การซื้อประกันสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยบริหารความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อย่างไรก็ดี ประกันสุขภาพในปัจจุบันกลับมีให้เลือกหลายกรมธรรม์จากบริษัทประกันมากมาย จนทำให้ใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือใหม่หัดซื้อประกันสุขภาพหลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า หากต้องการซื้อประกันสุขภาพให้ตอบโจทย์ จะต้องดูอะไรบ้าง
สำหรับใครที่ยังไม่มีประสบการณ์การซื้อประกันสุขภาพด้วยตัวเองมาก่อน ลองมาดู 3 เรื่องสำคัญที่นำมาฝากในบทความนี้ เพื่อเป็น พื้นฐานช่วยเลือกประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ตัวเองมากที่สุดกัน
รู้จักประกันสุขภาพให้มากขึ้น
การซื้อประกันสุขภาพไม่เคยใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการซื้อประกันสุขภาพมาก่อน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า มือใหม่หัดซื้อประกันจะไม่สามารถเลือกทำประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์กับตัวเองมากที่สุดได้
โดยพื้นฐานการเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เหมาะสมไม่ได้เริ่มต้นจากการพิจารณาเบี้ยประกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ก่อนจะไปดูว่าการซื้อประกันสุขภาพจำเป็นต้องดูอะไรบ้าง ในส่วนนี้ลองมาปูพื้นฐานความรู้ด้านประกันสุขภาพที่ถูกต้องกันก่อนดีกว่า!
ประกันสุขภาพคืออะไร?
การเจ็บป่วยทุกรูปแบบมีต้นทุนที่ต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางเวลาที่เสียไปในระหว่างรักษาตัว ต้นทุนที่ต้องเสียจากการขาดรายได้ ไปจนถึงต้นทุนทางค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาล แน่นอนว่าต้นทุนดังกล่าวนี้ถือเป็นความเสี่ยงชิ้นใหญ่ที่ผู้ป่วยต้องแบกรับเช่นเดียวกัน
ประกันสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทประกันภัยที่สามารถช่วยผู้เอาประกันบริหารความเสี่ยงทาง ‘ต้นทุน’ ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันสุขภาพที่เลือกทำ
เช่น ประกันสุขภาพทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม ในขณะที่ประกันสุขภาพบางประเภทสามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปจากการเจ็บป่วย นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบางประเภทยังมีการกำหนดความคุ้มครองเฉพาะโรค โรคเฉพาะทาง หรือ คุ้มครองเพียง 1 โรคเท่านั้น
ประกันสุขภาพมีกี่แบบ?
ประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของกรมธรรม์ บริษัทประกัน ไปจนถึงความคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้ ใครหลายคนคงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า ประกันสุขภาพมีกี่แบบกันแน่
โดยทั่วไปแล้ว การแบ่งประเภทประกันสุขภาพสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ดังนี้
1. การแบ่งประเภทตามความคุ้มครอง ประกอบไปด้วย
- ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง ให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เทคโนโลยีการรักษา แพทย์ รวมไปถึงยารักษาเฉพาะทาง ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง
- ประกันสุขภาพแบบชดเชยรายได้ ให้ความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาล ทั้งยังมีการจ่ายสินไหมทดแทนในกรณีที่ป่วย บาดเจ็บ หรือจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและการสร้างรายได้
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) ให้ความคุ้มครองในกรณีที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ครอบคลุมไปถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องและอาหาร ไปจนถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเฉพาะกรณีที่ไม่ต้องรักษาตัวในสถานพยาบาล
- ประกันอุบัติเหตุ ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่บาดเจ็บ หรือ จำเป็นต้องรักษาตัวจากเกิดอุบัติเหตุ เงื่อนไขความคุ้มครองจะแตกต่างกันไปตามกรมธรรม์ เช่น ประกันอุบัติเหตุบางตัวอาจคุ้มครองครอบคลุมกรณีทุพพลภาพ ในขณะที่ประกันอุบัติเหตุอีกตัวอาจไม่ได้คุ้มครอง
2. การแบ่งประเภทตามจำนวนผู้เอาประกัน ประกอบไปด้วย
- ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันเพียงรายเดียว
- ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม ให้ความคุ้มครองหลายคนภายใต้กรมธรรม์เดียว เช่น ประกันสุขภาพสำหรับธุรกิจ บริษัท หรือ องค์กร ที่ให้ความคุ้มครองพนักงานภายใต้กรมธรรม์เดียวกัน
ประกันสุขภาพต่างจากประกันชีวิตอย่างไร?
แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยบริหารความเสี่ยงในชีวิตเหมือนกัน แต่ประกันสุขภาพและประกันชีวิตนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน
ประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ค่ายารักษา ไปจนถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบางตัวยังมีการชดเชยค่าใช้จ่ายในกรณีที่เสียชีวิตอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ดี การซื้อประกันชีวิตยังสามารถเลือกกรมธรรม์ที่สามารถสะสมทรัพย์ สร้างผลตอบแทน หรือ เลือกผู้รับผลประโยชน์ได้ตามต้องการ
ประกันสุขภาพไม่คุ้มครองอะไรบ้าง?
