หน้าหลัก สาระสุขภาพ ฮีทสโตรกเกิดจากอะไร ต้องป้องกันอย่างไร

ฮีทสโตรกเกิดจากอะไร ต้องป้องกันอย่างไร

heat stroke

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดเป็นหนึ่งในอันตรายที่มาพร้อมกับช่วงอากาศร้อนจัด ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกายอย่างรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ Sunday มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมแดด วิธีป้องกันโรคลมแดดและการรักษามาให้ทุกคนได้เก็บข้อมูลกัน หน้าร้อนนี้จะได้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอันตรายนี้ได้อย่างถูกต้อง


โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกคืออะไร

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไปหรือมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนที่มีอากาศร้อนจัด มักพบได้ในผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือการออกกำลังกายหนัก ๆ ในพื้นที่อากาศร้อนจัด ส่งผลทำให้ระบบระบายความร้อนของร่างกายทำงานได้ไม่ทัน ร่างกายจึงสะสมความร้อนเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดโรคลมแดด จะมีอาการดังต่อไปนี้ได้

  • รู้สึกร้อนมาก ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก ผิวแห้งแดง
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ ปวดหัวรุนแรง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกอ่อนแรง บางรายเหมือนจะเป็นลม
  • รู้สึกหิวน้ำมากผิดปกติ

เมื่อเกิดอาการเบื้องต้นเหล่านี้แล้วร่างกายยังไม่สามารถระบายความร้อนตามปกติได้ จะส่งผลทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น เห็นภาพหลอน พูดไม่ชัด เดินไม่ตรง พูดจนสับสน และอาจทำให้เกิดการชัก หมดสติ บางรายอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้


ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดด

นอกจากคนที่ทำงานกลางแจ้งและผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ แล้ว บุคคลบางกลุ่มและผู้ป่วยบางโรคก็ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดฮีทสโตรกด้วยเช่นกัน กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังคือ

  • เด็ก ๆ และผู้สูงอายุ เพราะมีระบบการระบายความร้อนของร่างกายที่ไม่ดีเท่าผู้คนวัยเจริญพันธุ์
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคหัวใจ
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง เพราะทำให้ร่างกายทำงทานได้ไม่เต็มที่
  • กลุ่มผู้ทำเกษตรกรรม ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ บ่อย ๆ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน โรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน

เป็นลมแดด ต้องปฐมพยาบาลอย่างไรบ้าง

หากพบเห็นผู้ที่หมดสติในอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่มีสัญญาณของอาการโรคลมแดด สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ง่าย ๆ เพื่อช่วยเหลือระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลดังต่อไปนี้

  • นำผู้ป่วยเข้าสู่ที่ร่ม แนะนำว่าให้เป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
  • เปิดพัดลมได้ เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศ และการระบายความร้อน
  • ให้จัดตัวผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาขึ้นสูงกว่าศีรษะ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • คลายกระดุม เข็มขัดและถอดรองเท้าให้กับผู้ป่วย เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดเช็ดตัวให้ผู้ป่วย โดยเช็ดทางเดียวจากปลายขาขึ้นมาบริเวณหัวใจ
  • สามารถนำน้ำแข็งมาประคบเย็นตามจุดชีพจรเพื่อคลายความร้อนให้ร่างกายได้
  • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่มีความเย็นเล็กน้อย เพื่อระบ่ายความร้อนและช่วยเพิ่มระดับน้ำในร่างกาย หรือให้น้ำเกลือแร่
  • หากผู้ป่วยหมดสติหรือเกิดอาการชัก ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดหรือโทร 1699 เพื่อเรียกรถพยาบาล

หากผู้ป่วยหมดสติและได้รับการรักษาช้าเกินไป อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการหลังเป็นฮีทสโตรกอย่างอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น เกิดอาการสมองบวม เซลล์ประสาทถูกทำลาย กล้ามเนื้อโครงร่างถูกทำลาย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน


ฮีทสโตรกมีวิธีรักษาอย่างไรเมื่อไปถึงโรงพยาบาล

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เมื่อถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้วทีมแทพย์จะรักษาตามอาการ แต่เบื้องต้นจะเป็นการโฟกัสไปที่การลดอุณหภูมิของร่างกายให้กลับมาสู่ภาวะปกติ โดยอาจจะมีการใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบตามข้อพับ การใช้ผ้าห่มเย็น การพ่นละอองน้ำลงบนร่างกาย ในบางกรณี ทีมแพทย์อาจจะมีการให้ยาที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติมหลังจากลดอุณหภูมิของร่างกายแล้ว ก็จะมีการรักษาทางการแพทย์ตามอาการต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นการรักษาต่อเนื่องได้หากเกิดผลกระทบรุนแรงกับระบบการทำงานของร่างกาย


