หลายคนมักเข้าใจว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณภาพอากาศ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันเองก็เป็นสาเหตุมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน
แต่จะทำอย่างไรให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด หากเป็นมะเร็งปอดแล้วมีอาการอย่างไร จะรักษาหายไหม แล้วสาเหตุมะเร็งปอดมีอะไรบ้าง มาทำความรู้จักมะเร็งปอดให้มากขึ้นในบทความนี้ เพื่อเป็นการรู้เท่าทันถึงโรคร้ายใกล้ตัวก่อนสายไป
รู้จัก ‘มะเร็งปอด’ ให้มากขึ้น
‘มะเร็งปอด’ จัดเป็น 1 ใน 5 อันดับโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตนับล้านคนทั่วโลก ลำพังในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวก็มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17,000 รายต่อปี ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 14,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยสูงถึง 40 รายต่อวันเลยทีเดียว
แต่ก่อนที่จะไปดูถึงการรักษามะเร็งปอด ตลอดจนการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้าย ลองมาทำความรู้จักมะเร็งปอดให้มากขึ้นในส่วนนี้กัน
มะเร็งปอดคืออะไร?
มะเร็งปอด (Lung Cancer) คือ ภาวะที่เซลล์ภายในปอดเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ นานวันเข้าเซลล์ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนและพัฒนากลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่มีขนาดใหญ่ มิหนำซ้ำ เซลล์ร้ายเหล่านี้ยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ในระบบอวัยวะอื่น ๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
หากไม่สามารถควบคุมเซลล์ร้ายเหล่านี้ได้ นานวันเข้าเซลล์ร้ายเหล่านี้ก็จะยิ่งเข้าไปขัดขวางการทำงานของเซลล์ปกติ ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว จนนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้
สาเหตุมะเร็งปอด
การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในปอดเกิดขึ้นจากการที่เซลล์เยื่อบุหลอดลมในปอดได้รับการระคายเคืองเป็นเวลานาน โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากบริเวณขั้วปอด หลอดลมใหญ่ใกล้ขั้วปอด และหลอดลมแขนงเล็ก ๆ ในปอด
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมระคายเคืองจนนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งปอดได้ ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยหลัก ดังนี้
- การสูบบุหรี่
- การสูดดมสารก่อมะเร็ง เช่น ควันบุหรี่ สารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงไอระเหยจากสารอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสารหนู ถ่านหิน รวมไปถึงแร่ใยหินที่ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- พันธุกรรมมะเร็งในครอบครัว
- สารกัมมันตภาพรังสี ที่เกิดจากการสลายตัวของยูเรเนียม หรือ เรเดียม สะสมอยู่ในหิน ดิน และทรายที่นำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปอด มีอาการอย่างไร?
‘มะเร็งปอด’ เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่ไม่แสดงอาการในช่วงระยะแรก โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยจะตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ตั้งแต่การตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านปอด การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การเอกซเรย์ปอดแบบ Low-dose CT Chest ไปจนถึงการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ CEA
แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปอดตามวิธีข้างต้น สามารถเริ่มสังเกต 9 อาการเสี่ยงเบื้องต้นของมะเร็งปอดด้วยตัวเองได้ ดังนี้
- ไอเรื้อรัง รักษาแล้วไม่หาย
- ไอ เสมหะ มีเลือดปน อาจเป็นเลือดสด หรือ จุดเลือดเล็ก ๆ
- หายใจแล้วมีเสียงดังผิดปกติ หรือ หายใจแล้วมีเสียงแหบ
- เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- ปอดอักเสบ มีไข้
- กลืนลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งเบียดหลอดอาหาร
- หน้าบวม แขนบวม หรือ คอบวม โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกระดูก ขยับลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในทันที แต่หากเริ่มมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวไปข้างต้น ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและตรวจคัดกรองมะเร็งปอดก่อนสายเกินแก้ เพราะการตรวจเจอมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต รักษาอวัยวะข้างเคียง และสามารถหายจากโรคมะเร็งปอดได้
มะเร็งปอดแต่ละระยะแตกต่างกันอย่างไร?
ในปัจจุบันนี้ ทางการแพทย์ได้มีการจำแนกมะเร็งปอดออกเป็น 2 ชนิด ซึ่งจะมีอาการและระยะแพร่กระจายที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer)
เป็นมะเร็งปอดที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน ในปัจจุบันตรวจพบได้ 10% – 15% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมะเร็งปอดชนิดนี้จะมีการแพร่กระจายเพียง 2 ระยะ คือ
- ระยะจำกัด มีการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งในปอด 1 ข้างและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
- ระยะลุกลาม มีการแพร่กระจายออกนอกบริเวณทรวงอกเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ
2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer)
เป็นมะเร็งปอดที่แพร่กระจายช้า หากตรวจพบไวก็สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนใหญ่มักตรวจพบได้ 85% – 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมะเร็งชนิดนี้จะมีระยะแพร่กระจาย 4 ระยะ ประกอบไปด้วย
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง ก้อนมะเร็งมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร เริ่มมีการลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก ผนังหน้าอก และ ต่อมน้ำเหลืองใกล้ก้อนมะเร็ง
- ระยะที่ 3 เป็นระยะเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ส่วนอื่น ๆ ของปอด รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองช่องอก หรือ ไกลไปจากช่องอกด้านที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกนอกช่องอก ตั้งแต่เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ ต่อมหมวกไต สมอง กระดูก และส่วนอื่น ๆ ทั่วร่างกาย
การรักษามะเร็งปอดทำได้อย่างไร?
