการ ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “Portal+” มีไว้สำหรับประชุมออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอลโดยเฉพาะ ซึ่งทาง Facebook เองก็ไดมีการแจกอุปกรณ์ตัวนี้ให้กับพนักงานแทบทุกคนในช่วง WFH นอกเหนือไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานตามปกติ เพื่อลดความไขว้เขวในการสื่อสารบนอุปกรณ์ชิ้นเดียว แน่นอนว่าการลงทุนในครั้งนี้ Facebook เองก็ได้คิดเผื่อระยะยาว ที่จะดำเนินการปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น

กรณีศึกษาบริษัท Persol Career Co.

ธุรกิจจัดหางานสัญชาติญี่ปุ่น ได้มีการปรับระบบขององค์กรไปใช้ IBM Blockchain Platform ซึ่งเป็นเครือข่ายสำหรับเก็บข้อมูลบนโลกดิจิทัลแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) โดยข้อมูลทุกอย่างจะไม่ถูกเก็บอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งทาง Persol Career Co. ได้นำเอาระบบนี้ไปใช้สำหรับแชร์เอกสารทั้งองค์กรแบบ Real-time เพื่อความรวดเร็วและความปลอดภัยของข้อมูลบุคลากรที่มีจำนวนมากได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเชื่อถือได้

กรณีศึกษาบริษัท Bangchak Corporation

ฝ่ายบุคคลของบริษัท บางจาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา ได้มีการปรับใช้ระบบ Oracle Human Capital Management (HCM) ของทาง Oracle ซึ่งจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเอาไว้บนระบบ Cloud โดยทีมงานทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารและชุดข้อมูลที่จำเป็นได้แบบ Real-time ระหว่างการประชุมที่ต้องการตัดสินใจบางอย่างร่วมกันได้ง่ายขึ้น ทำให้การทำงานไร้รอยต่อมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากหันมาเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้น

รวมเทคนิคของ HR ในการค้นหาบุคลากรรายใหม่ (Recruit) เข้ามาทำงาน เมื่อต้องสัมภาษณ์แบบ Work from home 

ใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อคัดกรองผู้สมัคร (Use personality test.)

เมื่อไม่ได้เจอหน้ากันโดยตรง การตรวจสอบนิสัยและพฤติกรรมในการทำงานก็ทำได้ยากขึ้น ทาง GetLinks จึงได้แนะนำว่า หากเป็นการคัดคนเข้ามาทำงานในองค์กรช่วง Work from home ทาง HR ควรนำเอาแบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality test) มาประยุกต์ใช้เพื่อคัดกรองผู้สมัครงาน เพื่อค้นหาบุคลากรที่มีลักษณะนิสัยสอดคล้องกับหัวหน้างาน หรือทีมงานที่ทำอยู่ก่อนแล้วให้มากขึ้น

เพิ่มทางเลือกในการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน (More appraisal options.)

เพื่อให้การจ้างงานและค้นหาบุคลากรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาคนทำงานแบบ Work from home ทาง HR อาจให้ทางเลือก (Option) กับหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้จ้างว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่าประสิทธิภาพการทำงานหรือบุคลิกภาพไม่สอดคล้องกัน หัวหน้างานสามารถเลือกยุติการทำงานร่วมกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อ KPI ของทั้ง HR และหัวหน้างาน 

เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นออฟฟิศจริงจังในเวลาทำงาน (Home as a new office.)

แม้ว่าจะเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ทุกๆ การประชุมและการสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น HR ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน โดยจะต้องเปิดกล้อง Webcam ทุกครั้งเมื่อมีการประชุมหรือพูดคุยผ่านทางออนไลน์ (พร้อมกับเลือกภาพฉากหลังที่ให้ความรู้สึกจริงจัง และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร) แน่นอนว่าควรแต่งกายให้เหมาะกับรูปแบบการทำงาน แม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม

ยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลสู่ยุคใหม่ (Rethinking HR.)

HR ควรเป็นหนึ่งในผู้ที่คอยผลักดัน และแชร์เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับให้กับการทำงานภายในแผนก ไปจนถึงการวางมาตรฐานให้พนักงานทุกคนสามารถใช้งานแพลตฟอร์มหรือระบบที่มีความยืดหยุ่นร่วมกันทั้งองค์กร เช่น การนำเอา Cloud service เข้ามาใช้ในการแชร์เอกสาร เป็นต้น

คิดค้นหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กร (Reinventing employee experience.)

ให้ความสำคัญกับ Work life balance ของพนักงานแต่ละคน ควรหมั่นเช็กสถานะความสัมพันธ์ของแต่ละทีมว่าช่วงนั้นเป็นอย่างไร อาจมีการสร้าง Event หรือแชร์คอร์สออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรร่วมกันได้ผ่านช่องทาง เครื่องมือ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก Work Life Balance กันมานาน มารู้จัก Work Life Harmony บ้างดีกว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กระแส Work Life Balance (เวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์) ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง…
Work Life Balance vs Work Life Harmony

7 เทคนิคเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน เพิ่มโอกาสได้งานที่หวังไว้!

สัมภาษณ์งานมาหลายที่ก็ยังถูกเลือกให้เป็นผู้ที่ผิดหวัง แต่รอบนี้ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไป…
how to interview