หน้าหลัก เรื่องราวรอบตัว ออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ห้ามทำอะไร ต้องไหว้อะไรบ้าง?

ออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ห้ามทำอะไร ต้องไหว้อะไรบ้าง?

ออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ห้ามทำอะไร ต้องไหว้อะไรบ้าง

เมื่อถึงวันรับรถยนต์คันใหม่ เชื่อว่าใครหลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้นจนเผลอลืมเช็กหลายเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวรถยนต์ไป จนทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่ตกตามมามากมาย ซึ่งนอกจากจะเสียทั้งเงินและเวลาแล้ว บางปัญหายังทำให้เสียความรู้สึกในระยะยาวได้เช่นกัน

ดังนั้น ก่อนจะสตาร์ทรถยนต์ออกจากศูนย์ทุกครั้ง ลองมาดูทุกเรื่องสำคัญที่ต้องเช็กให้ชัวร์และเตรียมตัวให้พร้อมก่อบขับรถยนต์คันใหม่ออกจากศูนย์กัน แล้วการออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง เลือกฤกษ์ออกรถคันใหม่อย่างไรให้เหมาะสม ตรวจทานเอกสารและค่าใช้จ่ายในการรับรถยนต์คันใหม่อย่างไร มาไขทุกข้อสงสัยได้ในบทความนี้กัน

ออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง-4-เช็กลิสต์

1. ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม

หลังจากที่จ่ายเงินค่าจองรถยนต์คันใหม่เรียบร้อย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าจะสามารถรับรถยนต์คันใหม่ออกจากศูนย์ได้ทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของรถยนต์ยังต้องชำระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในวันรับรถยนต์ด้วย โดยค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมในวันรับรถยนต์จะมีดังนี้

  • เงินดาวน์รถยนต์ หรือ เงินผ่อนชำระงวดแรก อย่าลืมสอบถามกับทางศูนย์รถยนต์ให้ชัวร์ว่าต้องใช้จำนวนเงินเท่าไหร่ มีค่าธรรมเนียมหรือไม่ และสามารถเลือกชำระช่องทางไหนได้บ้าง โดยส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของรถยนต์สามารถเลือกชำระเงินส่วนนี้ในรูปแบบของแคชเชียร์เช็ค (Cashier Cheque) ได้ แต่รถยนต์บางค่ายอาจรองรับการชำระรูปแบบอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
  • ค่ามัดจำป้ายแดง หรือ ป้ายรถยนต์ชั่วคราว มีค่ามัดจำประกันความเสียหายอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท โดยเจ้าของรถยนต์จะได้เงินในส่วนนี้คืนเมื่อนำรถยนต์ไปเปลี่ยนเป็นทะเบียนป้ายขาว
  • ค่าประกันรถยนต์ หากรถยนต์ของใครไม่ได้รับประกันรถยนต์ชั้น 1 มาด้วย หรือสามารถซื้อรถยนต์เงินสดได้โดยไม่ต้องพ่วงประกันรถยนต์ อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดความคุ้มครอง ค่าเบี้ยประกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อนำมาชำระในวันรับรถยนต์ด้วย
  • ค่าจดทะเบียนรถยนต์ แม้เจ้าของรถยนต์สามารถนำรถยนต์คันใหม่ไปจดทะเบียนได้ด้วยตัวเอง แต่หากต้องการทำทุกอย่างให้เสร็จครบจบในที่เดียวก็สามารถแจ้งทางศูนย์ให้ดำเนินการจดทะเบียนได้เช่นกัน โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามรุ่นของรถยนต์ ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,500 – 5,000 บาท
  • ค่าอุปกรณ์เสริมรถยนต์ สำหรับใครที่เลือกซื้อรถยนต์พร้อมอุปกรณ์เสริม อย่าลืมเตรียมเงินสำหรับอุปกรณ์ทั้งหมดเอาไว้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว ค่าอุปกรณ์เสริมของรถยนต์จะไม่รวมกับค่ารถยนต์ที่ต้องผ่อนชำระ
  • ค่าน้ำมันรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ทางศูนย์รถยนต์จะมีการเติมน้ำมันเอาไว้ให้พร้อมขับออกจากศูนย์ในวันรับรถยนต์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศูนย์บริการจะมีการเติมน้ำมันเอาไว้ให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น อย่าลืมเตรียมค่าน้ำมันให้พร้อมสำหรับการเดินทางด้วย
  • ค่าใช้จ่ายสำรองอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมแซมรถยนต์กรณีเกิดความเสียหายนอกรายการที่กำหนด ค่าใช้จ่ายสำรองหากเกิดอุบัติเหตุในวันรับรถยนต์ ค่าใช้จ่ายสำหรับของไหว้ การเจิมรถยนต์ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการรับรถยนต์ทั้งหมด
ออกรถคันใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง-1

