คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิถีชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่ เวลาในแต่ละวันนอกจากจะหมดไปกับการทำงานแล้ว เราต้องเสียเวลาไปกับการติดอยู่บนท้องถนน ปัญหารถติด ไม่เพียงขโมยเวลาชีวิตของเราไปอย่างไร้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเครียดสะสมที่จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้
ปัญหารถติดในประเทศไทย
ในปีค.ศ. 2016 ข้อมูลวิเคราะห์การจราจรจาก INRIX เผยว่า ไทยเป็นประเทศที่รถติดมากที่ในโลก ประชาชนคนไทยต้องเสียเวลาไปบนท้องถนนเฉลี่ย 61 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันระบุว่าแม้ไทยจะไม่ได้ครองแชมป์ประเทศที่รถติดที่สุดแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเวลาเฉลี่ยที่ต้องเสียไปบนท้องถนนกลับเพิ่มขึ้นถึง 71 ชั่วโมงต่อปี ซ้ำยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศปีละราว 10,000 ล้านบาท
สาเหตุของปัญหารถติดคืออะไร มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร?
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าปัญหารถติดในประเทศไทยนั้นค่อนข้างสาหัส เราลองมาสำรวจกันก่อนดีกว่าว่าอะไรที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดรถติดมากขนาดนี้?
- พฤติกรรมการขับขี่ เช่น การแทรกเบียดเข้าพื้นที่ การจอดบังเลนซ้ายสุดแม้มีป้ายบอกว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด
- ขาดการวางผังเมืองตั้งแต่ต้น ความเจริญแค่บางแห่ง คนจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่เดียวกัน เช่น สีลม สาทร สุขุมวิท ทำให้เกิดปัญหารถติดเพราะปริมาณรถมีมากเกินไป
- ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดีพอ รถบางคันจอดแช่รอผู้โดยสาร หากระบบขนส่งมวลชนพัฒนาจนสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ มีราคาที่เหมาะสม หลายบ้านคงไม่มีความจำเป็นจะต้องนำรถส่วนตัวมาใช้
- จำนวนรถมีเยอะกว่าเส้นทาง เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ตอบโจทย์คนใช้รถใช้ถนน คนไทยจึงซื้อรถใหม่กันแทบจะทุกปี ทำให้ปริมาณรถยน์เยอะขึ้นทุกปี
หลักจิตวิทยาเกี่ยวกับปัญหารถติด อีกสาเหตุที่หลายคนอาจมองข้าม
เวลาที่รถติดอยู่ตรงแยกไฟแดง มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่าทุกครั้งที่มีสัญญาณไฟเขียวแล้วรถคันหน้าสุดได้ออกตัวไป ต่อด้วยคันที่สอง หลังจากนั้นก็ตามด้วยคันที่สาม สี่ และห้าตามลำดับ แต่พอถึงคิวรถของคุณกลับกลายเป็นว่าต้องรีบเหยียบคันเร่งให้ทันสัญญาณไฟเหลือง หรืออย่างแย่คือทำได้แค่รอไฟเขียวรอบถัดไป เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะทำให้หลายคนอารมณ์เสีย และคิดว่าตัวเองคงจะผ่านแยกไปได้ทันแล้วเชียว เพียงแค่รถคันข้างหน้าเร่งออกตัวไปได้เร็วกว่านี้
หากไม่นับเรื่องการออกแบบผังถนน สาเหตุของรถติด หรือต้นตอของปัญหาการจราจรติดขัดอาจจะเป็นเรื่องของ “Coordination” หรือหลักจิตวิทยาของการประสานสัมพันธ์นั่นเอง ซึ่งในบริบทของการใช้รถใช้ถนนก็คือการที่ผู้ขับขี่ทุกคนตั้งสติของตัวเองให้จดจ่ออยู่กับการขับรถ เพื่อให้มีความพร้อมในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที และออกรถไปได้อย่างพร้อมเพรียงกัน ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากว่านับถอยหลัง 3 2 1 แล้วทุกคนสามารถกดคันเร่งออกตัวไปได้ในจังหวะเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์แบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถในการควบคุมสติและร่างกายไม่เท่ากัน และนี่ก็ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลทำให้ออกรถช้ากว่าเดิม อย่างเช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือทำกิจกรรมอื่นระหว่างรอไฟแดง ทำให้เมื่อถึงจังหวะไฟเขียวแล้วยังไม่รู้ตัว
