สำหรับเรื่องการต่อทะเบียนรถยนต์ หรือที่เรียกกันว่าการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี รวมถึง พ.ร.บ. นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนมีรถทุกคนควรรู้ เพราะจะทำให้รถยนต์ของเรานั้นวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม บางคนอาจยุ่งกับชีวิตประจำวันที่ต้องทำหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือการพักผ่อน จนในบางครั้งเวลาล่วงเลยผ่านไป รู้ตัวอีกทีก็เลยกำหนดวันที่ต้องจ่ายภาษีต่อทะเบียน กับ พ.ร.บ. เป็นที่เรียบร้อย
รวมถึงมือใหม่หัดขับ ที่เพิ่งมีรถยนต์คันแรกอาจจะยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากเท่าไหร่นัก คำถามต่อมาก็คือ ต้องทำอย่างไรกันต่อ ในกรณีที่รถของเราภาษีหรือทะเบียนขาด บางคนลืมต่อทะเบียนกับ พ.ร.บ. นาน 2-3 ปี แบบนี้จะโดนค่าปรับเท่าไหร่ สามารถนำรถไปทำธุรกรรมหรือโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของได้หรือไม่ เจอสถานการณ์เหล่านี้แล้วเจ้าของรถควรทำอย่างไร? ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้
ทะเบียนรถ คืออะไร สำคัญอย่างไร?
ป้ายทะเบียนรถยนต์ คือแผ่นป้ายโลหะที่ช่วยระบุตัวตนของรถ ผ่านตัวอักษร ตัวเลข และสีของป้ายทะเบียน ซึ่งนอกป้ายทะเบียนโลหะแล้วยังมีเอกสารรูปแบบเล่มอีก 1 ชุดที่เรียกกันว่า ‘ป้ายทะเบียนรถ’ ซึ่งภายในเล่มทะเบียนรถนั้นจะมีการระบุรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับตัวรถไว้ดังนี้
- ชื่อเจ้าของรถ
- วันจดทะเบียนของรถยนต์
- สีของตัวถังรถ
- รุ่นรถ
- ปีที่ผลิต
- เลขตัวถัง
- เลขเครื่องยนต์
- น้ำหนักรถ
- จำนวนที่นั่ง
- ประวัติการเปลี่ยนเครื่องยนต์
- ประวัติการติดแก๊ส
- ประวัติเล่มทะเบียนเดิมสูญหายหรือเล่มทะเบียนเดิมชำรุด
สำหรับในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างเช่น ป้ายทะเบียนรถหาย ชำรุดเสียหายจนใช้งานไม่ได้ หรือถูกตำรวจเรียกตรวจค้น เราก็สามารถใช้เอกสารเล่มทะเบียนในการยื่นให้ตำรวจดู พร้อมกับการชี้แจ้งเหตุผลต่างๆ ตามความเหมาะสม หรือจะใช้สำเนาเล่มทะเบียนรถก็ได้ ซึ่งถ้าหากเราไม่มีเล่มทะเบียนหรือสำเนาทะเบียนรถ จะทำให้เสียเวลามากกว่าเดิมในการตรวจสอบ
และทั้งหมดนี้ก็คือความสำคัญของทะเบียนรถทุกคันนั่นเอง
ปล่อยให้รถทะเบียนขาด 3 ปี เสี่ยงโดนยกเลิกทะเบียน
เจ้าของรถที่ลืมนำรถไปต่อทะเบียนเกิน 3 ปี จะได้รับจดหมายแจ้งจอดจากกรมการขนส่ง ทำให้ป้ายทะเบียนรถคันนั้นถูกยกเลิก ซึ่งหลังจากที่ได้รับจดหมายภายใน 30 วัน ทางเจ้าของรถจะต้องนำแผ่นป้ายและสมุดเล่มทะเบียนไปให้ทางสำนักงานขนส่งของจังหวัดที่รถจดทะเบียนทำการบันทึกการระงับทะเบียนรถทะเบียนขาด มีค่าปรับเท่าไหร่?
สำหรับการปล่อยให้รถทะเบียนขาด หรือต่อภาษีล่าช้า จะมีค่าปรับอยู่ที่ร้อยละ 1% ของค่าภาษีรถยนต์ต่อเดือน หากยังไม่ไปชำระ ปล่อยทิ้งไว้นาน ก็จะมีค่าปรับเพิ่มขึ้นไปอีก และในกรณีที่ทะเบียนขาดเกิน 3 ปีขึ้นไป จะมีค่าปรับอยู่ที่ 565 บาทเป็นอย่างต่ำ นอกจากนั้นหากไม่ทำการบันทึกการระงับทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากได้รับจดหมายแจ้งจอด ก็จะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาทอีกด้วย
รถทะเบียนขาด สามารถโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถได้ไหม?
