‘ไฟไหม้รถยนต์’ อีกหนึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของรถยนต์เท่านั้น บ่อยครั้งเหตุไฟไหม้รถยนต์ยังเกิดขึ้นจากตัวผู้ขับขี่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ไฟไหม้รถยนต์นั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวรถยนต์แล้ว เชื้อเพลิงยังสามารถลุกลามไปยังบริเวณโดยรอบ ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ท้องถนน บ้านเรือน รวมถึงบุคคลที่อยู่รอบข้างอีกด้วย
แล้วไฟไหม้รถเกิดจากอะไร หากเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์ ควรทำอย่างไรบ้าง ประกันรถยนต์ให้ความคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน
ไฟไหม้รถเกิดจากอะไร?
หลายคนมักเข้าใจว่า รถยนต์ไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุรถชนจนทำให้เชื้อเพลิงรั่วไหลและติดประกายไฟ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์ไฟไหม้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จาก 5 สาเหตุหลัก ดังนี้
1. การนำวัตถุไวไฟเข้าไปไว้ในรถยนต์
การนำวัตถุที่ไวต่อความร้อนและไฟเข้ามาในรถยนต์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดสเปรย์ กระป๋องบรรจุสารเคมี ไปจนถึงน้ำหอมที่ใช้งานภายในรถยนต์ นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์บางชนิดยังมีความไวต่อความร้อนและไฟ หากไม่บำรุงรักษาให้ดี อุปกรณ์เหล่านี้อาจระเบิดและทำให้ไฟไหม้รถยนต์ได้
2. การออกแบบรถยนต์ที่ง่ายต่อการลุกไหม้
เช่น รถยนต์ที่มีการนำระบบเชื้อเพลิงไปไว้ด้านหลังรถยนต์ ทำให้เสี่ยงที่รถยนต์จะไฟไหม้เมื่อเกิดอุบัติเหตุชนท้าย ไปจนถึงการวางระบบหล่อเย็นที่ผิดพลาด ทำให้เครื่องยนต์มีความร้อนสะสมสูงและเกิดภาวะ Overheat จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้
3. ผู้ขับขี่ขาดการบำรุงรักษารถยนต์
การบำรุงรักษารถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่รถยนต์ เครื่องยนต์ ระบบเชื้อเพลิง ไปจนถึงตัวกรองไอเสียรถยนต์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยหากชิ้นส่วนข้างต้นนี้เกิดความเสียหาย หรือ เสื่อมสภาพเมื่อไหร่ อาจทำให้เกิดความร้อนสะสมสูงและประกายไฟ ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตามมาได้
4. อุบัติเหตุทางรถยนต์
อุบัติเหตุรถยนต์มาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อชีวิตและความเสี่ยงที่รถยนต์จะเสียหาย หากเกิดอุบัติเหตุรถชนกันอย่างรุนแรง นอกจากจะเสี่ยงทำให้หม้อน้ำแตกและเพิ่มความร้อนสะสมให้กับเครื่องยนต์แล้ว แรงชนจากอุบัติเหตุยังอาจทำให้เชื้อเพลิงรั่วไหล โดยเชื้อเพลิงรถยนต์นั้นมีจุดเผาไหม้เพียง 72 องศาเซลเซียสเท่านั้น ทำให้ง่ายต่อการเกิดประกายไฟและเกิดเป็นเหตุเพลิงไหม้ได้เช่นกัน
5. ของเหลวในรถยนต์รั่วไหล
ของเหลวในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก รวมไปถึงของเหลวส่วนใหญ่ จะมีจุดเผาไหม้ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ง่ายต่อการเกิดประกายไฟ ดังนั้น หากไม่ดูแลรักษารถยนต์ให้ดี หรือ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็อาจทำให้ของเหลวเหล่านี้รั่วซึมออกมาและเพิ่มความเสี่ยงที่รถยนต์จะไฟไหม้ได้เช่นกัน
ไฟไหม้รถ ผู้ขับขี่ควรทำอย่างไร?
