โรคที่มากับน้ำท่วม ภัยอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง
หนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนชาวไทยคืออุทกภัยหรือน้ำท่วม อย่างในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่า 4.74 ล้านไร่ที่ถูกน้ำท่วมทั่วประเทศไทย ในปี 2567 นี้เองก็มีน้ำท่วมใหญ่หลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย และส่งผลกระทบทำให้ประชาชน พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำเกษตรกรรมได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
หลังจากน้ำท่วมแล้ว จึงมีการทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด นอกจากการทำความสะอาดพื้นที่แล้ว หนึ่งในสิ่งที่มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก็คือโรคที่มากับน้ำท่วมและโรคที่มาหลังน้ำท่วม ซึ่งวันนี้ซันเดย์จะพาทุกคนไปดูกันว่ามีโรคที่มากับน้ำท่วมใดบ้างที่กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญ
โรคที่มากับน้ำท่วม ที่พบได้บ่อย
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทางกรมควบคุมโรคก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่ามีโรคที่มากับน้ำท่วมที่ควรระวังอยู่ดังต่อไปนี้
- โรคฉี่หนู
- โรคเมลิออยด์ (โรคไข้ดิน)
- โรคตาแดง
- โรคไข้เลือดออก
- โรคอุจจาระร่วง
ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะพบระหว่างและหลังเหตุการณ์น้ำท่วม เดี๋ยวไปดูกันว่าแต่ละโรคเกิดจากอะไร และควรระวังอย่างไรบ้าง
โรคฉี่หนู
โรคที่มากับน้ำท่วมที่พบได้บ่อยคือโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในปัสสาวะของสัตว์ต่าง ๆ เช่น หนู สุนัขและหมู เป็นต้น โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะติดต่อเข้าสู่ร่างกายคนได้ผ่านบาดแผล เมื่อมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้โรคนี้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น หากเรามีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนแล้วเดินลุยน้ำที่มีเชื้อนี้อยู่ ก็สามารถติดโรคได้แล้ว
อาการที่พบหลังจากติดเชื้อคือมีไข้สูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ตาแดง ตัวเหลือ ตาเหลือง หนาวสั่นและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากพบอาการเหล่านี้แล้วไปพบแพทย์ จะได้รับยาปฏิชีวนะและยารักษาตามอาการ หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายถึงชีวิต
สามารถป้องกันเบื้องต้นด้วยการดูแลพื้นที่รอบ ๆ บ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หากมีน้ำท่วมขังแล้วจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้ากันน้ำที่ช่วยป้องกันผิวหนังจากการสัมผัสกับน้ำโดยตรงให้ได้มากที่สุด
โรคไข้ดิน
นี่เป็นโรคที่มักจะมาหลังน้ำท่วม เมื่อน้ำลดแล้วและเหลือเศษดินหรือโคลนในพื้นที่ โดยส่วนมากจะเป็นช่วงที่มีการทำความสะอาดพื้นที่กัน โดยโรคไข้ดินนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน โคลนและน้ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคไต โรคทาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่องและอื่น ๆ มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้คือมีไข้สูง ไอติดต่อกัน หากปล่อยไว้นานจะเกิดฝีหนองตามร่างกายตลอดจนอวัยวะภายในได้
สำหรับการป้องกันคือต้องหลีกเลี่ยงการเดินย่ำโคลน ดินและน้ำโดยตรง หากมีความจำเป็น แนะนำให้ใส่รองเท้าบูตหรือชุดลุยน้ำ เพื่อลดระดับความเสี่ยงในการเกิดโรค
โรคตาแดง
โรคที่มาหลังน้ำท่วมที่พบได้บ่อยอีกหนึ่งโรคคือโรคตาแดง โดยมีทั้งแบบที่ติดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถได้รับเชื้อเหล่านี้ได้ผ่านทางการสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง เช่น น้ำกระเด็นเข้าตาหรือใช้มือสัมผัสกับน้ำแล้วนำมาขยี้ตาต่อ เป็นต้น อาการที่สังเกตได้เบื้องต้นคือตาขาวมีสีแดงผิดปกติ น้ำตาไหลเยอะ แสบหรือคันตา มีขี้ตามากขึ้น ไอและเจ็บคอ
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตและหายได้เอง แต่ก็ควรเฝ้าระวังไว้เพราะสามารถติดต่อได้ง่าย หากมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อรับยาสำหรับหยอดตาและรักษาตามอาการอื่น ๆ ต่อไป วิธีป้องกันคือควรล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ไม่สัมผัสกับน้ำท่วมขังโดยตรงถ้าไม่จำเป็น และไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคยอดฮิตที่มักจะมาในช่วงหน้าฝน และในช่วงน้ำท่วม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมากในบริเวณอยู่อาศัย ทำให้ยุงลายสามารถเพาะพันธุ์ได้มากขึ้น อาการที่สังเกตได้คือมีไข้สูงมาก ถึงแม้ว่าจะกินยาลดไข้แล้ว ก็ยังไข้ไม่ลด มีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อยลง และสามารถสังเกตจุดแดงหรือผื่นที่ขึ้นทั่วตัวได้เช่นกัน
สำหรับผู้ที่ร่างกายแข็งแรง โรคไข้เลือดออกไม่อันตรายมากนัก แต่สำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มากับน้ำท่วมที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากมีอาการใกล้เคียงในระยะเริ่มต้น ให้รีบแจ้งทีมช่วยเหลือทันที เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกคือการนอนในมุ้ง ใช้ยากันยุงที่มีประสิทธิภาพ
ไข้เลือดออก” โรคอันตราย จากยุงลายตัวร้ายนอกฤดูฝน!
โรคอุจจาระร่วง
โรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมโรคสุดท้ายคือโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเกิดจากการสัมผัสหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ การใช้น้ำที่ไม่สะอาดในการดำรงชีวิต ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีน้ำท่วมสูง ทำให้ขาดทรัพยากรด้านน้ำสะอาดในการดำรงชีวิต
อาการคือมีการถ่ายเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน และมีมูกเลือดปนออกมาด้วย วิธีป้องกันคือดื่มและใช้น้ำสะอาดจากขวดเท่านั้น ก่อนปรุงอาหารหรือรับประทานอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หากติดอยู่ในที่พักและยังไม่สามารถอพยพออกนอกพื้นที่ได้ ไม่ควรขับถ่ายลงในน้ำที่ท่วม แต่ควรขับถ่ายลงในถังหรือถังพลาสติก แล้วมัดปาดถุงให้แน่นเพื่อนำไปทิ้งอีกครั้ง
น้ำท่วมเกิดได้แบบไม่คาดคิด
นอกจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดได้อย่างเฉียบพลันแล้ว อาการเจ็บป่วยที่มากับน้ำท่วม และอาการเจ็บป่วยในภาวะปกติก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวเช่นกัน ดังนั้น เราควรเลือกซื้อประกันสุขภาพดี ๆ ติดตัวเอาไว้ เพื่อทำให้มั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะมีคนดูแลทั้งในด้านการรักษาและค่าใช้จ่าย