เมื่อเริ่มหันมาดูแลสุขภาพ ใครหลายคนมักเริ่มต้นจากการปรับอาหารการกินเป็นอย่างแรก ซึ่งไม่เพียงแต่จะหันมารับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ตลอดจนผักและผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น Superfood อย่าง ‘อะโวคาโด’ เองก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่หลายคนหันมารับประทานมากขึ้นเช่นกัน
แล้วอะโวคาโดคืออะไร มีประโยชน์และโทษกับร่างกายอย่างไรบ้าง จะมีวิธีเลือกอะโวคาโดให้ได้รสชาติที่ต้องการอย่างไร หรือมีเรื่องไหนของอะโวคาโดที่ต้องทำความเข้าใจก่อนรับประทานบ้าง มาไขทุกข้อสงสัยไปพร้อมกันเลย!
รู้จัก ‘อะโวคาโด’ ให้มากขึ้น
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า อะโวคาโดเป็น Superfood หรือ Superfruit ที่ช่วยลดน้ำหนักและไขมันได้ แถมอะโวคาโดยังมีรสชาติที่หอมมัน ทำให้นำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้หลากหลายเมนู
แต่ในความเป็นจริงแล้ว อะโวคาโดจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเหมือนที่หลายคนเข้าใจหรือไม่ ลองมาทำความเข้าใจรายละเอียดของอะโวคาโดให้มากขึ้นในส่วนนี้กัน
อะโวคาโดคืออะไร?
อะโวคาโด (Avocado) คือ ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกา นิยมปลูกมากในประเทศแถบเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา กัวเตมาลา และหมู่เกาะเวสอินดีส ในปัจจุบันนี้ อะโวคาโดเป็นหนึ่งผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปและชาวอเมริกันที่นิยมนำอะโวคาโดมาปรุงเป็นเมนูเพื่อสุขภาพมากมาย
นอกจากจะนำมารับประทานสด ตลอดจนนำไปปรุงเป็นเมนูเพื่อสุขภาพได้ตามต้องการแล้ว อะโวคาโดยังถูกนำมาสกัดเป็น ‘น้ำมันอะโวคาโด’ ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร บำรุงผิว รวมถึงบำรุงเส้นผมได้ ทำให้ร่างกายสามารถได้รับคุณประโยชน์จากอะโวคาโดได้ครบทุกส่วนยิ่งขึ้น
อะโวคาโดมีกี่สายพันธุ์
เดิมทีอะโวคาโดเป็นผลไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา ซึ่งได้เริ่มเข้ามาสู่ทวีปเอเชียครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ และหลังจากนั้นไม่นาน มิชชันนารีชาวสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มนำอะโวคาโดมาปลูกในประเทศไทยที่จังหวัดน่าน
ในปัจจุบันนี้ อะโวคาโดมีด้วยกันมากถึง 500+ สายพันธุ์ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ใครหลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า อะโวคาโดพันธุ์ไหนอร่อยมากที่สุด
แต่เนื่องจากความชอบที่แตกต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า อะโวคาโดพันธุ์ไหนอร่อยมากที่สุด ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกับ 6 สายพันธุ์อะโวคาโดยอดนิยมในปัจจุบันกัน ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีรสสัมผัสที่แตกต่างกัน ดังนี้
- Hass
เป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่เริ่มปลูกมาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1920 โดยตัวอะโวคาโดสายพันธุ์นี้จะมาพร้อมกับเนื้อครีมเนียนละเอียด ทั้งยังมีความหอมและมัน ทำให้นำมาปรุงได้หลายเมนู หรือจะทานสดก็ได้เช่นกัน ทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทยและทั่วโลก