หลายคนที่กำลังมีแผนจะซื้อ-ขายรถยนต์แต่ทะเบียนขาด คำตอบก็คือสามารถซื้อ-ขายรถยนต์ได้ตามปกติเลย เพียงแต่ทะเบียนรถคันดังกล่าวจะต้องขาดไม่เกิน 3 ปี และผู้ซื้อรถจะต้องนำรถไปต่อทะเบียนเอง
อยากผ่อนรถแต่รถทะเบียนขาด สามารถเข้าไฟแนนซ์ได้ไหม?
สำหรับการทำธุรกรรมในด้านอื่นๆ อย่างการนำรถเข้าไฟแนนซ์ หรือการขอสินเชื่อทะเบียนรถนั้น จะไม่สามารถทำได้ เจ้าของรถจะต้องนำรถยนต์คันที่ทะเบียนขาดไปต่อทะเบียนให้เรียบร้อยก่อน
พ.ร.บ. คืออะไร สำคัญอย่างไร?
พ.ร.บ. รถยนต์ ย่อมาจาก พระราชบัญญัติรถยนต์ คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 โดยมีมาตราที่กำหนดไว้ว่า เจ้าของรถที่เป็นผู้ครอบครองรถ มีชื่อระบุอยู่ในเล่มทะเบียนรถ หรือ ผู้ครอบครองรถผ่านการสัญญาเช่าซื้อ จะต้องต่ออายุประกัน พ.ร.บ. รถ ในทุก ๆ ปี นอกจากนั้นยังเป็นเอกสารหลักที่จำเป็นสำหรับการต่อภาษีรถยนต์ในทุกปีอีกด้วย หากไม่ทำ พ.ร.บ. อาจถูกพิจารณาว่าผิดกฎหมาย
ความสำคัญหลักของ พรบ.รถยนต์ คือการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการใช้รถยนต์โดยไม่สนใจว่าผู้กระทำเป็นฝ่ายถูกหรือผิด หากประสบอุบัติเหตุแล้วเกิดความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บ ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับกฎหมายการทำประกัน พรบ.รถยนต์ นี้ไม่ได้บังคับเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังบังคับใช้กับรถยนต์สำหรับการพาณิชย์อย่างรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ด้วย สำหรับค่าเบี้ยประกันภัย อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของรถ ทางเราได้สรุปข้อมูลราคาเบี้ยประกัน พ.ร.บ. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาให้ดังนี้
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน มีเบี้ยประกัน พ.ร.บ. อยู่ที่ 645 บาทต่อปี
- รถกระบะน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน มีเบี้ยประกัน พ.ร.บ. อยู่ที่ 967 บาทต่อปี
- รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง มีเบี้ยประกัน พ.ร.บ. อยู่ที่ 1,182 บาทต่อปี
ปล่อยให้ พ.ร.บ. ขาด หรือ ไม่ทำ พ.ร.บ. มีผลอย่างไรบ้าง?
พ.ร.บ. ขาด เสียค่าปรับเท่าไหร่?
สำหรับเจ้าของรถยนต์บางท่านที่งานยุ่ง จนทำให้หลงลืมกำหนดวันที่ต้องเข้าไปต่อ พ.ร.บ. ในแต่ละปี สามารถเข้าไปต่อ พ.ร.บ. ล่วงหน้าได้ถึง 90 วัน หรือ 3 เดือนด้วยกัน โดยสามารถต่อทะเบียนรถไปพร้อมกันเลยก็ได้ มาดูกันว่าถ้าปล่อยให้ พรบ. ขาด มีค่าปรับเท่าไหร่ หรือหากไม่ทำ พ.ร.บ. จะมีผลอย่างไรบ้าง
- พ.ร.บ. ขาดไม่เกิน 1 ปี สามารถต่อ พ.ร.บ. ได้โดยไม่มีค่าปรับเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามอาจโดนปรับในส่วนของค่าต่อทะเบียน หากว่ารถของคุณทะเบียนขาด
- พ.ร.บ. ขาด 2 ปีขึ้นไป จะไม่สามารถต่อ พรบ ได้โดยทันที เพราะจะต้องนำรถยนต์ไปตรวจสภาพรถ และเข้าไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อทำการต่อทะเบียนรถพร้อมกับเสียค่าปรับให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยแจ้งเรื่องขอซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์ใหม่อีกครั้ง
- พ.ร.บ. ขาด 3 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ พ.ร.บ. ขาดเพราะทะเบียนรถขาดเป็นระยะเวลา 3 ปี เสี่ยงต่อการถูกระงับป้ายทะเบียน ดังนั้นคุณจะต้องดำเนินเรื่องขอจดทะเบียนรถยนต์ใหม่อีกครั้ง พร้อมกับเสียค่าปรับย้อนหลังด้วย หลังจากนั้นก็สามารถแจ้งขอซื้อ พ.ร.บ. ใหม่อีกครั้งนึง
สำหรับรถยนต์ที่ พ.ร.บ. หรือภาษีขาดเกิน 2 ปี หรือ 3 ปีขึ้นไป ให้เตรียมสมุดเล่มทะเบียนรถ , ทะเบียนบ้านของเจ้าของรถยนต์, และ สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์ สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินเรื่องที่กรมการขนส่ง โดยทางขนส่งอาจขอเอกสารเพิ่มเติมในวันจริง ดังนั้นเราขอแนะนำให้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์ทุกฉบับติดตัวไปด้วย
ไม่ทำ พ.ร.บ. เสียค่าปรับเท่าไหร่?