การรักษามะเร็งปอดจะแตกต่างกันไปตามระยะที่กำลังลุกลาม ความรุนแรง ไปจนถึงข้อจำกัดด้านร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปอดสามารถรักษาได้ด้วย 4 วิธีหลัก ดังนี้
- การผ่าตัด สำหรับมะเร็งปอดที่ยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือ ส่วนอื่น ๆ ในร่างกายที่ไกลจากก้อนมะเร็ง
- การฉายแสง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นให้ฉายแสงเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่น
- การใช้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะทำการฉีดยาเคมีบำบัดเข้ากระแสเลือดเพื่อให้ตัวยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย ส่วนใหญ่มักใช้หลังผ่าตัดมะเร็งปอดระยะที่ 2 หรือใช้เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนพิจารณาการรักษาอื่น อย่างไรก็ดี การใช้เคมีบำบัดมักมีผลข้างเคียงและเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์จึงต้องพิจารณาความแข็งแรงและสมบูรณ์ของสุขภาพของผู้ป่วยก่อนเสมอ
- การใช้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นตัวยารับประทานที่ออกฤทธิ์กับตัวมะเร็งเป็นหลัก ก่อนใช้ยาในกลุ่มนี้แพทย์จะต้องตรวจการกลายพันธุ์ของยีน ส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียงน้อย เมื่อเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัด
ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาการรักษามะเร็งปอดโดยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotheraphy ซึ่งเป็นการฉีดยากระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายผ่านทางหลอดเลือดดำ ทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถตรงเข้ากำจัดเซลล์มะเร็งได้ โดยตัวยาดังกล่างอาจมีการพิจารณาใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ตามความเห็นของแพทย์และความเหมาะสมทางร่างกาย
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด?
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไม่เพียงแต่จะต้องแบกรับความเจ็บปวดทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังต้องแบกรับหลากหลายความรู้สึกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการหากิจกรรมผ่อนคลาย การทำกิจกรรมบำบัดความเครียด ไปจนถึงการรับกำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะอย่าลืมว่าหากสุขภาพใจถดถอยเมื่อไหร่ สุขภาพกายก็จะยิ่งย่ำแย่ลงไปด้วย
ที่สำคัญ นอกจากจะเข้าใจสาเหตุมะเร็งปอด การรักษามะเร็งปอด ไปจนถึงมะเร็งปอดในระยะต่าง ๆ เท่านั้น ผู้ป่วยยังควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ ตลอดจนเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การอยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่ ไปจนถึงการอยู่ในพื้นที่แออัดและอากาศเป็นพิษ
หากรู้สึกกลัวว่ามะเร็งปอดจะรักษาหายไหม หรือ เริ่มมีความวิตกกังวลด้านการเจ็บป่วย ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการรักษาทางเลือกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของแพทย์ หรือ ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการแย่ลง เซลล์มะเร็งลุกลาม หรือ ร่างกายทรุดตัวได้
5 เคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด!
จะเห็นได้ว่า สาเหตุมะเร็งปอดนั้นมีทั้งส่วนที่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ โดยทุกคนสามารถเลือกควบคุมปัจจัยเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดได้ง่าย ๆ ตาม 5 เคล็ดลับ ดังนี้
- ลด ละ และเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดของตัวเองและควันบุหรี่มือสองให้กับบุคคลรอบข้าง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่มลพิษสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีควันบุหรี่ การก่อสร้าง และมลพิษทางอากาศ
- เลือกใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน หากออกจากบ้านควรใส่หน้ากากอนามัยให้เรียบร้อย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ พร้อมเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อรู้ทันมะเร็งปอดตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะสายเกินไป
การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมอยู่ในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศดี ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันมะเร็งปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่ารายละเอียดในบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจสาเหตุมะเร็งปอด การรักษามะเร็ง ไปจนถึงการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ทำให้เท่าทันต่อภัยเงียบใกล้ตัวอย่างมะเร็งปอดให้มากขึ้น
นอกจากนี้ การทำประกันสุขภาพที่เหมาะสมยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา ทั้งยังช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น และหากทำประกันมะเร็งควบคู่กันด้วย ก็จะได้รับเงินค่าชดเชยในกรณีที่ตรวจพบมะเร็ง
ปรึกษาเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเองง่าย ๆ เพียงแอดไลน์ @easysunday (มี @ ด้วย) หรือ เช็กเบี้ยประกันสุขภาพออนไลน์ และ เบี้ยประกันมะเร็งออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่หน้าเว็บไซต์