วิธีป้องกันโรคลมแดด

เห็นข้อมูลเกี่ยวกับความน่ากลัวของโรคลมแดดแล้ว Sunday รวบรวมเอาวิธีป้องกันหรือวิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกมาให้ทุกคนได้ลองนำไปปรับใช้กัน จะได้ปลอดภัยกันตลอดหน้าร้อนที่มีอากาศร้อนจัดแบบนี้

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าลินิน เสื้อผ้าสีอ่อน สวมหมวกหรือเสื้อป้องกันรังสี UV เพิ่มเติมได้เมื่อต้องเดินทางออกไปข้างนอกเป็นเวลานาน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะช่วงที่แดดออกเต็มที่ตั้งแต่ก่อนเที่ยงถึงช่วงสี่โมงเย็น
  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำ เพื่อช่วยปกป้องผิวและความอันตรายจากรังสี UV
  • อาบน้ำเย็นหรือที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรอาบน้ำอุ่น เพื่อช่วยทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดี
  • ไม่ควรปล่อยให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด
  • หากมีเหงื่อออกค่อนข้างมาก แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่าบ้าง เพื่อช่วยชดเชยเกลือแร่ที่เสียออกไปทางเหงื่อ
  • หากไม่มีเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน แนะนำให้เปิดหน้าต่างและประตู พร้อมเปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลา
heat-stroke-โรคลมแดด-ผู้ชายกำลังดื่มน้ำในครัว

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเจออากาศร้อนจัด

ใครที่หลีกเลี่ยงการออกไปทำงานนอกบ้านหรืออยู่กลางแจ้งช่วงที่อากาศร้อนจัดไม่ได้ Sunday มีวิธีดูแลตัวเองเมื่อเจออากาศร้อนจัดมาไว้ให้ได้นำไปปรับใช้กันด้วย

  • เลือกสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว แต่ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด
  • เลือกเสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันความร้อนจากรังสี UV ได้ เช่น เสื้อคลุมกันแสง UV เพราะช่วยทำให้ลดความร้อนได้ดี
  • หากต้องออกกำลังกายหนัก ๆ ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เหมาะกับการออกกำลังกาย
  • พกขวดน้ำติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อจิบเป็นระยะ ๆ เมื่อเจออากาศร้อนจัด ทำให้มั่นใจว่าร่างกายได้รับน้ำดื่มที่เพียงพอ
  • ใช้พัดลมขนาดพกพา เพื่อช่วยระบายความร้อนเมื่ออากาศร้อนจัด
  • เข้าพักในที่ร่มเมื่อมีโอกาส นั่งพักให้ร่างกายได้ทำงานน้อยลง ลดอุณหภูมิลง ก่อนที่จะกลับออกไปกลางแจ้งอีกครั้ง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งผู้คนใกล้เคียง และเฝ้าระวังอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด
  • หากรู้สึกร้อนมาก ๆ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดตามร่างกายได้ เพื่อช่วยระบายความร้อนได้อีกทางหนึ่ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน

ดูแลตัวเองให้ถูกวิธี ปลอดภัยหายห่วง

หากได้นำวิธีดูแลตัวเองในช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้ไปปรับใช้แล้ว Sunday บอกเลยว่าจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคลมแดดได้อย่างแน่นอน สำหรับใครที่มีคนรู้จักเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้ได้อ่านเก็บข้อมูลกันด้วยนะ

ถึงจะดูแลตัวเองดีมากแค่ไหน บางครั้งก็เกิดสิ่งไม่คาดฝันได้ ดังนั้นการเลือกซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทุกความต้องการเอาไว้จึงเป็นความคิดที่น่าสนใจเลยทีเดียว แนะนำให้เลือกซื้อประกันสุขภาพออนไลน์กับ Sunday พร้อมรับความคุ้มครองที่เมคเซนส์ในเบี้ยประกันที่เหมาะสม เช็กเบี้ยประกันกรอกแค่ข้อมูล ‘วันเดือนปีเกิด’ ไม่ต้องกรอกรายละเอียดอื่น ๆ ให้วุ่นวาย


Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

นอนเยอะแต่เหมือนนอนไม่พอ คุณอาจจะเป็นโรคนอนเกิน!

นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ อาจเป็นโรคนอนเกินได้นะ! มีใครเคยเป็นบ้าง นอนเต็ม 8 ชั่วโมงก็แล้ว 12 ชั่วโมงก็แล้ว…
oversleeping-symptoms-feeling-tired-despite-sleeping-a-lot

หนาวนี้ ดูแลตัวเองยังไงให้ห่างไกลจากโรคที่มากับหน้าหนาว

ระวังโรคช่วงหน้าหนาว พร้อมวิธีดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยน เผลอแปปเดียวก็จะสิ้นปีอีกแล้ว ช่วงใกล้หน้าหนาวแบบนี้…
winter-health-tips-prevent-cold-season-illnesses
0
Share