- Fuerte
เป็นอะโวคาโดสายพันธุ์ส่งออกของประเทศเม็กซิโกที่ได้รับการปลูกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1914 ตัวเนื้อมาพร้อมกับสัมผัสที่เนียนละเอียดมาก ทั้งยังมีความหอมและกลิ่นเฮเซลนัทอบอวลในขณะที่ทาน จึงทำให้หลายคนนิยมทาน Fuerte แบบสดมากกว่า
- Pinkerton
เป็นอะโวคาโดที่เริ่มปลูกครั้งแรกในปีค.ศ. 1970 ที่แถบแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์แรก ๆ ที่สามารถปลูกบริเวณที่มีอากาศร้อนได้ โดยหลายคนได้อธิบายถึงอะโวคาโด Pinkerton เอาไว้ว่ามีรสชาติมันคล้ายถั่วมากกว่าสายพันธุ์อื่น
- Booth 7
เป็นอะโวคาโดสายพันธุ์ที่ผสมขึ้นจากพันธุ์ Guatemalan และ West Indian มาพร้อมกับเนื้อที่เหนียวและรสชาติที่มัน ทำให้เหมาะแก่การรับประทานสด หรือ นำมาทานเป็นสลัด
- Buccaneer
มีรสชาติคล้ายสายพันธุ์ Hass ที่มีเนื้อเนียนละเอียดและความหอมมัน แต่จะมีขนาดลูกที่ใหญ่กว่า Hass เป็นอย่างมาก
- Peterson
อะโวคาโดลูกกลม มาพร้อมกับเนื้อที่ไม่เหนียวหรือนุ่มจนเกินไป ทั้งยังมีรสชาติที่มันและมีความหวานอ่อน ๆ
Sunday Tips! รู้หรือไม่? อะโวคาโดพันธุ์พื้นเมือง คือ การนำเมล็ดอะโวคาโดจากต่างประเทศเข้ามาปลูก ทำให้มีโอกาสกลายพันธุ์และกลายเป็นพันธุ์พื้นเมืองในที่สุด โดยคุณภาพของอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลของเกษตรกร พื้นดิน สภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงสายพันธุ์แรกเริ่มที่นำมาปลูก หลาย ๆ ครั้ง อะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองเองก็มีรสชาติเฉพาะตัวจนเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคนเช่นกัน |
เคล็ดลับเลือกและเก็บอะโวคาโดที่หลายคนไม่รู้!
เพราะ ‘การเลือก’ และ ‘การเก็บ’ เป็นหัวใจสำคัญที่กำหนดความอร่อยของอะโวคาโดแทบจะทุกสายพันธุ์ สำหรับใครที่ต้องการลิ้มลองความกลมกล่อมของอะโวคาโดได้อย่างเต็มที่ ลองมาดูเคล็ดลับการเลือกและเก็บอะโวคาโดแบบง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำตามได้กัน
3 วิธีเลือกอะโวคาโด
- ดูสีเปลือก หากยิ่งสีเข้ม หรือ มีสีดำมากเท่าไหร่ อะโวคาโดก็จะยิ่งสุกมากเท่านั้น
- ดูสีขั้ว หากขั้วเป็นสีเขียว แปลว่ายังดิบอยู่ แต่หากเป็นสีน้ำตาลเข้ม แปลว่าสุกจนเริ่มงอมแล้ว ถ้าจะให้ดี ควรเลือกอะโวคาโดที่มีขั้วสีน้ำตาลเหลือง เพราะจะได้รับประทานเนื้อที่กำลังสุกพอดี
- ความนิ่มของเนื้อ หากลองบีบเบา ๆ แล้วพบว่าเนื้อนิ่มพอดี ไม่นิ่มจนเหลว แปลว่าอะโวคาโดกำลังสุกพร้อมทาน แต่ถ้าจะให้ชัวร์ ลองดูสีเปลืองและสีขั้วร่วมกันด้วย
วิธีเก็บอะโวคาโดให้สุกช้า
หากใครซื้ออะโวคาโดมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถรับประทานได้ในขณะนี้ ขอแนะนำให้นำกระดาษทิชชูมาห่ออะโวคาโด พร้อมนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น เพียงเท่านี้ก็ช่วยรักษาและยืดอายุอะโวคาโดได้นานขึ้นแล้ว
วิธีเก็บอะโวคาโดให้สุกเร็ว
สำหรับใครที่ดันซื้ออะโวคาโดที่ยังไม่สุกดีมา ขอแนะนำให้นำอะโวคาโดไปไว้ที่บริเวณอุณหภูมิห้องโดยที่ไม่ต้องนำเข้าตู้เย็น หรือ จะนำใส่ถุงกระดาษร่วมกับผลไม้ที่สุกแล้วก็ได้เช่นกัน โดยผลไม้ที่สุกแล้วมักจะปล่อยก๊าซเอทิลีนที่ช่วยทำให้ผลไม้ที่อยู่ใกล้เคียงสุกเร็วขึ้นได้
อะโวคาโดมีประโยชน์อย่างไร?
