แม้จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ แต่ โรคภัยไข้เจ็บ ก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากเชื้อไวรัสอย่าง ‘ไข้หวัดใหญ่’ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กและผู้ใหญ่
ด้วยอาการที่คล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป คนส่วนใหญ่จึงมักชะล่าใจและเชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่ เป็นเพียงโรคไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทวีความรุนแรง พร้อมก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจำนวนมาก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ทุกคนรู้เท่าทันถึงอันตรายจากไข้หวัดใหญ่ที่แฝงตัวอยู่โดยรอบ ลองมาทำความรู้จักทุกรายละเอียดของโรค อาการต่างๆ พร้อมแนวทางการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในบทความนี้กัน
รู้จัก ‘ไข้หวัดใหญ่’ กันก่อน
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคที่มีการติดเชื้อไวรัส Influenza ในระบบทางเดินหายใจ เริ่มตั้งแต่จมูก ลำคอ และลึกไปยังปอด โดยผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ผ่านการไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดนเสมหะ น้ำมูก และของเสียอื่น ๆ ที่ขับออกมาจากร่างกาย
โดยทั่วไปแล้ว ไวรัส Influenza จะลอยตัวอยู่ในอากาศ เมื่อสูดหายใจนำเชื้อเข้าไป ไวรัส Influenza จะฝังตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์ที่เยื่อบุทางเดินหายใจ จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ และทำให้เกิดอาการป่วยภายใน 18 – 72 ชั่วโมง หรือ 1 – 3 วันหลังจากได้รับเชื้อ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน (ปลายพฤษภาคม – ต้นพฤศจิกายน) และ ช่วงฤดูหนาว (ปลายเดือนธันวาคม – มีนาคม) ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
Q&A Sunday ตอบให้! Q: ไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดทั่วไปอย่างไร? A: คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นหนึ่งในอาการไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส Influenza ในขณะที่ไข้หวัดทั่วไปจะเป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ อย่าง Rhinovirus และ Adenovirus ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza จะมีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดทั่วไป ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าอีกด้วย |
อาการและภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่เบื้องต้น
อาการไข้หวัดในเด็กจะมีความแตกต่างจากอาการไข้หวัดในผู้ใหญ่เล็กน้อย ดังนี้
- อาการในเด็กเล็ก : มีไข้สูง และ ความผิดปกติในระบบอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก
- อาการในวัยรุ่น : มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ มีเสมหะ บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
- อาการในผู้ใหญ่ : มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและศีรษะ เหงื่อออก เจ็บคอและไอแห้ง มีเสมหะ มีน้ำมูก บางรายอาจมีอาการหายใจถี่ ปวดตา เวียนศีรษะ และเหงื่อออกร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
แม้จะพบได้น้อย แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากไข้หวัดใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยส่วนมากแล้ว ภาวะแทรกซ้อนที่พบจะประกอบไปด้วย
- การอักเสบที่ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
- การอักเสบที่ระบบหัวใจ (พบได้น้อย) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- การอักเสบที่ระบบประสาท (พบได้น้อย) เช่น สมองอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ
อันตรายและกลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่สามารถทวีความรุนแรง ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือ มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคเลือด ธาลัสซีเมีย เบาหวาน โรคตับ โรคไต
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และ โรคหัวใจพิการ
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับสมอง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต และ โรคลมชัก
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด ถุงลมโป่งพอง
- ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง รวมไปถึง ผู้ที่อยู่ในช่วงรักษาด้วยเคมีบำบัด
ไข้หวัดใหญ่มีกี่สายพันธุ์ แตกต่างกันอย่างไร?