2. เอกสารที่ต้องเช็กทั้งหมด

‘ออกรถใหม่ควรเตรียมอะไรบ้าง’ เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยอยู่ไม่น้อย แต่นอกจากจะเตรียมค่าใช้จ่ายให้พร้อมแล้ว เจ้าของรถยนต์ยังควรตรวจเช็กเอกสารให้ครบถ้วนก่อนนำรถยนต์คันใหม่ออกจากศูนย์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันข้อพิพาทและปัญหาที่อาจตามมาในอนาคตนั่นเอง โดยในวันออกรถยนต์คันใหม่ เจ้าของรถยนต์ควรตรวจทานเอกสารทั้งหมด ดังนี้

  • สมุดทะเบียนรถยนต์ เล่มสีฟ้า เปรียบได้กับบัตรประชาชนประจำรถยนต์เลยก็ว่าได้ ภายในสมุดทะเบียนรถยนต์จะประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเลขตัวถังรถยนต์ ประวัติการเสียภาษี ประวัติการครอบครองรถยนต์ที่ผ่านมา และอื่น ๆ อีกมากมาย 
  • คู่มือรถยนต์
  • ใบโอนรถยนต์
  • เอกสารการเช่าซื้อรถยนต์กับทางไฟแนนซ์
  • เอกสารพ.ร.บ. รถยนต์
  • เอกสารประกันรถยนต์ทั้งหมด 
  • เอกสารรับประกันทางจากศูนย์รถยนต์ เช่น เอกสารรับประกันการเช็กระยะ เอกสารรับประกันอุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์แต่งรถยนต์ และเอกสารการรับประกันส่วนอื่น ๆ ของรถยนต์ทั้งหมด
  • ใบเสร็จสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกอบไปด้วยใบเสร็จค่าดาวน์รถยนต์ ใบเสร็จค่ามัดจำป้ายแดง ใบเสร็จค่าเบี้ยประกันรถยนต์
Q&A Sunday ตอบให้!

Q : ซื้อรถยนต์มือสองต้องเตรียมเอกสารและค่าใช้จ่ายเหมือนกับรถยนต์มือหนึ่งหรือไม่?
A : การซื้อรถยนต์มือสองจะใช้เอกสารและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกับการออกรถยนต์มือหนึ่ง ดังนี้

ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม:
– กรณีซื้อเงินสด เตรียมค่ารถยนต์ตามที่ผู้ขายกำหนด
– กรณีซื้อแบบผ่อน หรือ จัดไฟแนนซ์ ต้องเตรียมค่าดาวน์รถยนต์ ค่าจอง ค่าจัดไฟแนนซ์ และดอกเบี้ยด้วย
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
– ค่าโอนรถยนต์
– ค่าประกันรถยนต์
– ค่าน้ำมันรถยนต์
– ค่าใช้จ่ายสำรอง เช่น ค่าของไหว้ การเจิมรถยนต์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เอกสารจากการซื้อขายรถยนต์:
– เอกสารสำหรับการซื้อขายรถยนต์ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน สเตทเมนท์ย้อนหลัง 6 เดือน และ หนังสือมอบอำนาจ
– สัญญาซื้อขายรถยนต์
– แบบคำขอโอนและรับโอนรถยนต์

โดยส่วนใหญ่แล้ว ราคารถยนต์มือสองจะครอบคลุมถึงอุปกรณ์เสริมทั้งหมด แต่อาจจะไม่มีการรับประกันในเรื่องของการเช็กระยะและการซ่อมบำรุง ดังนั้น เจ้าของรถยนต์จึงควรตรวจสอบสภาพของรถยนต์และค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้รอบคอบ
นอกจากนี้ หลังจากซื้อรถยนต์มือสองไปแล้ว เจ้าของรถยนต์ยังต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ด้วยตนเองให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการซื้อขายด้วยการโอนลอย เพราะอาจเสี่ยงเจอเข้ากับรถยนต์ที่ขโมยมา มีประวัติอาชญากรรม หรืออาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาภายหลังได้
ออกรถใหม่ควรเช็กอะไรบ้าง?