ความ “Dis-Coordination” ระหว่างผู้ขับขี่รถยนต์แต่ละคันนี้เองที่เป็นการจำกัดจำนวนรถที่จะสามารถผ่านแยกไฟแดงไปได้ และทำให้เกิดการสะสมจำนวนรถยนต์บริเวณแยกไฟแดงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดแถวรถติดยาว และก็ได้กลายเป็นปัญหาที่เรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาชั่วโมงเร่งด่วนในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งมีจำนวนแยกไฟแดงหลายแยก เนื่องจากรถติดสะสมจากแยกนึง ยาวจนไปถึงอีกแยก และส่งผลกระทบต่อกันไปเรื่อยๆ แบบไม่จบสิ้น
หากอธิบายให้เข้าใจโดยง่าย คือ ในพื้นที่ที่มีแยกไฟแดงเยอะ เท่ากับการมี “Dis-Coordination” ของผู้ขับขี่รถยนต์มากขึ้น และ “Dis-Coordination” ที่มากขึ้นก็ส่งผลให้เกิดการจราจรคับคั่งเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ หรือรถติดมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนั้นในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนหรืออยู่ดีๆ มีคนวิ่งข้ามถนน รถคันแรกที่เห็นเหตุการณ์ก็ต้องเหยียบเบรกเพื่อชะลอ หลังจากนั้นรถคันที่ตามมาด้านหลังก็ไม่ทันตั้งตัว และเพื่อความปลอดภัยเลยต้องเหยียบเบรกมากกว่ารถคันแรก ทำให้แต่ละคันที่ขับตามกันมาต้องทำแบบเดียวกัน โดยแต่คันที่ตามกันมาจะเบรกแรงขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็ถึงจุดที่มีรถคันนึงต้องเบรกจนรถจอดสนิท
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นบนทางหลวงหรือทางด่วนที่มีหลายช่องจราจร โดยไม่ได้มีต้นเหตุมาจากอุบัติเหตุรถชนเสมอไป เพราะผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคันก็สามารถเป็นต้นเหตุได้ทั้งนั้น อย่างเช่นในชั่วโมงเร่งด่วนที่มีรถคันนึงที่กำลังเร่งรีบแล้วมองเห็นช่องว่างในเลนข้างๆ เลยถือโอกาสเปลี่ยนเลนแบบกระทันหัน แล้วไปตัดหน้ารถอีกคันโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้รถคันที่โดนตัดหน้านั้นต้องเบรคกระทันหันตามกันไป หรือยิ่งไปกว่านั้น รถคันที่โดนปาดหน้าก็รีบเปลี่ยนเลนหลบโดยรวดเร็วและไปปาดคันอื่นต่อ ณ จุดนั้นเอง กลายเป็นสถานการณ์ลูกโซ่ที่มีแต่การเบรกกระทันหันและเปลี่ยนเลนตัดหน้ากันไปมา เท่านี้ก็ส่งผลให้เกิดสถานการณ์รถติดได้แล้ว
วิธีแก้ปัญหารถติดที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
วิธีช่วยคลี่คลายสถานการณ์รถติดที่ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเองก็คือการลองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในฐานะที่เป็นผู้ขับขี่คุณสามารถเลือกที่จะขับโดยไม่เข้าใกล้คันข้างหน้ามากเกินไป และรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย โดยเว้นอย่างน้อย 2 ระยะคันรถ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรถชนและการเบรกกระทันหัน ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหารถติด การมีพฤติกรรมการขับขี่ที่เหมาะสมนอกจากจะเป็นประโยชน์กับตัวเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมทางคันอื่นอีกด้วย
โรคที่อาจตามมาหากต้องเจอรถติดเป็นเวลานาน
