ไม่ว่าจะฤดูไหน อากาศร้อนของเมืองไทยก็ไม่เคยปราณีใคร แถมทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนที่อุณหภูมิพุ่งทะยานไปเกือบถึง 50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
แน่นอนว่า ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ลำพังแค่การเปิดพัดลมเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความร้อนสะสมนี้ได้ อย่างไรก็ดี การเปิดแอร์สู้ความร้อนในทันทีอาจทำให้ต้องเสียค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นได้เช่นกัน
สำหรับใครที่เริ่มรู้สึกว่าค่าไฟเดือนนี้แพงมาก หรือเปิดแอร์น้อยแล้วแต่ค่าไฟแพงอยู่ มาดู 3 วิธีเปิดแอร์ให้ประหยัดไฟแบบง่าย ๆ ที่นำมาฝากในบทความนี้ พร้อมรับมือกับความร้อนและค่าไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกัน
เข้าใจ ‘ภาวะโลกเดือด’ ต้นเหตุของอากาศร้อนผิดหูผิดตา
เมื่อพูดถึงต้นเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงนึกถึง ‘ภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming’ ซึ่งเป็นภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาระเรือนกระจก หรือก็คือ ภาวะที่บรรยากาศของโลกทำตัวเหมือนกระจกที่ดูดกลืนรังสีอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนอยู่ภายในชั้นบรรยากาศ หรือ พื้นผิวโลก
โดย ‘มนุษย์’ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อนำมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสต่อปี
แต่ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปริมาณสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่ทยอยล้มตายเป็นจำนวนมาก ตลอดจนปริมาณน้ำแข็งบนขั้วโลกที่เหลือน้อยลงในทุก ๆ ปี ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ตอนนี้โลกได้เข้าสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ ตามประกาศของเลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) อย่าง ‘อันโตนิโอ กูเตอร์เรส’ เป็นที่เรียบร้อย
ภาวะโลกเดือดคืออะไร?
ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) คือ สถานการณ์ที่สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยหากไม่รีบหันมารักษาสิ่งแวดล้อมและลดการสร้างภาวะเรือนกระจกตั้งแต่วันนี้ อุณหภูมิของโลกอาจพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสต่อปี จนทำให้เกิดภัยพิบัติตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- สถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เสียทรัพยากรและสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงในการดับไฟป่า
- อุณหภูมิของมหาสมุทร น้ำทะเล และแหล่งน้ำที่สูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทั้งยังส่งผลต่อการอุปโภคและบริโภคน้ำของมนุษย์โดยตรง
- อุณหภูมิของอากาศในชีวิตประจำวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกระดับ
- ภัยแล้งและภัยพิบัติจากธรรมชาติมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบ่อย ต่อเนื่อง และยากที่จะคาดเดามากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้
ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกเดือดที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งหมด มนุษย์ทุกคนจึงต้องเริ่มรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตร ต่อชีวิตของตัวเอง ผู้อื่น และลูกหลานในวันข้างหน้า
Sunday Tips! รู้หรือไม่? อากาศที่ร้อนระอุสามารถส่งผลเสียกับสุขภาพได้หลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการลมแดด หรือ ฮีทสโตรก แต่ไม่ใช่การร้อนตับแตกเหมือนที่หลายคนเข้าใจ การร้อนตับแตกนั้นมีที่มาจากในสมัยก่อนที่ชาวบ้านใช้ใบจากมามุงหลังคาแล้วเรียงกันโดยจะเรียกการเรียงแบบนี้ว่า ‘ตับ’ ซึ่งเมื่ออากาศร้อนขึ้น ใบจากก็จะเสียดสีกันจนทำให้ตับโก่งตัวและแตกออก จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ร้อนตับแตก’ นั่นเอง |
3 วิธีเปิดแอร์ให้ประหยัดไฟและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนอากาศร้อนไม่ไหวต้องรู้!
