เชื่อเลยว่า เหตุการณ์ ‘ชนแล้วหนี’ ต้องจัดอยู่ในลิสต์อุบัติเหตุบนท้องถนนที่คนขับรถยนต์ไม่อยากเจอมากที่สุด เพราะนอกจากจะเสียเวลาในการแจ้งความเพื่อตามตัวคนผิดมารับผิดชอบค่าเสียหายแล้ว บางครั้งการชนแล้วหนียังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนน นำมาซึ่งความเสียหายแก่ทรัพย์สิน รวมไปถึงชีวิตของผู้ใช้ท้องถนนคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
แต่หากโชคร้ายแล้วได้เจอกับเหตุการณ์ชนแล้วหนีขึ้นมา ผู้ขับขี่รถยนต์ควรรับมืออย่างไรให้ถูกต้อง ทั้งยังปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองมากที่สุด มาดูวิธีรับมือเหตุการณ์ชนแล้วหนีอย่างเหมาะสม พร้อมไขข้อสงสัยทุกประเด็นเกี่ยวกับการชนแล้วหนีได้ในบทความนี้กัน
เหตุการณ์ไหนจัดเป็นการชนแล้วหนีบ้าง?
ชนแล้วหนี คือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ผู้กระทำผิดได้หลบหนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันเอง หรือรถยนต์โดนชน
นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดมีท่าทีหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุแล้ว เหตุการณ์ชนแล้วหนียังรวมไปถึงอุบัติเหตุที่ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ เช่น การจอดรถยนต์อยู่เฉย ๆ แล้วมีรถยนต์ของผู้อื่นขับมาชน หรือ สร้างความเสียหายอย่างร่องรอยบนรถยนต์ แต่ไม่สามารถระบุผู้กระทำผิดได้ในทันที
ชนแล้วหนีมีโทษอย่างไรบ้าง?
ผู้ก่อเหตุชนแล้วหนีจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ที่ระบุไว้ว่า
“ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความ ช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลข ทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย”
หากผู้ก่อเหตุได้ทำการหลบหนี หรือ มีท่าทีในการหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ จะโดนสันนิษฐานว่าเป็นคนผิดและต้องโทษคดีอาญาก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากพิสูจน์ทราบว่าเป็นคนผิดและโดนจับได้ ผู้ก่อเหตุชนแล้วหนียังจะต้องได้รับโทษ ดังนี้
- จำคุก 3 เดือน หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต
- จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมยังระบุเพิ่มว่า หากศาลตัดสินลงโทษผู้ขับขี่ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส แล้วผู้ขับขี่ยังชนแล้วหนีไปโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ ตามกฎหมายระบุให้ศาลพิพากษาเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แม้จะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ตาม
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถยนต์ทันที เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ตลอดจนต้องเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยการรีบโทรแจ้งตำรวจและโทรสายด่วน 1669 เพื่อรับผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงเรียกบริษัทประกันภัยเพื่อไกล่เกลี่ยเรื่องความเสียหายตามเหตุที่เกิดขึ้นต่อไป
รับมือกับเหตุการณ์ชนแล้วหนีได้อย่างไร?
สำหรับใครที่เจอเข้ากับอุบัติเหตุชนแล้วหนีแล้ว ขอแนะนำให้ปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนนี้ให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีรายละเอียด ดังนี้
1. ตั้งสติและรีบเก็บหลักฐานให้ได้มากที่สุด
เมื่อเจอเข้ากับอุบัติเหตุรถยนต์ชน แล้วคู่กรณียังไม่หลบหนีไปในทันที ผู้ขับขี่จะต้องรีบตั้งสติ จากนั้นจดจำทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อ รุ่น และสีของรถยนต์ก่อน หรือจะนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานเก็บไว้ก็ได้เช่นกัน โดยการเก็บหลักฐานในขั้นแรกนี้จะช่วยยืนยันถึงอุบัติเหตุชนแล้วหนี ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีและบริษัทประกันรถยนต์เป็นอย่างมาก
แต่สำหรับใครที่จำทะเบียนรถยนต์ของผู้ก่อเหตุไม่ได้ แนะนำให้เก็บหลักฐานจากกล้องหน้ารถยนต์ หรือ กล้องวงจรปิดรอบพื้นที่เกิดเหตุ จากนั้นยื่นเรื่องขอตรวจสอบเจ้าของทะเบียนรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกได้ด้วยตัวเองในภายหลังเช่นกัน
2. ติดต่อบริษัทประกันรถยนต์โดยด่วน
หลังจากเก็บหลักฐานเบื้องต้นเรียบร้อย สิ่งต่อมาที่ควรทำ คือ ติดต่อหาบริษัทประกันรถยนต์โดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายรูปและตรวจสอบความเสียหาย หรือ รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการในส่วนนี้อาจมีความแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและลักษณะการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
3. เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังจากติดต่อบริษัทประกันรถยนต์เพื่อรับทราบเงื่อนไขการคุ้มครอง ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายรูปและตรวจสอบความเสียหายเรียบร้อย ผู้ประสบเหตุชนแล้วหนีจะต้องเข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อลงบันทึกประจำวันให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะสามารถเข้าถึงหลักฐานในท้องที่และช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการในขั้นต่อไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ติดตามผู้กระทำผิดมาที่สถานีตำรวจต่อไป
เมื่อแจ้งความเสร็จเรียบร้อย ให้รับเอกสารใบแจ้งความมาเคลมประกันรถยนต์ต่อไป โดยใบแจ้งความถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยยืนยันว่ามีการชนแล้วหนีเกิดขึ้นจริง ทั้งยังเป็นเอกสารสำคัญที่นำไปใช้ในการเคลมอีกด้วย
4. รับใบเคลมจากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันรถยนต์
เมื่อรับใบแจ้งความและลงบันทึกประจำวันเสร็จเรียบร้อย ผู้ขับขี่จะต้องนำใบแจ้งความไปให้เจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันรถยนต์ เพื่อรับใบเคลมและนำรถยนต์เข้าซ่อมแซมต่อไป ซึ่งทางบริษัทประกันจะเป็นผู้ติดตามคู่กรณีมารับผิดชอบค่าเสียหายต่อไป
รถโดนชนแล้วหนี เรียกร้องอะไรได้บ้าง?
