พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับล่าสุดถึงไหนแล้ว ใครได้สิทธิ์อะไรบ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ล้วนมีสิทธิ์ที่จะรัก ได้รัก และได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายเทียบเท่ากับความรักของหญิงและชาย ซึ่งร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมล่าสุดที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นหมุดหมายชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ความรักที่เท่าเทียมสำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง
แล้วพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมคืออะไร บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQ+ จะได้รับสิทธิ์อะไรจากสมรสเท่าเทียมบ้าง มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันในบทความนี้ได้เลย
‘เพศ’ คืออะไร เข้าใจพื้นฐานเรื่องเพศกันก่อน
ตามความหมายแล้ว คำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ จะหมายถึงการสมรสที่บุคคลสามารถสมรสและได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นการสมรสระหว่าง ‘เพศชาย’ และ ‘เพศหญิง’ เพียงอย่างเดียว
แต่แน่นอนว่า หากไม่ได้จำกัดเพศอยู่ที่ชายและหญิงเหมือนที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ คนเองคงสับสนอยู่ไม่น้อยว่า แท้จริงแล้ว คำว่า ‘เพศ’ ควรจะให้คำนิยามว่าอย่างไร
ในสมัยก่อน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘เพศ’ เป็นคำที่ใช้เพื่อแบ่งแยกว่าใครเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งจะดูได้จากอวัยวะสืบพันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่ในปัจจุบันนี้ คำว่า ‘เพศ’ ไม่ได้พิจารณาแค่อวัยวะสืบพันธุ์ที่มีแต่กำเนิด แต่ยังรวมไปถึง ‘สภาวะ’ ที่บุคคลหนึ่งพึงพอใจ ตลอดจนการนิยามตัวเองที่แตกต่างออกไปจากขนบเรื่องเพศที่มีเพียงแค่ 2 เพศ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นการนิยามสภาวะตามความต้องการของบุคคล ‘เพศ’ จึงเป็นคำที่ซับซ้อน มีความหลากหลาย และไม่สามารถนิยามได้อย่างตายตัว เนื่องจากอาจทำให้ไม่ครอบคลุมสำหรับทุกความหมายและอัตลักษณ์
แต่เพื่อให้ทุกคนเข้าใจพื้นฐานเรื่องเพศมากขึ้น ลองมาทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเพศที่แตกต่างกัน ดังนี้
คำ | ความหมาย |
Sex หรือ เพศสรีระ | ลักษณะทางเพศที่กำหนดโดยปัจจัยทางกายภาพ เช่น อวัยวะเพศ โครโมโซม |
Gender หรือ เพศสภาพ | บทบาท พฤติกรรม คุณลักษณะที่บ่งบอกความเป็นเพศ |
Gender Identity หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ | ความรู้สึกภายในของบุคคล ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเพศสรีระ |
Gender Marker หรือ คำระบุเพศสถานะ | คำสำหรับบันทึกเพศสถานะในเอกสารทางการ เช่น คำนำหน้า รวมถึงการระบุเพศในหนังสือราชการ |
Sexual Orientation หรือ รสนิยมทางเพศ | ความสนใจทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคล เช่น นิยามว่าตนเองเป็นชาย และมีความสนใจทางเพศต่อบุคคลที่นิยามว่าเป็นเพศชายเหมือนกัน |
Transgender หรือ คนข้ามเพศ | บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศสรีระ เช่น Transwoman คือ ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นผู้หญิง แต่มีเพศสรีระเป็นชาย |
Cis/cisgender หรือ เพศสถานะสอดคล้อง | บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศสรีระ หรือเป็นเพศชาย หรือ เพศหญิง |
LGBTQ+ | บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยคำว่า LGBTQ+ เป็นการนำตัวอักษรย่อของแต่ละเพศมารวมกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย L หรือ LesbianG หรือ GayB หรือ BisexualT หรือ TransgenderQ หรือ Queer+ จะเป็นการกล่าวถึงอักษรย่อของเพศอื่น ๆ ตามคำนิยามของแต่ละบุคคลไปอย่างไม่สิ้นสุด |
Pride Month มาจากไหน?
อาจกล่าวได้ว่า การเดินทางของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากความรุนแรง เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น ชาว LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่า ‘มีความผิดปกติ’ จึงทำให้ถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ต้องปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศมาโดยตลอด
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่เกิดเหตุการจราจลระหว่างกลุ่ม LGBTQ+ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนวิช วิลเลจ ซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัยเพียงหนึ่งเดียวที่ชาว LGBTQ+ ในสมัยนั้นสามารถเข้ามาเป็นตัวเองได้ จนเกิดเป็นเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots)
เหตุการณ์จลาจลในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ชาว LGBTQ+ ยืดหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนนำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
แน่นอนว่า ยิ่งมีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์มากเท่าไหร่ ตำรวจก็ยิ่งออกมาปราบปราม แต่ฝูงชนผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยิ่งรวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการรวมตัวในครั้งนี้มีตั้งแต่การเดินขบวนประท้วง พาเรด ไปจนถึงการจัดกิจกรรมที่สื่อให้เห็นถึง ‘ความภูมิใจ’ หรือ Pride จนเป็นที่มาของ Pride Month นั่นเอง
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับล่าสุดของไทยถึงไหนแล้ว?
สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสระหว่างผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกำหนดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสและได้รับสิทธิ์ รวมถึงความคุ้มครองตามกฎหมายตามที่คู่สมรสพึงมี
ไม่ว่าจะเป็นการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นผู้จัดการแทนทางอาญา การรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐเฉกเช่นเดียวกับคู่สมรสที่เป็นเพศชายและหญิง
โดยใจความสำคัญของพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือ การแก้ไขข้อความจาก ‘ผู้ที่จะสมรสต้องเป็นชาย-หญิง’ เป็นคำว่า ‘บุคคลสองคน’ สามารถสมรสกันได้ ซึ่งการระบุด้วยคำว่าบุคคลนี้จะเป็นการรวมบุคคลทุกเพศเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสำคัญสู่ความรักที่เท่าเทียมของคนไทย
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนี้จะมีความแตกต่างจากพ.ร.บ. คู่ชีวิตตรงที่คำนิยามถึงการสมรส หมายความว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิตนั้นจะอนุญาตให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนกันได้ แต่จะได้สถานะเป็นคู่ชีวิต ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายเทียบเท่ากับคู่สมรสนั่นเอง
สมรสเท่าเทียมประกาศใช้เมื่อไหร่?
ณ ขณะนี้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย และในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในวาระที่ 2 และ 3 เป็นที่เรียบร้อย โดยจะมีประกาศบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังจากนี้
การผ่านพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สามารถได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายเฉกเช่นคู่รักแบบชายหญิง นอกจากนี้ การผ่านร่างในครั้งนี้ยังส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ถัดจากไต้หวันและเนปาลที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
ในระหว่างนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเดินหน้าสู่กระบวนการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป
การผ่านร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมล่าสุดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ไทยร่วมเดินหน้าสู่การสร้างความรักที่เท่าเทียมให้กับทุกคนได้อย่างแท้จริง ซึ่งในระหว่างนี้ อย่าลืมอัปเดตข่าวสารและพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจากทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตามรายละเอียด เงื่อนไข รวมถึงการบังคับและการปรับใช้ตามสถานการณ์ต่างๆ ต่อไป