ซื้อประกันลดหย่อนภาษีได้ไหม ประกันประเภทไหนลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่บ้าง?
การซื้อประกันที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว คุณยังได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ให้คุณได้สร้างความมั่นคงทางการเงินได้จากการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
ใกล้รอบยื่นภาษีแล้ว หากคุณกำลังยังไม่แน่ใจว่าการซื้อประกันสามารถลดหย่อนภาษีได้ในเงื่อนไขใดบ้าง หรือ ยังไม่ชัวร์ว่าจะสามารถใช้อะไรมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง มาปูพื้นฐานการลดหย่อนภาษีแบบเข้าใจง่ายๆ ในบทความนี้กัน
การลดหย่อนภาษีคืออะไร?
การลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สามารถนำค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด ไปหักออกจากรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษีที่ต้องเสียในปีนั้นๆ ตามสูตรคำนวณดังนี้
สูตรคำนวณเงินได้สุทธิ | รายได้ต่อปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ |
สูตรคำนวณภาษีที่ต้องชำระ | เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย |
การลดหย่อนภาษี เป็นสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ช่วยให้บุคคลธรรมดาสามารถประหยัดภาษีได้ ส่งผลให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้สำหรับเป้าหมายอื่นๆ ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การเคลียร์ภาระหนี้สิน ไปจนถึงการนำเงินไปเก็บเป็นทุนสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิต
ใช้อะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง?
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า รายการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายมีอะไรบ้าง และแต่ละรายการสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
โดยพื้นฐานแล้ว รายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีด้วยกัน 5 รายการหลักๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดและเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
- เฉพาะกรณีจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- ต้องไม่มีรายได้ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
- สามีที่มีภรรยาที่ไม่มีเงินได้ สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล นำมาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท
- บุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี อายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไปอายุ 25 ปีขึ้นไป ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- บุตรตามกฎหมาย ลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน
- บุตรบุญธรรม ลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
- หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน
- เฉพาะบิดามารดาที่อายุมากกว่า 60 ปี รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- ต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
- รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- มีบัตรประจำตัวผู้พิการ
- ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลักหักลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะและสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลักหักลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มจากการออมและลงทุน
- *กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- *กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- *กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี และรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 10 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2566-2575
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
*รวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอายุประกอบไปด้วย กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนตามโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท และ โครงการช้อปดีมีคืน หรือ โครงการ Easy e-Receipt ที่ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
5. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มจากเบี้ยประกัน
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต เงินฝากแบบมีประกันชีวิต และ ประกันสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และ ห้ามมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท รวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 25,000 บาท
ซื้อประกันลดหย่อนภาษี ต้องเข้าใจอะไรบ้าง?
เชื่อว่าใครหลายคนคงได้คำตอบแล้วว่า ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีได้ไหม แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่สงสัยว่า มีประกันสุขภาพและประกันชีวิตประเภทไหนที่สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง
ดังนั้น เพื่อช่วยให้เข้าใจเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันให้มากขึ้น ลองมาพิจารณาเงื่อนไขการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีกัน
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง?
ประเภทประกันสุขภาพที่นำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้:
- ประกันสุขภาพทั่วไป
- ประกันโรคร้ายแรง
- ประกันอุบัติเหตุ เฉพาะกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และกระดูกแตกเท่านั้น
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว ซึ่งเป็นประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ 3 ใน 6 ภารกิจ ประกอบไปด้วยการเดิน นั่ง นอน แต่งกาย อาบน้ำ และ ทานอาหาร เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยหากไม่สามารถทำภารกิจในชีวิตประจำวันตามที่ระบุได้
เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้ไหม ได้เท่าไหร่บ้าง?
- กรณีซื้อให้ตัวเอง นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท และรวมกับเบี้ยประกันชีวิตบำนาญต้องไม่เกิน 200,000 บาท
- กรณีซื้อให้บิดามารดา นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินคนละ 15,000 บาท เฉพาะกรณีที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
- กรณีซื้อให้คู่สมรส นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท เฉพาะกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ หรือ รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง?
ประเภทประกันชีวิตที่นำเบี้ยลดหย่อนภาษีได้:
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
- ประกันชีวิตควบการลงทุน
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้ไหม ได้เท่าไหร่บ้าง?
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา และแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุด 100,000 บาท หากมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท
- ประกันชีวิตควบการลงทุน ค่าเบี้ยประกันในส่วนค่าการประกันภัย และ ค่าใช้จ่ายหลักอื่น ๆ ของกรมธรรม์ เมื่อนำมารวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท แต่ส่วนที่นำไปลงทุนไม่สามารถนำมารวมเพื่อลดหย่อนภาษีได้
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- หากทำประกันแบบบำนาญร่วมกับประกันชีวิตทั่วไป นำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปให้ครบสิทธิ์ 100,000 บาทได้
- หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนสำหรับประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท
เท่านี้ก็เข้าใจการลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตแล้ว หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังมองหาประกันสุขภาพและประกันชีวิตดีๆ เพื่อช่วยคุ้มครองตัวคุณและคนที่รัก ตลอดจนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดหย่อนภาษี สามารถเข้ามาเช็กเบี้ยประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่เหมาะกับตัวคุณและคนที่รักได้ที่เว็บไซต์ของซันเดย์วันนี้ ซื้อก่อนสิ้นเดือนธันวาคม รับสิทธิ์การลดหย่อนภาษีทันที