มีงบไม่เยอะซื้อกองทุน RMF ยังไงดี?
เรื่องการออมเงินเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณคงเป็นเรื่องที่ใครหลายคนตระหนักกันดีอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนก็อาจจะไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นออมเงินหรือลงทุนอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ในบทความนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ว่ากองทุน RMF นั้นคืออะไร? กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ไหม? กองทุน RMF ต้องซื้อทุกปีไหม? หรือการขายคืน RMF จะต้องทำอย่างไรไม่ผิดเงื่อนไข? เราหาคำตอบมาให้คุณแล้วในบทความนี้
รู้จักกองทุน RMF
กองทุน RMF คืออะไร? กองทุน RMF นั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการสนับสนุนการออมเงินเพื่อการเกษียณของคนไทย โดยการลงทุน RMF นั้นจะเป็นการลงทุนในระยะยาว มีข้อดีที่น่าสนใจก็คือกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ โดยจะได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
ทำไมจึงเหมาะกับมนุษย์เงินเดือน?
- เป็นหลักประกันว่าจะมีเงินใช้หลังเกษียณแน่นอน
- สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท
- ไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมาก เพราะการลงทุน RMF ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน
- สามารถเลือกกองทุนตามระดับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ได้
กองทุน RMF มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตก็คือแล้วกองทุน RMF มีเงื่อนไขอะไรบ้าง? หรือกองทุน RMF ต้องซื้อทุกปีไหม? ไปดูกันว่ากองทุน RMF จะมีเงื่อนไขอย่างไร
- อย่างที่ได้บอกไปว่าการลงทุนในกองทุน RMF นั้นเป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นเงื่อนไขหลักๆ ก็คือต้องลงทุนอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน
- จะสามารถขายกองทุนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปี
- ต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องหรือปีเว้นปีเพื่อไม่ให้เป็นการผิดเงื่อนไข
- ไม่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี
หากผิดเงื่อนไขจะเกิดอะไรขึ้น?
ในกรณีที่ลงทุน RMF แล้วมีการขายคืน RMF แบบผิดเงื่อนไขนั้น บทลงโทษจะแยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1: ลงทุนน้อยกว่า 5 ปี และผิดเงื่อนไขการลงทุน จะต้องคืนภาษีที่ได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลังและต้องนำกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปยื่นรวมเสียภาษี
กรณีที่ 2: ลงทุนมากกว่า 5 ปี และผิดเงื่อนไขการลงทุน จะต้องคืนภาษีที่ได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลัง
นอกจากนี้ไม่ว่าจะลงทุนมามากกว่าหรือน้อยกว่า 5 ปี หากยื่นคืนภาษีช้ากว่าเดือนมีนาคมปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน
ไม่รู้จะซื้อ RMF กองไหนดี? แนะนำเทคนิคเลือกกองทุน
สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุน แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุน RMF กองไหนดี เราจะมาแนะนำวิธีการเลือกกองทุนกันว่า ก่อนที่จะเลือกซื้อกองทุนซักกองนั้น เราควรจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง?
1. เลือกประเภทกองทุนที่เหมาะกับเรา
หากถามว่าจะซื้อ RMF กองไหนดีนั้น อย่างแรกเลยควรเลือกประเภทกองทุนที่เหมาะกับเรา เพราะกองทุน RMF นั้นมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นโลกหรือสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ ซึ่งกองทุนแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป โดยหากใครที่ยังมีอายุไม่เยอะ และสามารถลงทุนได้มากกว่า 10 ปี ก็สามารถบริหารพอร์ตโดยเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูงได้มากกว่าผู้ที่มีอายุเยอะแล้ว
2. เลือกกองทุนที่มีผลตอบแทนย้อนหลังดี
ก่อนที่เราจะเลือกลงทุนในกองทุนใดก็ควรจะทำการศึกษาหาข้อมูลว่ากองทุนไหนที่มีผลตอบแทนย้อนหลังดี โดยให้นำผลดำเนินงานย้อนหลังของแต่ละกองทุนมาเปรียบเทียบ และนอกจากจะพิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลังแล้ว ก็ควรดูถึงความสม่ำเสมอของผลตอบแทนของกองทุนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
3. กระจายการลงทุน
การกระจายการลงทุนนั้นเปรียบเสมือนเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนนั้นให้พิจารณาจากทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมที่เราลงทุน ภูมิภาคที่เราลงทุน รวมถึงประเภทของสินทรัพย์ที่ควรมีความหลากหลาย
4. ค่าใช้จ่ายกองทุนต้องสมเหตุสมผล
เนื่องจากเวลาที่เราเลือกซื้อกองทุน ก็จะมีค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งเราควรจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายรวมตรงนี้ให้ดี เพราะบางครั้งอีกกองทุนอาจได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเล็กน้อย และพอมาคิดรวมกับค่าใช้จ่ายรวมแล้ว กลายเป็นว่าได้กำไรเยอะกว่าซะงั้น และอย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายรวมตรงนี้เราต้องจ่ายนับ 10 ปี เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
บทความน่าอ่าน > DCA คืออะไร ควร DCA ในหุ้นหรือกองทุนดี?
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ากองทุนข้างต้นจะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง แต่หากชาวมนุษย์เงินเดือนอยากจะลงทุน ก็ต้องคำนวณรายรับรายจ่ายและสภาพคล่องทางการเงินให้ดีด้วย รวมถึงประเมินว่าตนเองสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพราะยิ่งได้ผลตอบแทนสูง ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีความผันผวนสูงเช่นกัน
แต่นอกจากเรื่องการลงทุนแล้ว หากอยากเพิ่มความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ก็อย่าลืมทำประกันสุขภาพออนไลน์ เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่าเราจะเจ็บป่วยขึ้นมาตอนไหน จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และใช้ชีวิตก่อนและหลังเกษียณได้อย่างสบายใจ
*การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
อ้างอิง: SCB , Edge , Krungsri