เมื่อพูดถึงการทำประกันสุขภาพ คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินถึง 9 โรคที่ประกันไม่คุ้มครอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นจะต้องทำประกันโรคร้ายแรงแยกต่างหาก แต่โดยพื้นฐานแล้ว ประกันสุขภาพจะไม่ให้ความคุ้มครองตามกรณีต่อไปนี้
- โรคที่เป็นมาก่อนทำประกันสุขภาพ
- โรคที่อยู่ในระหว่างการรักษา
- โรคและความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- การตั้งครรภ์ คลอดบุตร แท้ง รวมไปถึงการรักษาภาวะมีบุตรยาก
- โรคที่เกิดจากสภาวะจิตเวช และ สภาวะจิตใจ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือ ทำร้ายตัวเอง
- การเจ็บป่วยที่เกิดจากการก่ออาชญากรรม เช่น การจับกุม การหลบหนีการจับกุม
- การเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้สารและยาเสพติด
- การเจ็บป่วยจากการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายในขณะที่รู้สึกผิดชอบและวิกลจริต
นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบางกรมธรรม์ยังมีการกำหนดระยะรอคอยได้สูงสุด 180 วันเพื่อลดข้อพิพาทเรื่องโรคและข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันสุขภาพ ที่สำคัญ ประกันสุขภาพบางกรมธรรม์ยังมีการกำหนดข้อยกเว้นเฉพาะบุคคล (Personal Exclusion) เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพเฉพาะ หรือ มีเงื่อนไขการรักษาโรคบางอย่าง
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขเฉพาะ ระยะรอคอย รวมถึงรายละเอียดเฉพาะอื่น ๆ จะแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดของบริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง ดังนั้น นอกจากจะเข้าใจว่า ประกันสุขภาพมีกี่ประเภท ตลอดจนรายละเอียดพื้นฐานของประกันสุขภาพแล้ว อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขเฉพาะของประกันสุขภาพแต่ละแห่งด้วย
Q&A Sunday ตอบให้! Q : ระยะรอคอยคืออะไร? A : ระยะรอคอย (Waiting Period) คือ ระยะเวลาที่ทำประกันไปแล้ว แต่ผู้เอาประกันจะไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เอาประกันนั้นไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงใด ๆ มาก่อนทำประกันสุขภาพ โดยระยะรอคอยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัทให้ความคุ้มครอง ส่วนใหญ่แล้วจะมีด้วยกัน 3 ช่วงเวลา ดังนี้ – 30 วัน สำหรับโรคทั่วไป – 60 วัน สำหรับโรคร้ายแรง – 120 วันหรือมากกว่า สำหรับโรคร้ายแรงตามเงื่อนไข |
เทคนิควางแผนซื้อประกันสุขภาพให้ตอบโจทย์
หลังจากที่มีพื้นฐานความรู้ด้านประกันสุขภาพที่ครอบคลุมแล้ว สำหรับใครที่สงสัยอยู่ว่า ซื้อประกันสุขภาพต้องดูอะไรบ้าง มีเทคนิคใดที่จะช่วยให้ซื้อประกันสุขภาพได้ตอบโจทย์อย่างรอบด้านบ้าง ลองมาดู 3 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนเลือกกรมธรรม์และประกันสุขภาพที่ลงตัวกับทุกความต้องการกัน
1. เข้าใจความเสี่ยงของสุขภาพตัวเอง
ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพสักฉบับ นอกจากจะพิจารณาถึงความคุ้มครองที่จะได้รับแล้ว อย่าลืมพิจารณาถึงความเสี่ยงของสุขภาพตัวเองร่วมด้วย
ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน โรคระบาดในพื้นที่ อาการเจ็บป่วยที่เป็นบ่อย ไปจนถึงโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับบริษัทประกันภัย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรามากที่สุด
2. วางแผนการเงินให้รอบคอบ
ประกันสุขภาพแต่ละประเภทของแต่ละบุคคล นอกจากจะให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีเบี้ยประกันสุขภาพที่แตกต่างกันด้วย
ดังนั้น หากไม่อยากให้ประกันสุขภาพส่งผลกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินมากนัก อย่าลืมวางแผนการเงินของตัวเองให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการค้างชำระเบี้ยประกันบ่อยครั้ง หรือ ติดต่อกันหลายแห่ง อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือ โดนบอกเลิกประกันได้ โดยพื้นฐานแล้ว เบี้ยประกันสุขภาพที่ไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินโดยรวมควรจะอยู่ไม่เกิน 20% ของรายได้ทั้งหมด
3. เลือกประเภทและแผนประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์
ประกันสุขภาพแต่ละประเภทสามารถให้ความคุ้มครองและตอบโจทย์ความต้องการได้แตกต่างกัน เช่น ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง แม้จะมีค่าเบี้ยประกันที่สูง แต่ก็ให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน ในขณะที่ประกันสุขภาพทั่วไปสามารถให้ความคุ้มครองแค่การเจ็บป่วยทั่วไปเท่านั้น
ดังนั้น นอกจากจะเลือกเบี้ยประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินแล้ว ขอแนะนำให้เลือกความคุ้มครองที่เมคเซนส์กับชีวิต ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมในเบี้ยประกันที่เหมาะสมด้วย
แม้จะเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า การซื้อประกันสุขภาพต้องดูอะไรบ้าง แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้เอาประกันอย่างเรา ๆ เองก็ไม่สามารถเลือกความคุ้มครองเองได้ ทำให้ได้รับประกันสุขภาพที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด ทั้งยังมีเบี้ยประกันที่สูงเกินกว่าความจำเป็นอีกด้วย
ซื้อประกันสุขภาพออนไลน์กับซันเดย์ ตอบโจทย์ด้วยการเช็กเบี้ยประกันและความคุ้มครองง่าย ๆ โดยใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ พร้อมเลือกเปรียบเทียบความคุ้มครองที่เมคเซนส์กับตัวเองได้อย่างสะดวก สามารถเข้าใช้บริการกับโรงพยาบาลในเครือข่ายได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย แถมยังสามารถรับประสบการณ์ประกันภัยแบบครบจบในที่เดียวผ่านซูเปอร์แอปฯ Jolly by Sunday สะดวก ง่าย ทำชีวิตให้ง่ายในราคาที่ใช่ เลือกซื้อประกันออนไลน์กับซันเดย์