อะโวคาโดถือเป็นหนึ่งใน Superfood หรือ Superfruit ที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว หรือ Monounsaturated Fat (MUFA) ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณ Low-density Lipoprotein (LDL) หรือ ‘ไขมันเลว’ ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ รวมไปถึงโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด
ที่สำคัญ อะโวคาโดยังมีสารแทนนิน ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบของร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้ การรับประทานอะโวคาโดอย่างเหมาะสม จึงมีส่วนช่วยสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้
นอกจากนี้ อะโวคาโดยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายจำนวนมาก ทั้งยังเป็นผลไม้ที่มีโปรตีนสูง ตลอดจนมีวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินบี วิตามินซี วิตามินเค และวิตามินอี ทั้งยังมีโฟเลทที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง ตลอดจนมีโพแทสเซียมที่มีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย
อะโวคาโดมีข้อเสีย หรือ โทษกับร่างกายหรือไม่?
เช่นเดียวกับผลไม้ประเภทอื่น อะโวคาโดเองก็มีข้อเสียเช่นกัน โดยอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีไขมันสูงมาก จึงควรรับประทานเพียงแค่วันละ 1 ลูกเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตรยังควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากอะโวคาโดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่การรับประทานอะโวคาโดดิบกลับส่งผลเสียกับร่างกายได้ โดยอะโวคาโดดิบ ไม่เพียงแต่จะมีกลิ่นเหม็นเขียวเท่านั้น แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว อาจทำให้ท้องผูก เวียนหัว และปวดศีรษะได้
ที่สำคัญ อะโวคาโดสายพันธุ์จากเม็กซิกันยังอุดมไปด้วยสารประกอบ estragolei และ anetholei ที่เป็นอันตรายต่อตับ มากไปกว่านั้น อะโวคาโดยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและเลือดจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอะโวคาโดในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานทุกครั้ง
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยเหมือนกันว่า “อะโวคาโดห้ามกินกับอะไรบ้าง” คำตอบ คือ อะโวคาโดนั้นไม่ควรรับประทานคู่กับผลไม้ที่มีแป้งสูง เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก อินทผลัม และองุ่น เนื่องจากอาจทำให้ท้องอืดและอาหารไม่ย่อยได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวของอะโวคาโดที่นำมาฝาก เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงหมดสงสัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า อะโวคาโดควรกินกับอะไร ควรเลือกพันธุ์ไหนไปทำเมนูง่าย ๆ ตลอดจนได้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของอะโวคาโดมากขึ้นอย่างแน่นอน
เพียงเท่านี้ ทุกคนก็สามารถรับประทานอะโวคาโดได้อย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพแล้ว แต่นอกจากจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว อย่าลืมวางแผนรับมือความเสี่ยงที่มาจากสุขภาพด้วยการเลือกทำประกันสุขภาพออนไลน์จาก Sunday เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่มาจากการรักษาพยาบาลด้วย เช็กเบี้ยประกันเองได้ง่าย ๆ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ เท่านั้น