หลังจากที่ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไฟไหม้รถเกิดจากอะไร ทีนี้ลองมาดูวิธีรับมือเหตุไฟไหม้รถยนต์เบื้องต้นที่จะช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ ผู้ร่วมเดินทาง และทุกคนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบกัน โดยหากเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์ขึ้นมา ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ตั้งสติ เปิดไฟฉุกเฉิน และนำรถยนต์เข้าข้างทาง
หากเกิดเหตุไฟไหม้รถแล้วไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้มั่น จากนั้นเปิดไฟฉุกเฉินให้เพื่อนร่วมทางทราบและรีบนำรถยนต์เข้าข้างทาง เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่นี้จะลุกลามไปยังบริเวณโดยรอบ หรือ เกิดเหตุระเบิดหรือไม่
2. ดับเครื่องยนต์และรีบหาทางดับเพลิง
เมื่อนำรถยนต์เข้าข้างทางได้เรียบร้อย หรือ หากเกิดเหตุรถยนต์ไฟไหม้ขณะรถติด สิ่งต่อมาที่ควรทำ คือ ดับเครื่องยนต์ พร้อมลงมาดูต้นตอและความรุนแรงของไฟไหม้ จากนั้นจึงรีบหาทางดับเพลิงให้ไวที่สุด
หากรถยนต์ของใครมีถังดับเพลิงติดตั้งเอาไว้ ให้พิจารณาถึงประเภทของเพลิงไหม้ก่อนใช้งานถังดับเพลิงก่อน โดยพิจารณาได้ดังนี้
- เพลิงไหม้ประเภท A เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง ให้ดับด้วยถังดับเพลิงแบบสเปรย์โฟม แบบผงเคมีแห้ง แบบสารเหลวระเหย หรือ แบบเคมีสูตรน้ำ
- เพลิงไหม้ประเภท B เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ดับด้วยถังดับเพลิงแบบสเปรย์โฟม แบบผงเคมีแห้ง แบบสารเหลวระเหย หรือ แบบเคมีสูตรน้ำ
- เพลิงไหม้ประเภท C เกิดจากไฟฟ้าขัดข้อง ลัดวงจร หรือ แบตเตอรี่ทำงานผิดพลาด ให้กับด้วยถังดับเพลิงแบบผงเคมีแห้ง แบบสารเหลวระเหย หรือ แบบเคมีสูตรน้ำ เท่านั้น
ประเภทเพลิง | ถังดับเพลิง สเปรย์โฟม | ถังดับเพลิง ผงเคมีแห้ง | ถังดับเพลิง สารเหลวระเหย | ถังดับเพลิง เคมีสูตรน้ำ |
---|---|---|---|---|
A เชื้อเพลิงของแข็ง | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
B เชื้อเพลิงจากน้ำมันเชื้อเพลิง | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
C เชื้อเพลิงจากไฟฟ้าขัดข้อง หรือ แบตเตอรี่ | – | ✓ | ✓ | ✓ |
สำหรับใครที่ไม่มีถังดับเพลิง ให้รีบลดความรุนแรงของไฟด้วยการใช้ผ้าแห้ง ทราย หรือ ผ้าชุบน้ำ จากนั้นจึงรีบขอความช่วยเหลือจากผู้สัญจรไปมา หรือ หน่วยงานในพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง โทร. 1193 หรือ แจ้งเหตุเพลิงไหม้ โทร. 199 ทันที
3. ไม่เปิดให้อากาศเจอกับเพลิง
เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์ คนส่วนใหญ่มักรีบเปิดฝากระโปรงรถยนต์เพื่อดับไฟ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากยิ่งเปิดกระโปรงรถยนต์เข้าไป ก็จะยิ่งทำให้ไฟรุนแรงขึ้นจากการสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ดังนั้น หากพบต้นตอของเหตุเพลิงไหม้แล้ว ให้ค่อย ๆ ฉีดถังดับเพลิงเข้าไปตามช่องว่าง หากไฟไหม้เริ่มเบาลง ให้เปิดจุดที่ไฟไหม้และฉีดถังดับเพลิงให้ทั่ว
4 เทคนิคดูแลรักษารถยนต์ ลดความเสี่ยงไฟไหม้รถยนต์ได้
เหตุไฟไหม้รถยนต์ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้ทรัพย์สิน แต่ยังเป็นภัยถึงชีวิตของทั้งผู้ขับขี่ ผู้ร่วมเดินทาง และผู้อยู่โดยรอบเช่นกัน ดังนั้น หลังจากที่ทราบแล้วว่าไฟไหม้รถเกิดจากอะไร ควรทำอย่างไรบ้างแล้ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่รถยนต์จะไฟไหม้ในอนาคต ทุกคนควรดูแลรักษารถยนต์ของตัวเองเป็นประจำ เริ่มต้นง่าย ๆ ตาม 4 เทคนิค ดังนี้
1. เช็กความเหลวรั่วซึมตามจุดต่าง ๆ