นอกเหนือจากความหงุดหงิดใจของผู้ใช้รถใช้ถนน อาการเมื่อยล้าจากการที่ต้องสลับเหยียบเบรกและคันเร่งเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาจากปัญหารถติดคือปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ สำหรับปัญหาสุขภาพกายที่ตามมาหลังต้องเจอกับรถติด ได้แก่
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมื่อรถติดเป็นเวลานาน ไม่สามารถหาห้องน้ำหรือปั๊มที่ไหนได้ ก็มีความจำเป็นที่คนส่วนใหญ่ต้องอั้นปัสสาวะ เมื่อต้องทำบ่อยๆ หรือนานๆ ย่อมส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- คอตึง ปวดหลัง ปวดไหล่ การนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหลัง ที่อาจเรื้อรังจนกลายเป็นโรคกล้ามเนื้อคออักเสบได้
- ระบบย่อยทำงานไม่ปกติ ในเมื่อนั่งทำงานมาทั้งวันแล้ว ตกเย็นยังต้องติดแหงกในรถขยับตัวไปไหนไม่ได้ จะส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดเพี้ยนไปจากเดิมเนื่องจากร่างกายไม่ได้ขยับตัวช่วยการทำงานของลำไส้
- หมอนรองกระดูกเสื่อม การนั่งในรถนานๆไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ อาจส่งผลให้รู้สึกปวดตั้งแต่บริเวณหลังลงไปถึงขา ซึ่งหากมีอาการปวดเรื้อรังอาจนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
ส่วนปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ตามมาหลังต้องเจอรถติดเป็นเวลานาน ได้แก่
- โรคเครียด เมื่อเรารู้สึกว่าง ไม่มีอะไรทำซึ่งเป็นผลพวงจากการที่รถติดนานๆ จะกลายเป็นภาวะกดดันที่ส่งต่อไปให้เกิดความเครียด หงุดหงิดง่าย กังวลว่าอาจไปไม่ทันเวลา หรือบางรายอาจพบกับภาวะพักผ่อนน้อยจากการที่ต้องตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อเผื่อเวลาบนท้องถนน
ปัญหารถติดกับผลกระทบสุขภาพจิตระยะสั้น
ผู้ที่ประสบกับปัญหารถติดอยู่บ่อยครั้งหรือแทบจะในทุกๆ วัน จะมีความเครียดสะสมที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตระยะสั้น เกิดความวิตกกังวลจากสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าจะหนีออกไปไหนก็ไม่ได้ จนก่อให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย เริ่มควบคุมตัวเองได้น้อยลง ความสามารถในการยับยั้งอารมณ์ต่ำลง
ผลกระทบสุขภาพจิตระยะยาวจากปัญหารถติด
ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวหากเราต้องเผชิญกับรถติดอยู่เรื่อยๆ ความเครียดสะสมจะเริ่มรุนแรงขึ้น จนส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การเต้นของหัวใจ และระบบย่อยอาหารเริ่มรวน จนอาจลามไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้า ในบางรายอาจมีอาการตีตัวออกห่างจากสังคม ไม่อยากไปออฟฟิศหรือพบเจอเพื่อนฝูง เพราะไม่อยากขับรถ
รถติดกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังพวงมาลัย
หลายคนคงเคยเห็นพฤติกรรมขับรถของคนรอบข้างมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนอ่อนหวานสุภาพแค่ไหน แต่เมื่อไหร่ที่ได้จับพวงมาลัยกลับกลายเป็นใครที่เราไม่รู้จักทุกที แล้วยิ่งในสถานการณ์รถติดที่ระดับความเครียดของคนขับหงุดหงิดง่ายขึ้น เมื่อโดนรถคันอื่นทั้งแทรก ทั้งปาดซ้ายและขวา พฤติกรรมหลุดคำหยาบ ตะโกนด่าตามกันมาอย่างไม่ขาดสาย คนนั่งข้างๆ อยากจะหนีออกไปกรี๊ดก็ทำไม่ได้
นอกจากนี้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากความเครียดหลังเผชิญรถติดเป็นเวลานาน ยังมีนัยยะที่ส่งผลให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย โดย Louis-Philippe Beland นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยประจำรัฐหลุยเซียน่า ชี้ว่า เมื่อสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเกิดความเครียด สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ย่อมรับรู้ได้ เสมือนการส่งต่อความเครียดให้แก่กันจนนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด
