หน้าหลัก สาระสุขภาพ “ไข้เลือดออก” โรคอันตราย จากยุงลายตัวร้ายนอกฤดูฝน!

“ไข้เลือดออก” โรคอันตราย จากยุงลายตัวร้ายนอกฤดูฝน!

หนึ่งในโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทำงานอย่างเราๆ ก็คงไม่พ้น “โรคไข้เลือดออก” ซึ่งหลายคนก็น่าจะพอทราบกันดีว่าโรคนี้มีที่มาจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) กัด ทำให้เกิดอาการป่วยจนไม่สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติ นอกจากนั้นโรคนี้มีโอกาสทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากดูแลตัวเองไม่ถูกต้อง โดยคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกได้ ที่นี่

ว่าแต่ทำไมเราถึงมาพูดเรื่องโรคไข้เลือดออกในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งมีการนิยามเอาไว้ว่าเป็นช่วงหน้าร้อน แทนที่ปกติเรามักจะมีการแจ้งเตือนโรคไข้เลือดออกกันในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นฤดูที่ยุงลายกำลังแพร่พันธุ์กันมากกว่า? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้

ทำไมคุณหมอถึงออกมาแจ้งเตือนเรื่องแนวโน้มการระบาดของไข้เลือดออกในช่วงหน้าร้อน? (มีนาคม – พฤษภาคม 2565)

ปกติแล้วโรคไข้เลือดออกมักจะเกิดการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – กันยายน) แต่ถ้าลองเช็กข้อมูลจากข้อมูลของกองระบาดวิทยา ที่ได้มีรายงานออกมาในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ว่าสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้น มีข้อมูลทางสถิติที่ควรจับตามองและเฝ้าระวังว่าโรคนี้อาจเกิดการระบาดได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นแม้ว่าจะยังไม่ถึงฤดูฝนเลยก็ตาม

  • ในเดือน ม.ค. – ก.พ. ในปี 2565 มีการพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกทั้งหมด 2 ราย คิดเป็น 0.44% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
  • แม้ว่าอาจจะฟังดูไม่มาก แต่หากนำเอาข้อมูลของ 2 เดือนแรกในปี พ.ศ. 2565 เทียบกับข้อมูลของปี 2564 ตลอดทั้งปีนั้น พบว่าในปี 2564 จะมีจำนวนผู้เสียชีวิต 6 รายเท่านั้น (คิดเป็น 0.06%)  จากผู้ป่วยทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วง “เริ่มต้นหน้าร้อน” ตามการนิยามของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่กลับพบจำนวนของผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว โดยที่ยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูของการระบาดเลยด้วยซ้ำ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ก็อาจทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าปี 2564 ที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกมากกว่านี้ และเพื่อเป็นความรู้ในการดูแลตนเอง ซันเดย์จึงได้ขอคำปรึกษาจาก “คุณหมอชัย” นพ. วิชัย อังคเศกวินัยอายุรแพทย์โรคหลอดเลือดและหัวใจ เพื่อให้แนวทางกับทุกคน

ถ้าโดนยุงลายกัดจนติดเชื้อไข้เลือดออก จะมีอาการยังไง?

คุณหมอชัยได้ให้ข้อมูลว่า อาการของคนที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ที่เราสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนเลย

หลังจากโดนยุงที่มีเชื้อกัดแล้ว ประมาณ 3-8 วัน (ระยะฟักตัว) มีดังนี้

  • มีไข้ขึ้นสูง บางรายอาจมีไข้ขึ้นถึง 40 องศา
  • มีอาการปวดเมื่อย ปวดหัว ปวดตัว ปวดกระดูก ปวดตา ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อาจมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ชายโครงด้านขวา เพราะผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีอาการตับอักเสบร่วมด้วย
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากอาการตับอักเสบ
  • มีอาการผื่นแดง ตุ่มแดงปรากฏ ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในช่วงที่ไข้ลงแล้ว

เราจะแยกความแตกต่างของไข้เลือดออก vs ไข้หวัดใหญ่ vs COVID-19 ได้ยังไง?