ตั้งแต่ของเหลวรั่วซึมตามท่อภายในห้องเครื่อง ใต้ท้องรถยนต์ ไปจนถึงของเหลวซึมจากช่องเติมน้ำมัน โดยหากขับรถยนต์ไปแล้วได้กลิ่นน้ำมัน หรือ กลิ่นผิดปกติเมื่อไหร่ ให้รีบจอดและดับรถยนต์ทันที เพราะหากยิ่งฝืนขับรถยนต์ต่อไป อาจทำให้ของเหลวติดประกายไฟได้
2. เปิดกระโปรงรถยนต์เพื่อหาความผิดปกติ
ไม่ว่าจะเป็นรอยเขม่าที่บริเวณฝากระโปรง การรั่วซึมที่ท่อต่าง ๆ ภายในห้องเครื่อง ไปจนถึงความผิดปกติของท่อน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปกติแล้ว ท่อน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีความร้อนสูงมากในขณะที่ใช้งานรถยนต์ หากท่อดังกล่าวมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่รถยนต์จะไฟไหม้ได้
3. เช็กความผิดปกติของระบบระบายความร้อนเป็นประจำ
หม้อน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความร้อนของเครื่องยนต์ของรถยนต์สันดาป ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมี Liquid Cooling System เข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ดี หากไม่อยากให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยไม่คาดคิด อย่าลืมตรวจสอบความผิดปกติของระบบระบายความร้อนให้ดี ตั้งแต่ระดับน้ำในหม้อน้ำ ความร้อนภายในห้องเครื่องที่แสดงผลที่หน้าปัดในรถยนต์ ไปจนถึงสภาพการทำงานของระบบระบายความร้อนทั้งหมด
4. เช็กระดับน้ำมันของรถยนต์เป็นประจำ
สำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าสันดาป อย่าลืมสังเกตระดับน้ำมันของรถยนต์เป็นประจำด้วย โดยหากรถยนต์มีการใช้น้ำมันที่มากกว่าปกติ หรือ น้ำมันหมดไวกว่าที่ควรจะเป็น ขอแนะนำให้รีบนำรถยนต์ไปตรวจสอบเพื่อหาการรั่วซึมทันที
รถไฟไหม้ ประกันจ่ายไหม ในกรณีไหนบ้าง?
เมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างรถยนต์ไฟไหม้ เชื่อว่าผู้ขับขี่หลาย ๆ คนคงนึกถึงประกันรถยนต์เป็นอันดับแรก แต่การจะตัดสินได้ว่ารถไฟไหม้แล้วประกันจ่ายไหมนั้น โดยพื้นฐานแล้วจะต้องพิจารณาจาก 2 เรื่อง ประกอบไปด้วย
- ประเภทของประกันรถยนต์ โดยประกันชั้น 1 ชั้น 2+ และ 2 จะให้ความคุ้มครองในกรณีรถยนต์ไฟไหม้ แต่ประกันรถยนต์ชั้น 3 และ 3+ จะไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนนี้
- ระดับความเสียหายของรถยนต์ โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณีหลัก
- กรณีเสียหายบางส่วน หรือ กรณีที่รถยนต์ยังสามารถซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ บริษัทประกันอาจเสนอให้เลือกระหว่างซ่อมรถยนต์ หรือ รับเงินชดเชยความเสียหาย*
- กรณีเสียหายสิ้นเชิง หรือ กรณีที่รถยนต์เสียหายมากกว่า 70% ของสภาพรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมรถยนต์ได้ บริษัทประกันจะทำการจ่ายเงินค่าเสียหายให้เต็มจำนวนของทุนประกันสูงสุด*
อย่างไรก็ดี หากไม่ชัวร์ว่ารถไฟไหม้แล้วจะซ่อมได้ไหม ประกันชั้น 1 คุ้มครองอะไรบ้างในกรณีที่รถยนต์ไฟไหม้ ผู้เอาประกันสามารถติดต่อบริษัทประกันรถยนต์ให้เข้ามาประเมินสภาพรถยนต์ก่อนได้เช่นกัน
เท่านี้ก็ได้ทราบเป็นที่เรียบร้อยว่าไฟไหม้รถยนต์เกิดจากอะไร ควรทำอย่างไร ทั้งยังหมดข้อสงสัยด้วยว่า รถไฟไหม้ ประกันจ่ายไหม รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมนำรายละเอียดที่นำมาฝากนี้ไปปรับใช้ พร้อมวางแผนดูแลรถยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
ที่สำคัญ อย่าลืมมองหาตัวช่วยบริหารความเสี่ยงจากเหตุเพลิงไหม้รถยนต์อย่างประกันรถยนต์ที่เหมาะสมกับรถยนต์ของเราด้วย แล้วรถยนต์ของเราต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ มาปรับความคุ้มครองตามต้องการ พร้อมให้ระบบคำนวณเบี้ยประกันที่เหมาะสมให้ทันที
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ของบริษัทประกันรถยนต์แต่ละแห่ง