3. อย่าลืมตรวจสภาพรถยนต์ให้เรียบร้อย

ไม่เพียงแต่จะต้องเตรียมความพร้อมด้านค่าใช้จ่ายและเอกสารที่มาพร้อมกับการซื้อรถยนต์เท่านั้น แต่ก่อนตัดสินใจนำรถยนต์คันใหม่ออกจากศูนย์ให้บริการ อย่าลืมตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้เรียบร้อยด้วย ทั้งนี้หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นจะได้ดำเนินการขอซ่อมแซม หรือ เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้จริงกับทางศูนย์รถยนต์ได้ทันที

ตรวจสอบระบบการทำงานของรถยนต์

  • สังเกตความผิดปกติในระหว่างการสตาร์ทรถยนต์ เช่น อาการสั่น และ เสียงเครื่อง 
  • เปิดแอร์ ทดลองปรับอุณหภูมิ ความแรงลม จากนั้นสังเกตกลิ่น เสียงแอร์ ตลอดจนทดสอบให้ชัวร์ว่ามีลมออกมาจากทุกช่องแอร์
  • ทดลองเปิดไฟรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสัญญาณไฟทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟหรี่ ไฟตัดหมอก ชุดไฟพิเศษ ไฟสูง ไฟเลี้ยว และไฟเบรก นอกจากนี้ ยังควรตรวจสอบการเปิดปิดไฟภายในห้องโดยสารด้วย
  • ทดสอบระบบเซนเซอร์และการแจ้งเตือน เช่น เซนเซอร์การถอย การเปิดปิดประตู การปรับเบาะรถยนต์ สัญญาณกันขโมย ไปจนถึงการแจ้งเตือนภายในรถยนต์อื่น ๆ
  • ทดสอบระบบเครื่องเสียงภายในรถยนต์ ตรวจสอบดูว่ามีเสียงแตกหรือไม่ เสียงออกจากลำโพงทุกส่วนจริงไหม
  • ทดสอบระบบการเชื่อมต่อส่วนอื่น ๆ ในรถยนต์ เช่น ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ ระบบเชื่อมต่อกับกล้องรถยนต์ และระบบพิเศษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ทดลองขับขี่รอบศูนย์รถยนต์ จากนั้นให้ลองสังเกตความผิดปกติในส่วนต่าง ๆ เช่น เครื่องยนต์ การเปลี่ยนเกียร์ อัตราเร่ง จังหวะในการเลี้ยว เบรก หักพวงมาลัย ไปจนถึงการเข้าเกียร์ถอย

การตรวจสอบภายนอกรถยนต์

  • ตรวจสอบตัวถังรถยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรอยขีดข่วนรอบรถยนต์ รอยสนิม สีกระเทาะตามจุดต่าง ๆ อีกทั้งอย่าลืมสังเกตรอยด่างของการทำสีใหม่ในจุดเล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามขอบประตูและน็อตรอบตัวรถยนต์
  • ตรวจสอบประตูรอบรถยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดประตูรอบรถยนต์ การเปิดปิดกระจก ตัวซีลและกรอบของประตูและกระจก ประตูหลังรถยนต์ รวมไปถึงซันรูฟของรถยนต์บางรุ่น
  • ตรวจเช็กสภาพยางรถยนต์ ทั้งจำนวนลม สภาพของยาง วันที่และปีผลิตของยาง ทั้งยังควรตรวจสอบให้ชัวร์ว่า ยางรถยนต์ที่ได้มาเป็นยางรุ่นเดียวกับที่ทางศูนย์แจ้งเอาไว้ เพื่อป้องกันการโดนสวมยางไม่มีประสิทธิภาพมาให้