แน่นอนว่า การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่กำลังเดือดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แถมการเปิดแอร์สู้กับอากาศร้อนสูงขึ้นต่อเนื่องยังทำให้แอร์ทำงานหนักและใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยนอกจากจะทำให้ค่าไฟแพงแล้ว การใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องยังมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการผลิตไฟฟ้านั้น หลัก ๆ แล้วจะใช้ก๊าซธรรมชาติและการเผาไหม้ถ่านหินที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อตัวเป็นเรือนกระจกอยู่บนชั้นบรรยากาศนั่นเอง
ดังนั้น หากไม่อยากสร้างภาระให้กับโลก เครื่องใช้ไฟฟ้า และกำลังทรัพย์ของตัวเองมากขึ้น ลองมาดู 3 วิธีเปิดแอร์ให้ประหยัดไฟและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกัน
1. การตั้งอุณหภูมิแอร์ประหยัดไฟแบบชาวญี่ปุ่น
‘เปิดแอร์เท่าไหร่ประหยัดไฟ’ เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่น มักจะเลือกเร่งอุณหภูมิแอร์ให้ต่ำที่สุดเพื่อที่จะทำให้ห้องเย็นไวขึ้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากการทดลองของชาวญี่ปุ่นอีกกลุ่มพบว่า การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 28 องศา พร้อมกับเปิดพัดลมแอร์ให้แรงที่สุด ในห้องที่มีอุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียสและความชื้น 39% ปรากฏว่าใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาทีก็ช่วยทำให้ร่างกายเย็นขึ้นได้แล้ว
2. เปิดพัดลมระบายความร้อนออกจากห้องก่อน
หลายคนมองว่า การเปิดแอร์พร้อมพัดลมจะยิ่งทำให้ห้องร้อนเข้าไปใหญ่ เพราะพัดลมจะดูดอากาศร้อนมากระจายให้รู้สึกร้อนทั่วห้อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปิดพัดลมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ได้นั้น จะต้องเปิดพัดลมเพื่อไล่ความร้อนออกจากห้องแทน
วิธีการง่าย ๆ คือ เปิดพัดลมจ่อไปที่กำแพงประมาณ 15 นาทีเพื่อไล่อากาศร้อนที่สะสมในห้อง จากนั้นจึงตั้งพัดลมให้หันหน้าไปที่หน้าตา หรือ ประตูห้อง เพื่อให้พัดลมดูดอากาศร้อนออกไปจากห้องอีกประมาณ 10 นาที เท่านี้ก็ช่วยให้ห้องเย็นขึ้นแล้ว หากจะเปิดแอร์ต่อก็ช่วยป้องกันไม่ให้แอร์ทำงานหนักจนเกินไปด้วย
3. เปิดแอร์พร้อมพัดลมให้เหมาะ ช่วยได้แน่
จริงอยู่ว่า การตั้งอุณหภูมิแอร์ประหยัดไฟจะต้องมีความเย็นที่ 25 องศาเซลเซียส แต่ด้วยอากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสอาจทำให้รู้สึกหนาวกระเป๋าสตางค์ได้เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อรักษาระดับความเย็น แถมยังช่วยประหยัดไฟไปในตัว หลังจากที่ใช้พัดลมไล่ความร้อนสะสมในห้องแล้ว การเปิดแอร์พร้อมพัดลมก็สามารถช่วยประหยัดไฟได้เช่นกัน
โดยการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสร่วมกับการเปิดพัดลมนั้นเพียงพอต่อการลดความชื้นภายในห้องและรักษาอุณหภูมิที่พอเหมาะ นอกจากนี้ การเปิดพัดลมเบอร์ 2 – 3 ยังช่วยกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึง ส่งผลทำให้รู้สึกเย็นสบายได้มากขึ้นนั่นเอง
ง่าย ๆ เท่านี้ก็เข้าใจวิธีเปิดแอร์ให้ประหยัดไฟและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว อย่าลืมนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเภทแอร์ สภาพห้อง รวมถึงสุขภาพของตัวเองและคนในบ้านแล้ว เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดค่าไฟแพง รักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสุขภาพอีกด้วย
แต่นอกจากจะเปิดแอร์เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิในร่างกายแล้ว อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ตลอดจนหมั่นสังเกตความผิดปกติของสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป
แต่เพื่อรับมือกับความเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อย่าลืมมองหาตัวช่วยอย่างการทำประกันสุขภาพจาก Sunday ที่จะช่วยให้คุณและคนที่รักเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดูแลสุขภาพและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอากาศที่กำลังร้อนระอุเช่นนี้ เช็กเบี้ยประกันสุขภาพออนไลน์ง่าย ๆ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ เท่านั้น