สำหรับกรณีที่ไม่ทำ พรบ ซึ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามกฎหมาย อาจมีโทษและถูกปรับตามรายละเอียดดังนี้
- หากเจ้าของรถไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- หากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ในกรณีที่เป็นเจ้าของรถไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ และนำรถคันนั้นไปขับใช้งาน ถือว่าผิดทั้ง 2 กระทง มีโทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
สรุปความแตกต่างระหว่าง การต่อทะเบียนรถยนต์ และ การซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์
สรุปก็คือ การต่อทะเบียนรถยนต์ คือการที่เจ้าของรถยนต์ชำระค่าภาษีในทุกๆ ปี โดยรัฐจะนำภาษีในส่วนนี้ไปบำรุงรักษาระบบการคมนาคม รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ
ส่วนการซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์ คือ การทำประกันภัยรูปแบบนึง โดยเป็นประกันภัยแบบขั้นต้นที่ผู้ใช้รถยนต์ทุกคนต้องทำ เพราะจะเป็นการคุ้มครองความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งค่า พ.ร.บ. ที่จ่ายไปนั้นก็จะได้รับกลับมาในรูปแบบของเงินช่วยเหลือค่ารักษา และค่าชดเชยอื่นๆ
วิธีต่อทะเบียนรถยนต์ออนไลน์ง่ายๆ ใน 3 สเต็ป
สเต็ป 1 : ซื้อ พ.ร.บ.รถยนต์
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เป็นประกันที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมีและต้องอายุทุกปีตามกฏหมายกำหนด หากคุณยังไม่มี พ.ร.บ. หรือ พ.ร.บ.หมดอายุ ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้จากบริษัทประกันทั่วไป และ บริษัทซันเดย์ช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณสามารถ ซื้อพ.ร.บ.ออนไลน์ ได้แล้ว บริษัทจะจัดส่งไฟล์หลักฐานการเอาประกันภัยให้คุณทางอีเมลและสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่อทะเบียนออนไลน์ในขั้นตอนต่อไปได้ทันที และเอกสารกรมธรรม์ตัวจริงจะถูกจัดส่งไปที่อยู่ที่ท่านระบุไว้ในขั้นตอนการสั่งซื้อ
สเต็ป 2 : เตรียมเอกสารสำหรับการต่อทะเบียนรถ
เตรียมเอกสารเกี่ยวกับรถให้พร้อม เอกสารที่ต้องใช้ได้แก่
- สำเนาสมุดทะเบียนรถ (เล่มเขียว / เล่มฟ้า )
- เอกสารผ่านการตรวจสภาพรถยนต์ : หากรถของคุณมีอายุมากกว่า 7 ปีหรือมีการดัดแปลงติดก๊าซ NGV/LPG จะต้องมี ใบตรวจอนุญาตรถหรือที่นิยมเรียกว่า ตรวจ ตรอ.
โดยคุณต้องนำรถไปตรวจสภาพจากศูนย์ตรวจสอบสภาพรถที่ได้รับรองจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งคุณสามารถค้นหาสถานที่ ตรวจสอบรถยนต์ใกล้บ้าน ผ่าน Google Map ได้แล้ว
สเต็ป 3: ต่อทะเบียนออนไลน์
เมื่อก่อนเราจะต้องไปยังสถานที่ต่าง เช่นห้าง สำนักงานขนส่ง หรือ กรมขนส่ง เพื่อต่อทะเบียนที่เรียกว่า “จุดบริการต่อภาษีแบบเลื่อนล้อ” ซึ่งทำให้เสียเวลาเดินทาง และมีเวลาจำกัดในการติดต่อ ซึ่งปัจจุบันกรมขนส่งทางบก เปิดช่องทางการต่อภาษี หรือ ต่อทะเบียน ผ่านทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งท่านสามารถต่อทะเบียนได้ที่ เว็บของกรมการขนส่งทางบก เลือกชำระเงินได้ทั้งการหักบัญชีเงินฝาก, บัตรเครดิตหรือเดบิต, หรือพิมพ์ใบแจ้งชำระแล้วนำไปจ่ายตามเคาท์เตอร์หรือตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เป็นอันเสร็จ
Sunday มีประกันรถยนต์ที่ช่วยให้คุณสามารถสร้างแผนและปรับเปลี่ยนความคุ้มครองได้ตามความพอใจ
คลิก เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ ศึกษาความคุ้มครอง พร้อมเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ ครบจบในที่เดียว
หากมีคำถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันรถยนต์ สามารถติดต่อ ผ่าน Line ได้ที่ @easysunday หรือโทร. 02-026-3355