การตรวจสอบภายในรถยนต์

  • สภาพภายในห้องโดยสาร เช่น วัสดุหุ้มเบาะรถยนต์ที่ตรงตามที่ตกลง สภาพของเบาะรถยนต์ที่ไม่มีการฉีกขาด เพดานของรถยนต์ที่ไม่มีคราบสกปรกและเชื้อรา แผ่นรองเท้าและพื้นของรถยนต์ที่สะอาดและไม่มีความเสียหาย ไปจนถึงสภาพของคอนโซลรถยนต์ทั้งหมด
  • ห้องเครื่องของรถยนต์ เช่น การเก็บสายไฟที่เรียบร้อย ท่อยางไม่มีของเหลวซึมออกมา น้ำมันเครื่องใสสะอาด น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ และน้ำมันพวงมาลัยอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีน้ำล้างกระจกและสามารถใช้งานได้ทันที ไส้กรองอากาศสะอาด ตลอดจนเครื่องยนต์และแบตเตอรี่อยู่ในสภาพพร้อมใช้

4. การเตรียมพร้อมด้านความเชื่อ

หลังจากที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อย หากรถยนต์ของใครไม่มีปัญหา หรือ ความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ก่อนนำรถยนต์ออกจากศูนย์ ลองมาเตรียมความพร้อมด้านความเชื่ออีกสักนิด เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลและความอุ่นใจให้กับการขับขี่บนท้องถนนกัน

ออกรถใหม่ต้องไหว้อะไรบ้าง

สีและฤกษ์ออกรถคันใหม่

แม้ฤกษ์ที่ดี คือ ฤกษ์ที่สะดวก แต่หากต้องการเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับการออกรถยนต์คันใหม่อีกสักนิด การเลือกดูฤกษ์ออกรถตามวันเดือนปีเกิดที่สอดคล้องกับความเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน หากยังไม่ชัวร์ว่าจะเลือกสีและฤกษ์ออกรถคันใหม่อย่างไร ลองมาเลือกตามวันเกิด ดังนี้

วันเกิดวันที่ห้ามออกรถยนต์คันใหม่ห้ามใช้รถยนต์สีอะไร
วันจันทร์วันอาทิตย์สีแดง สีส้มเข้มออกแดง
วันอังคารวันจันทร์สีขาว สีเหลือง สีครีม
วันพุธวันอังคาร และ วันพฤหัสบดีสีชมพู สีส้ม สีทอง
วันพฤหัสบดีวันเสาร์สีดำ สีม่วง
วันศุกร์วันพุธ และ วันเสาร์สีเทา สีม่วง สีบรอนส์
วันเสาร์วันพุธสีเขียว
วันอาทิตย์วันอังคาร และ วันศุกร์สีน้ำเงิน ฟ้าอ่อน หรือ สีโทนฟ้า

*ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ

ออกรถใหม่ ห้ามทำอะไรบ้าง?

หลังจากที่ออกรถยนต์คันใหม่ เชื่อว่าใครหลายคนอาจมีสถานที่ในใจที่ต้องการจะเดินทางไปอยู่แน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่าตามความเชื่อแล้ว ในการออกรถยนต์คันใหม่วันแรก เจ้าของรถยนต์ไม่ควรขับรถยนต์ไปในสถานที่อโคจรอย่างผับ บาร์ ร้านเหล้า หรือ แหล่งมั่วสุมอบายมุข แต่ควรนำรถยนต์ขับไปยังสถานที่มงคลอย่างการเข้าวัดทำบุญ หรือ นำรถยนต์ไปเจิม ปิดทอง และพรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการขับขี่ พร้อมช่วยปัดเป่าภัยอันตรายทั้งปวง

ออกรถใหม่ต้องไหว้อะไรบ้าง?

