สัมภาษณ์งานมาหลายที่ก็ยังถูกเลือกให้เป็นผู้ที่ผิดหวัง แต่รอบนี้ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไป สำหรับใครที่ฝ่าฟันรอบแบบทดสอบจนมาถึงรอบการสัมภาษณ์งานแล้ว แต่ยังรู้สึกกลัวว่าจะมาตกม้าตายในรอบนี้ ลองมาดู 7 เทคนิคเตรียมสัมภาษณ์งานที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์ราบรื่น สร้างความประทับใจ แถมไม่มาย้อนทำร้ายตัวเองหลังได้งานไปแล้ว
1. ศึกษาตัวงาน บริษัท และตัวเองก่อนไปสัมภาษณ์งาน
การตอบคําถามสัมภาษณ์งาน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทเห็นทักษะในการทำงาน การแก้ปัญหา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวสะท้อนความใส่ใจที่ผู้สมัครมีต่อบริษัทด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หากไม่อยากพลาดท่าเรื่องการสัมภาษณ์งาน นอกจากจะเตรียมการแนะนําตัวสัมภาษณ์งาน หรือฝึกตอบคำถามที่เจอบ่อยในการสอบสัมภาษณ์งานแล้ว ผู้สมัครยังควรศึกษาตัวงานและบริษัทให้ครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเภทธุรกิจ กลุ่มลูกค้า ช่องทางการตลาด วัฒนธรรมองค์กร สินค้าและบริการหลัก ไปจนถึงปัญหาที่มักพบเจอบ่อย ๆ ในธุรกิจ
การศึกษาตัวงานและบริษัทอย่างรอบด้านนี้ จะถือเป็นการเรียนรู้ธุรกิจของบริษัทที่สนใจไปในตัว ตลอดจนเป็นการถามใจตัวเองไปพร้อมกันว่า จริง ๆ แล้ว เราอยากทำงานที่บริษัทแห่งนี้มากน้อยแค่ไหนกันแน่
2. ฝึกการฟังและจับใจความคำถามของผู้สัมภาษณ์
เมื่อเข้าถึงรอบการสัมภาษณ์งาน เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเริ่มเตรียมตัวจากการค้นหาว่า ‘การสัมภาษณ์งานถามอะไรบ้าง’ แล้วค่อยลิสต์คำถามและฝึกสร้างคำตอบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคำถาม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงแต่จะลิสต์คำถามและฝึกการตอบเท่านั้น แต่ผู้สมัครยังควรฝึกการฟังและจับใจความคำถามด้วยเช่นกัน เพราะในบางครั้ง ผู้สัมภาษณ์อาจมีการเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานขึ้นมา จากนั้นจึงถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหลาย ๆ แง่มุม ซึ่งหากผู้สมัครจับใจความได้ไม่ครบ หรือ ตอบไม่ตรงคำถาม ก็อาจทำให้โดนตัดคะแนนการสัมภาษณ์ไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน
ดังนั้น เลือกคำถามสัมภาษณ์งานมาฝึกตอบ พร้อมพลิกแพลงคำถามหลาย ๆ แบบแล้ว อย่าลืมฝึกการฟังและจับใจความคำถาม เพื่อเลือกคำตอบที่เหมาะสม ตรงประเด็น และชัดเจนมากที่สุดด้วย
3. ตอบคำถามตามความเป็นจริงดีที่สุด
จริงอยู่ว่า การสัมภาษณ์งานควรจะต้องสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์มากที่สุด แต่การสร้างความประทับใจระหว่างสัมภาษณ์งานนี้ก็ควรมีขอบเขตและอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง มิเช่นนั้น ตัวเราอาจกำลังเป็นคนที่สร้างความคาดหวังผิด ๆ หรือ False Expectation ให้กับผู้สัมภาษณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานจริงได้
เช่น หากตอนสัมภาษณ์งานได้เล่าถึงอะไรที่ไม่อยู่บนหลักความเป็นจริง อย่างสกิลการทำงานของตัวเอง หรือ การแก้ปัญหาในกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน เมื่อเข้ามาทำงานจริงก็ย่อมรู้สึกได้ถึงความกดดันจากความคาดหวังที่ตัวเองสร้างเอาไว้เมื่อตอนสัมภาษณ์ มิหนำซ้ำยังอาจสร้างความขัดแย้งในที่ทำงานได้
ดังนั้น หากต้องการสร้างความสบายใจให้กับการทำงานของตัวเองในอนาคต ขอแนะนำให้ตอบคำถามตามความเป็นจริงทั้งหมด ชี้แจงให้เคลียร์ว่าตัวเองทำอะไรได้หรือไม่ได้ มีประสบการณ์ด้านไหนมาก่อน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือการเรียนรู้ในเพื่อต่อยอดและพัฒนาสกิลทั้งหมดบ้าง
4. สอบถามขอบเขตการทำงานให้ชัดเจนตั้งแต่แรก
การแนะนําตัวเองตอนสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่อย่าลืมสอบถามขอบเขตการทำงานของตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น KPIs หรือ OKRs จำนวนงานที่ต้องส่งในแต่ละวันหรือสัปดาห์ ผลลัพธ์ที่คาดหวังในแต่ละช่วงเวลา ลักษณะการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ไปจนถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือ Performance ตามสายงานของตัวเองทั้งหมด