ในปีค.ศ. 1993 ได้มีการแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรก พร้อมมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันนี้ได้พัฒนาออกมาเป็น Quadrivalent Influenza Vaccine หรือ วัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ดังนี้
สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ | คืออะไร | ความรุนแรงและอาการ |
1. สายพันธุ์ A /H1N1 | ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ หรือ สายพันธุ์ A / H1N1 เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากคน หมู และนก ใครหลายคนอาจรู้จักไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ H1N1 ในชื่อของไข้หวัดหมูและไข้หวัดสเปน | หากสงสัยว่า ไข้หวัดสายพันธุ์ A อันตรายไหม ขอตอบได้เลยว่า ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้มีอาการและความรุนแรงเทียบเท่ากับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่กลุ่มเสี่ยงอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน |
2. สายพันธุ์ A / H3N2 | ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A / H3N2 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อของ ‘ไข้หวัดฮ่องกง’ ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปมากถึง 4 ล้านคน | มีอาการคล้ายคลึงกับการติดเชื้อ COVID-19 เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ จาม มีน้ำมูกและเสมหะ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย |
3 และ 4 สายพันธุ์ B – Victoria และ B – Yamagata | ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ทั้ง Victoria และ Yamagata เป็นไวรัสที่มักระบาดในช่วงฤดูหนาว หรือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงมีนาคม | โดยทั่วไปแล้ว การติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ B จะมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีอัตราการพบได้น้อยกว่าสายพันธุ์ A โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี |
อย่างไรก็ดี สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ 4 สายพันธุ์นี้เท่านั้น แต่ในอดีต เชื้อไวรัสไข้หวัดยังครอบคลุมไปถึง ‘ไข้หวัดนก’ (H5N1) และ ‘Asian Flu’ (H2N2) ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยในไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อีกที
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกันแล้ว ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่บ่อยกว่าสายพันธุ์ B เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ A เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกับสัตว์ต่าง ๆ ได้ ในขณะที่สายพันธุ์ B จะมีการติดต่อและแพร่เชื้อในมนุษย์เท่านั้น
7 วิธีดูแลตัวเองขณะที่เป็นไข้หวัดใหญ่
โดยส่วนมากแล้ว หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถหายเองได้ โดยในระหว่างที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำให้ดูแลตัวเอง ดังนี้
- ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยพาราเซตตามอล ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้กลุ่มยาแอสไพริน หรือพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อไวรัส ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
- เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือ น้ำธรรมดา เพื่อลดไข้
- พักผ่อนให้เพียงพอ งดทำกิจกรรมหนัก และออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เน้นให้ครบ 5 หมู่
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ กลุ่มเสี่ยงข้างต้น หรือ หากจำเป็นจริง ๆ ควรใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูงต่อเนื่อง 2 – 3 วัน มีอาการหายใจลำบาก หน้ามืด แน่นหน้าอก หรือ โรคประจำตัวกำเริบหนัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
6 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่หลายคนยังไม่รู้
ไม่ว่าจะเป็นจนหายแล้ว หรือ ยังไม่เคยเป็นมาก่อน การป้องกันตัวเองเอาไว้ก็สามารถช่วยลดโอกาสติดเชื้อและความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน โดยทุกคนสามารถป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่ง่าย ๆ ดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือ น้ำเปล่าและสบู่
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รวมไปถึงการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ใช้ช้อนกลาง และ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด พื้นที่เสี่ยง หรือ หากจำเป็น ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่
Q&A Sunday ตอบให้! Q: ฉีดวัคซีนแล้ว ทำไมยังเป็นไข้หวัดใหญ่อยู่? A: การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถ ‘ลดความรุนแรงและความเสี่ยงในการเสียชีวิต’ จากโรคไข้หวัดใหญ่ได้แบบปีต่อปีเท่านั้น โดยหลังจากฉีดวัคซีน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาภายใน 2 สัปดาห์ โดยหากครบกำหนด 1 ปีแล้วต้องรีบไปฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป |
จบลงไปแล้วกับทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่อาการไข้หวัดในเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงสายพันธุ์ของไวรัส ตลอดจนแนวทางการดูแลตัวเองเบื้องต้นและวิธีป้องกันไข้หวัดอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้จะเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ แต่การรักษาไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ไม่เพียงแต่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เท่านั้น แต่บางเคสยังจำเป็นต้องใช้ เครื่องมือและยารักษาเฉพาะ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงควบคู่ไปกับทำ ประกันสุขภาพออนไลน์ จาก Sunday จึงไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณและคนที่รักเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เคลมสะดวกผ่านแอปฯ อนุมัติไว* ติดตามสถานะการเคลมได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง พร้อมเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาจากโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