ตั้งแต่เด็กจนโต หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า รถยนต์ทุกคนจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าง ‘แม่ย่านาง’ คอยคุ้มครองอยู่ ว่ากันว่าการไหว้แม่ย่านางรถยนต์อย่างถูกต้องจะสามารถช่วยคุ้มครองผู้ขับขี่ให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวงได้ 

ของไหว้แม่ย่านาง:

  1. ผลไม้ 5 อย่าง แต่ห้ามใช้ผลไม้สีดำ และ ควรเลือกไหว้ผลไม้ชื่อมงคล
  2. ข้าวสาร 1 ถ้วย
  3. พวงมาลัย 1 พวง
  4. ดอกไม้ติดกระจังหน้ารถยนต์
  5. ขนมมงคลตามสะดวก
  6. ชุดหมากพลู ยาเส้นสีฟัน และยาสูบ อย่างละ 3 ชุด
  7. ธูป 9 ดอก
  8. เทียน 1 คู่

ลำดับการไหว้แม่ย่านาง:

  1. ตั้งโต๊ะและวางของไหว้ทั้งหมดที่หน้ารถยนต์
  2. สตาร์ทรถยนต์และบีบแตร 3 ครั้งเพื่อเริ่มฤกษ์ไหว้แม่ย่านาง
  3. จุดธูปและเทียน จากนั้นตั้งเอาไว้ห่างจากรถยนต์เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้
  4. สวดคาถาบูชาแม่ย่านาง 
คาถาบูชาแม่ย่านาง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ทุติยัมปิ สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ตะติยัม สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
  1. ขอพรจากแม่ย่านางให้ท่านช่วยคุ้มครอง แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ขับขี่หรือเดินทางไปที่ไหนก็ขอให้ปลอดภัย พร้อมขอพรเรื่องอื่น ๆ ตามสะดวก
  2. รอจนธูปหมด จากนั้นจึงจุดยาสูบ 3 มวน
  3. รอจนยาสูบหมดมวน จากนั้นจึงขอลาของไหว้แม่ย่านางมาทานเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จแล้วก็เท่ากับจบพิธีการไหว้แม่ย่านาง
  4. หากต้องการเพิ่มสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อคุ้มครองการขับขี่มากขึ้น สามารถอัญเชิญพระเครื่ององค์เล็ก ๆ มาไว้ในรถยนต์ได้ ควรตั้งอยู่ในบริเวณที่จะไม่บังทัศนวิสัยในการขับขี่ และเจ้าของรถยนต์สามารถเลือกหันหน้าองค์พระได้ตามสะดวกและสอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง

*ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ



เท่าที่ก็หมดสงสัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ออกรถใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ห้ามทำอะไร ตลอดจนสามารถเลือกฤกษ์ออกรถคันใหม่ได้อย่างเหมาะสมแล้ว แต่นอกจากจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการออกรถยนต์คันใหม่แล้ว เจ้าของรถยนต์ยังควรตั้งสติก่อนสตาร์ท ขับรถยนต์โดยไม่ประมาท พร้อมเพิ่มพลังความคุ้มครองคู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อด้วยการทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่มอบความคุ้มครองที่ใช่ในเบี้ยประกันที่เหมาะสมด้วย ออกแบบความคุ้มครองประกันรถยนต์ที่ใช่กับ ‘คุณ’ ด้วย ‘ตัวคุณเอง’ กับ Sunday


Share this article
Shareable URL
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จักกับ Vacation Guilt ลางานแล้วรู้สึกผิด พร้อมวิธีปรับตัวแบบมือโปร

ลางานแล้วรู้สึกผิดเกิดจากอะไร ต้องปรับตัวอย่างไรดี? มีใครเป็นแบบนี้บ้าง? ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี…

รวมไอเดียของขวัญคริสต์มาสเพื่อสุขภาพโดนใจคนให้ ถูกใจคนรับ

รวมของขวัญคริสต์มาสเพื่อสุขภาพ จะให้เพื่อนหรือแฟนก็เลิศ! เริ่มมีอากาศเย็น ๆ มาให้สัมผัสกันในช่วงปลายปี…
health-focused-christmas-gift-ideas-for-everyone

อาการแพ้แอลกอฮอล์เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีแก้

คนแพ้แอลกอฮอล์มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง?  อาการแพ้แอลกอฮอล์หรือแพ้เหล้าเป็นอาการที่พบได้ไม่มาก…
alcohol-allergy-symptoms-risks-and-solutions
0
Share