การถามคำถามในส่วนนี้ตั้งแต่แรก ไม่เพียงแต่จะช่วยกำหนดการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ป้องกันการเพิ่มงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้ผู้สมัครได้เข้าใจถึงความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน ตลอดจนได้มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย
5. ไม่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีกับที่ทำงานเก่า
แต่ละคนย่อมมีเหตุผลในการเปลี่ยนงานที่แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนเองก็เปลี่ยนงานใหม่เพราะที่ทำงานเก่าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ไม่ได้เป็นเหมือนวันแรกที่เริ่มงาน ไปจนถึงเนื้องานและบริษัทที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่สมัครงานเข้ามาใหม่
แม้จะมีความในใจอยู่เป็นหมื่นล้านคำมากแค่ไหน แต่การแสดงทัศนคติไม่ดีกับที่ทำงานเก่าก็ส่งผลเสียต่อการสัมภาษณ์งานใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะการแสดงทัศนคติในการทำงานระหว่างสัมภาษณ์งานนี้ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงความเป็นมืออาชีพและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานอีกด้วย
ดังนั้น การแสดงทัศคติที่ไม่ดีต่อที่ทำงานเก่า ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่าหัวหน้า วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงประสบการณ์การทำงานที่ทำงานเก่า อาจจะไม่ได้เป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์งานใหม่มากนัก
6. อย่าลืมเตรียมคำถามที่ควรถาม HR และผู้สัมภาษณ์ให้เรียบร้อย
นอกจากจะหาวิธีแนะนำตัวเองตอนสัมภาษณ์งาน ตลอดจนตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้ชัดเจนและเหมาะสมแล้ว ผู้สมัครยังมีสิทธิ์ตั้งคำถามและสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ กับทางบริษัทที่สัมภาษณ์งานด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่จะได้รับ วัฒนธรรมองค์กร การทำงานและแก้ปัญหาในกรณีต่าง ๆ ไปจนถึงผลประกอบการและแผนการเติบโตของบริษัท ทั้งนี้เพื่อเป็นการประเมินและคาดการณ์อนาคตของตัวเองในบริษัทที่กำลังสัมภาษณ์งานด้วย
7. นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนไปสัมภาษณ์!
คืนก่อนวันสัมภาษณ์งานใหม่ เชื่อว่าใคร ๆ คงมีเรื่องคิดวนเวียนในหัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมตัวอย่างการตอบคำถามสัมภาษณ์งานอย่าง ‘ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่’ หรือ ‘เหตุผลที่อยากร่วมงานกับเรา’ ไปจนถึงคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่หากตอบคำถามสัมภาษณ์งานกับ HR หรือผู้สัมภาษณ์คนอื่น ๆ ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่ อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนคืนสัมภาษณ์ พร้อมวางแผนการเดินทาง รวมถึงแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นด้วย
จบลงไปแล้วกับ 7 เทคนิคการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์งานครั้งใหม่ราบรื่น ตรงประเด็น และมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ดี การสัมภาษณ์งานให้ได้งานขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่การพยายามตอบคำถามให้เต็มที่และดีที่สุดก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมนำทั้ง 7 เทคนิคที่นำมาฝากนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย
สู้กับการทำงานอย่างเต็มที่แล้ว อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมมองหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการดูแลสุขภาพอย่างการทำประกันสุขภาพออนไลน์จาก Sunday ที่จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับการเงินส่วนตัวที่เฝ้าพยายามทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด เช็กเบี้ยประกันสุขภาพออนไลน์ง่าย ๆ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ เท่านั้น