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่นั้น เป็นอาการของไข้เลือดออก หรือเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ธรรมดา คุณหมอชัยได้ให้ข้อสังเกตว่า อาการของโรคไข้เลือดออกนั้น แทบไม่มีอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเลย แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่

เช่น คนที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดตามเนื้อตัว และมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล รวมถึงมีอาการไอหรือเจ็บคอเป็นระยะ กลุ่มนี้อาจจะมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ไม่ใช่โรคไข้เลือดออก

อีกประเด็นที่หลายคนน่าจะอยากทราบ ก็คือ ความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกกับ COVID-19 นั้น สามารถแยกความแตกต่างกันได้เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ นั่นก็คือ COVID-19 มักจะมีอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเช่นกัน เช่น มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย อ่อนล้า น้ำมูกไหล เจ็บคอ จาม หรือไม่รับรู้กลิ่นและรส (อาการขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของ COVID-19) ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการป่วยดังกล่าว ควรต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง

เป็นโรคไข้เลือดออกมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคไข้เลือดออกนั้น หากดูแลตัวเองได้ถูกต้องและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จะสามารถหายเป็นปกติได้เอง แต่ก็มีกรณีที่ผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกนั้นเกิดการเสียชีวิตเช่นกัน ซึ่งคุณหมอชัยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก มี 4 สาเหตุ ดังนี้

  1. ถูกไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์รุนแรงเล่นงาน เนื่องจากไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ถ้าติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าสายพันธุ์ที่เบากว่าได้
  2. อาการป่วยส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน โรคอ้วน ความดัน ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่ออาการป่วยที่เป็นแตกต่างกันไปในแต่ละคน
  3. ผู้ป่วยเคยมีประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว เรื่องจากเชื้อไวรัสเดงกี สามารถตอบสนองต่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อมาก่อนจนทำให้มีการอักเสบรุนแรงได้ โดยเฉพาะคนที่พึ่งติดเชื้อมาในช่วง 6 เดือน-1 ปี 
  4. การดูแลตัวเองของคนไข้ไม่เหมาะสม เช่น การที่ผู้ป่วยขาดน้ำเนื่องจากไม่อยากอาหาร หรือเป็นผู้ป่วยที่ตัดสินใจเลือกซื้อยาทานเอง และอาจจะเลือกทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาทิ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาทัมใจ ฯลฯ ซึ่งไม่ควรทำ เนื่องจากอาจทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำและเกิดอาการเลือดไหลภายในร่างกาย จนถึงแก่ชีวิต

สิ่งสำคัญก็คือ “ช่วงไข้ลดลง” จะเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดของอาการไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำมากที่สุด ดังนั้นต้องเช็กตัวเองให้ดีว่า มีเลือดออกในร่างกายที่ไหนหรือไม่? โดยเฉพาะถ้าเป็นอาการเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น กระเพาะอาหาร สมอง หรือลำไส้ใหญ่ เช่น มีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนดำ ปวดท้องรุนแรง ปวดหัวรุนแรง หน้ามืด ใจสั่น ตัวเย็น ฯลฯ หรือเปล่า เพราะอาการเหล่านี้จะบอกเราว่าอาจมีเลือดออกภายในร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง

เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก คุณหมอแนะนำว่าควรทำแบบนี้

  • มีไข้เมื่อไหร่ (อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาฯ ขึ้นไป)ให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรฝืนทำงาน
  • ไม่ควรให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด! โดยให้ลองสังเกตเวลาที่คนป่วยปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะเป็นสีเข้มให้ทานน้ำเข้าไปเยอะๆ ให้ปัสสาวะสีอ่อน หรือสีใส จะเป็นการดี
  • ไม่ควรกินยาแก้ปวดตระกูล NSAIDs เพราะยาเหล่านี้จะไปรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะมากขึ้น
  • สามารถทานยาแก้ปวดตระกูลพาราเซตามอลได้ โดยให้เว้นระยะในการทานทุก 4-6 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรทานยาต่อเนื่องนานเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อภาวะตับอักเสบได้
  • ควรหมั่นเช็ดตัวเยอะๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กใช้วิธีเช็ดตัวจะดีกว่าทานยา

ป่วยเป็นไข้เลือดออกต้องเข้าพักรักษาตัวใน รพ. กี่วัน?