สำหรับใครที่สงสัยว่า เหตุการณ์ชนแล้วหนีสามารถเรียกร้องความเสียหายจากผู้กระทำผิดได้อย่างไรบ้าง ลองมาพิจารณาตามเหตุการณ์ดังนี้
โดนชนแล้วหนี ประกันจ่ายไหม?
- สำหรับผู้ที่มีประกันรถยนต์ชั้น 1 หรือ แผนที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี
- ผู้เอาประกันสามารถเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่ทำประกันเอาไว้ได้ทันที โดยบริษัทประกันแต่ละแห่งอาจมีนโยบายการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีที่ไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ ดังนั้น อย่าลืมสอบถามรายละเอียดกับทางบริษัทประกันรถยนต์ให้ดีด้วย
- สำหรับผู้ที่ทำประกันรถยนต์ชั้นอื่น เช่น
- ประกันรถยนต์ชั้น 2+ หรือ 3+ จะสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ในกรณีที่แจ้งคู่กรณีได้เท่านั้น
- ประกันรถยนต์ชั้น 2 หรือ 3 จะไม่สามารถแจ้งเคลมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่ทำประกันเอาไว้ได้ เนื่องจากประกันชั้น 2 หรือ 3 จะให้ความคุ้มครองกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยเจ้าของรถยนต์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมแซมรถยนต์ด้วยตัวเองทั้งหมด
- อย่างไรก็ดี การอนุมัติการเคลมค่าเสียหายแต่ละส่วนในแต่ละเคสจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาและเงื่อนไขของบริษัทประกันภัยแต่ละแห่งด้วยเช่น ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ขอแนะนำให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัยแต่ละแห่งเพื่อรับทราบความคุ้มครองและขอบเขตในการเบิกเคลมด้วย
- สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำประกันรถยนต์เอาไว้ จะได้รับความคุ้มครองจากพ.ร.บ. รถยนต์ แต่ผู้ขับขี่จะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายได้กับคู่กรณีที่มีความผิดเท่านั้น
- โดยกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่การติดตามผู้กระทำความผิดด้วยตัวเอง จากนั้นจึงเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการเรียกตัวมาเจรจาไกล่เกลี่ยโดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยาน หากสงสัยว่าเหตุการณ์ชนแล้วหนีสามารถยอมความได้ไหม คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับความหนักของอุบัติเหตุ รวมไปถึงความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เสียหายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ หากคู่กรณีไม่ยอมชดใช้
รถถูกชน มีค่าใช้จ่ายเต็มไปหมด เรียกร้องอะไรได้บ้าง?
สำหรับใครที่สงสัยว่า หากรถถูกชนแล้วสามารถเรียกค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
คำตอบ คือ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อตัวรถยนต์ ค่าชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าเสื่อมราคารถยนต์ รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ ได้ ซึ่งสามารถเรียกร้องได้กับทางประกันรถยนต์ของคู่กรณี พ.ร.บ. รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หรือหากคู่กรณีไม่ยอมชดใช้ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ‘ชนแล้วหนี’ ถือเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่มีความซับซ้อนสูง ทั้งยังต้องอาศัยการดำเนินการหลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่มีประกันรถยนต์ที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ทั้งยังต้องรับความเสี่ยงจากค่าเสียหายและค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองทั้งหมด
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท พร้อมเตรียมรับมือความเสี่ยงบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกันรถยนต์ Sunday มาพร้อมกับความคุ้มครองที่คุณสามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ พร้อมระบบที่ช่วยคำนวณเบี้ยประกันให้อย่างแม่นยำ ให้คุณได้รับความคุ้มครองที่ใช่ในราคาที่เหมาะสม เช็กเบี้ยประกันรถยนต์ Sunday ด้วยตัวเองง่าย ๆ ไม่ต้องกรอกข้อมูลติดต่อ