ทุกวันนี้เมื่อเบอร์แปลกโทรมา หลายๆ คนเริ่มคาดเดาไปแล้วว่าอาจเป็น ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ อย่างไรก็ตาม จะไม่รับสายก็กลัวจะพลาดเรื่องสำคัญไป สุดท้ายรับสายแล้วก็ไม่พ้น บ้างก็อ้างเป็นไปรษณีย์ บ้างก็เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ บ้างก็อาจจะเป็นเจ้าหนี้ ทำให้หลายๆ คนที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงคนหนุ่มสาวเอง ก็โดนหลอกกันไปไม่ใช่น้อย บางคนสูญเสียเงินหลักหลายล้าน ดังนั้น ในบทความนี้เราเลยอยากจะมาแนะนำวิธีการรับมือกับมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างหากมีเบอร์แปลกโทรมา เพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อ รวมถึงแชร์ข้อมูลว่าหากถูกหลอกโอนเงินแล้วจะต้องทำอย่างไร
4 วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
Sunday Tips รู้หรือไม่!? จากข้อมูลของคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ในระยะเวลา 1 ปี (2565-2566) สถิติการหลอกลวงในระบบรับแจ้งความออนไลน์มีทั้งหมดจำนวน 244,567 เคส ส่วนรูปแบบการหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างหน่วยงานของรัฐ มีจำนวน 20,937 เคส ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,328,454,052.35 บาท |
1. ตรวจสอบเบอร์ก่อนรับสาย
หลายๆ คนจำเป็นต้องรับเบอร์แปลกเพราะหน้าที่การงาน โดยอาจมีความจำเป็นที่จะต้องคุยกับพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าเป็นประจำ ซึ่งหากเรายังไม่ได้รับสายหรือไม่มั่นใจว่าใช่มิจฉาชีพหรือไม่ ควรนำไปตรวจสอบเบอร์ก่อนรับสาย แต่หากรับสายไปแล้วและคิดว่าเป็นมิจฉาชีพให้วางสายทันที โดยเราขอแนะนำแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพที่ไว้ใจได้ คือ Whoscall
2. อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด
ปัจจุบันมิจฉาชีพนั้นมาในรูปแบบที่แนบเนียนอย่างมาก จนไม่อาจแยกได้ว่ามาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งข้อมูลส่วนตัวที่มิจฉาชีพมักจะถามก็คือเลขบัตรประชาชน โดยมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลบัตรประชาชนเราไปแอบอ้างหลอกลวงผู้อื่นต่อได้ หรืออาจหลอกว่าเรามีคดีหรือติดหนี้ต่างๆ นาๆ แล้วจึงหลอกให้ไปกดเงินที่ตู้ ATM ซึ่งวิธีรับมือคือ ให้คิดไว้เลยว่าไม่มีสถาบันใดหรือใครที่จะบอกให้เราทำธุรกรรมการเงิน โดยเฉพาะการโอนเงินออกไปยังบัญชีต่างๆ
3. โทรกลับไปเช็กกับบริษัทที่ถูกอ้างว่าติดต่อมา
บางครั้งเราก็อาจจะไม่แน่ใจว่าบริษัทที่ติดต่อมานั้นใช้บริษัทนั้นจริงๆ หรือไม่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือติดต่อกลับไปทางบริษัทที่เราสงสัยเพื่อสอบถามรายละเอียดทันทีไม่ว่าคนที่โทรมานั้นจะน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดก็ควรจะติดต่อกลับไปบริษัทนั้นๆ อย่าพึ่งปักใจเชื่ออย่างเด็ดขาด
4. ไม่ต่อบทสนทนา
อีกหนึ่งวิธีรับมือมิจฉาชีพก็คือการไม่ต่อบทสทนา หลายๆ คนชอบที่จะต่อบทสนทนาด้วยความสนุกถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือบางคนอาจจะไม่แน่ใจจึงพยามที่จะสอบถามรายละเอียด แต่เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง แนะนำว่าไม่ควรต่อบทสนทนา เพราะนอกจากจะมีโอกาสโดนหลอกได้แล้ว มิจฉาชีพก็อาจบันทึกเสียงเราเพื่อสวมรอยและหลอกลวงคนรอบตัวเราก็เป็นได้
โอนแล้ว!! โดนหลอกแล้วมีโอกาสได้เงินคืนไหม?
วิธีรับมือข้างต้นสามารถช่วยป้องกันได้ แต่หากรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จะได้เงินคืนไหม? ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสทั้งได้และไม่ได้ อย่างไรก็ตามเรามีคำแนะนำ วิธีรับมือมิจฉาชีพหรือวิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเราโอนเงินไปแล้วควรทำตาม ดังนี้
วิธีรับมือหากโดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน
- แคปหลักฐานการโอนเงินและรายละเอียด
ทำการแคปหน้าจอหลักฐานการโอนเงินรวมไปถึงบทสทนาหากมีการส่งข้อความหากัน โดยหลักฐานการโอนเงินควรระบุได้ว่าโอนไปหาใคร ชื่ออะไร และเลขบัญชีไหน
- แจ้งความพร้อมหลักฐาน
นำหลักฐานเข้าแจ้งความ โดยอาจทำเป็นไทม์ไลน์แบบแน่ชัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องทำการแจ้งความในสน.ท้องที่ที่เกิดเหตุหรือที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เท่านั้น ซึ่งหน่วยงานนี้จะมีความสามารถทางเทคโนโลยีในการติดตามตัวคนร้ายได้เร็ว แต่อาจจะต้องมีการมาขึ้นศาลกรุงเทพฯร่วมด้วย ส่วนระยะเวลานั้นควรทำการแจ้งความให้ไวที่สุดหรือภายใน 3 เดือน
วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นทำได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญก็คือ สติ หากต้องพูดคุยเรื่องเงินผ่านโทรศัพท์ควรตรวจสอบข้อมูลให้มั่นใจก่อนจะทำการโอนเงินทุกครั้ง และพึงระลึกไว้ว่าไม่มีใครที่จะให้เราโอนเงินไปเพื่อแลกเงิน แต่ใครที่หลงโอนเงินไปแล้ว ควรรวบรวมหลักฐานและเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
PCTR POLICE