หากคุณป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วตัดสินใจไปที่ รพ. คุณหมออาจจะแนะนำให้เข้าพักรักษาตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยในแต่ละคน แต่หากจำเป็นจริงๆ คุณอาจจะต้องนอนพักรักษาตัวใน รพ. ประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความเสี่ยงและความรุนแรงของอาการ

จุดต่างกันที่แพทย์จะเลือกให้คนไข้นอน รพ. หรือไม่ ดูจากว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดน้ำหรือเปล่า เนื่องจากคนไข้ที่นอนรักษาที่ รพ. จะไม่ได้แตกต่างจากการดูแลตัวเองที่บ้าน แต่จะเพิ่มความมั่นใจได้ว่าคนไข้จะไม่มีอาการขาดน้ำอย่างแน่นอน เช่น หากคนไข้ไม่สามารถทานอาหารหรือน้ำได้ เป็นคนที่มีโรคประจำตัวเยอะ มีไข้สูงรุนแรง หรือมีผลเลือดที่บ่งบอกว่า ค่าไต ค่าตับ ผิดปกติ หรือการตรวจปัสสาวะแล้วมีผลไม่ดี เป็นต้น

  • นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีไข้เป็นวันที่ 1 ปกติไข้ควรจะลดลงภายใน 5-7 วัน ต่อให้อยู่ รพ. หรือไม่ก็ตาม
  • ปกติอาการไข้ของโรคไข้เลือดออกจะเริ่มหนักขึ้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 3  
  • ถ้ามาเจอหมอวันที่ 1 หมออาจจะนัดตรวจเพื่อเจาะเลือดวันที่ 3 หรือวันที่ 5 เพื่อเช็กอาการว่าแย่ลงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่า ตัวคนไข้จะสามารถดูแลตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
  • เมื่อหลังจากไข้ลงแล้ว หมอมักจะให้คนไข้นอน รพ. ก่อนอีก 1-2 วันเพื่อดูว่าร่างกายสามารถฟื้นเกล็ดเลือดขึ้นตามเกณฑ์โดยธรรมชาติได้หรือไม่ หลังจากนั้นจึงให้คนไข้กลับบ้านได้

ดังนั้นหากคนทำงานมีอาการเจ็บป่วยเป็นไข้เลือดออก แล้วมีประกันสุขภาพที่ให้การคุ้มครองการเข้ารักษาตัวใน รพ. ก็จะสามารถใช้สิทธิ์ความคุ้มครองของผู้ป่วยใน (IPD) โดยประเมินได้ที่ระยะเวลาราวๆ 5-7 วัน จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น

โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าคุณจะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ การที่มี “ประกันสุขภาพซันเดย์” ที่รองรับความคุ้มครองในการณีเข้าพักรักษาตัวใน รพ. ที่ครอบคลุมทั้งค่าห้อง ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ฯลฯ นั้น ย่อมมีความสบายใจกว่า เพราะคุณสามารถเลือกใช้สิทธิ์ประกันที่มี ที่ รพ. แห่งใดก็ได้ โดยเฉพาะ รพ. ที่อยู่ในเครือข่ายของซันเดย์
คลิกซื้อประกันสุขภาพซันเดย์ เตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ ที่นี่

Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

5 สิ่งที่นักลงทุนมือใหม่ต้องรู้ ก่อนเริ่มลงทุนก้อนแรก

มือใหม่อยากลงทุนต้องรู้จักกับ 5 สิ่งนี้ เมื่อพูดถึงการลงทุน หลาย ๆ คนอาจจะมองว่ายังเป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก…

สายกินต้องระวัง! กินหมูกระทะ เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับได้!

หมูไม่สุก สาเหตุของโรคไข้หูดับ อันตรายถึงชีวิต! สุขไหนจะเท่าการได้นั่งกินหมูกระทะอร่อย ๆ หรือจะเป็นหมูจุ่มฟิน ๆ…
หมูกระทะ เสี่ยงโรค

เช็กลิสต์ 10 วิธีดูแลสุขภาพให้ดีทั้งกายและใจ ใคร ๆ ก็ทำได้

สุขภาพดีที่สร้างได้จาก 10 วิธีการดูแลตัวเองเหล่านี้ อยากมีสุขภาพดี แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน…
how to take care your self
0
Share