ทำไมวันนี้เจอรถติดอีกแล้ว! มีวิธีอะไรบ้างที่ช่วยคลายเครียดเมื่อเจอรถติด
สำหรับหลายๆ คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง เจอรถติดอยู่เป็นประจำ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายและความเครียดจากการนั่งอยู่ในห้องโดยสารของรถตัวเองนานนับชั่วโมง ทั้งเสียเวลา ทั้งเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่นับวันยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ เจอแบบนี้ก็อดที่จะไม่บ่นไม่ได้ว่า ทำไมวันนี้เจอรถติดอีกแล้ว! ดังนั้นทางซันเดย์จึงได้รวบรวมวิธีแก้เบื่อ ช่วยให้ทุกคนคลายเครียดเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์รถติดนานๆ มาฝากกัน
1.หายใจเข้า-ออกลึกๆ
เป็นวิธีที่ง่ายแต่ได้ผล เพราะการหายใจเข้า-ออกแบบลึกๆ สามารถช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยให้สมองของเรามีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าได้รับออกซิเจนเข้าร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายขึ้นมาทันที
2. ใช้น้ำหอมกลิ่นที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
มีหลายงานวิจัยได้ลองสำรวจกลิ่นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่ออารมณ์ และพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งก็ได้พบว่ากลิ่นเปปเปอร์มินต์นั้นสามารถช่วยในการฟื้นฟูจิตใจได้ และทำให้สมองตื่นตัวมากขึ้น ในขณะที่กลิ่นซินนามอนช่วยเพิ่มสมาธิ และความเร็วในการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังได้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่าผลทดลองของกลุ่มคนที่ได้เดินสูดอากาศในป่าสน รู้สึกว่าความเครียดลดน้อยลงและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อกลับออกมา
3.ยิ้ม
ถึงแม้สถานการณ์มันจะไม่น่ายิ้ม แต่จริงๆ แล้วการยิ้มนั้นสามารถช่วยลดความเครียดของร่างกายได้ เป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับเวลาต้องนั่งอยู่บนรถเป็นเวลานานๆ อาจจะหันไปยิ้มให้กับคนที่นั่งข้างๆ หรือหาเรื่องชวนคุยร่วมกันก็ได้
4.เปิดเพลงเพราะๆ ฟัง
การฟังเพลงจะช่วยให้ใจเย็นลงได้เป็นอย่างดี ดังนั้นก็อย่าลืมเตรียมเพลย์ลิสต์เพลงโปรดไว้สำหรับฟังช่วงรถติด
ปัญหารถติดไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่จะบอกให้ทำตัวให้ชินก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่เราเห็นแล้วว่าส่งผลกระทบต่อประชากรในประเทศมากขนาดไหน ปัญหารถติดเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะชีวิตคือการเดินทาง และการเดินทางนั้นไม่ควรทำลายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรา และที่สำคัญอีกอย่างคือการวางแผนซื้อประกันสุขภาพ ที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยทาง Sunday ก็มีประกันสุขภาพที่คุณสามารถปรับแต่งความคุ้มครองให้ครอบคลุมได้ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง มาพร้อมกับซูเปอร์แอปฯ Jolly by Sunday แอปพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ถือกรมธรรม์ทุกท่านได้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทาง App Store และ Google Play Store