ป้ายจราจร ไม่เพียงแต่จะช่วยบอกทิศทางการใช้ท้องถนนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ นอกจากนี้ การปฏิบัติตามสัญลักษณ์จราจรและป้ายลูกศรบอกทางบนท้องถนนยังถือเป็นข้อกฎหมายสำคัญที่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
แล้วป้ายจราจรมีกี่ประเภท สัญลักษณ์จราจรบนท้องถนนมีอะไรบ้าง การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรมีโทษอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดขับรถยนต์หรือไม่ ลองมาทบทวนและทำความรู้จักทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับป้ายจราจรในบทความนี้กัน
ป้ายจราจรคืออะไร?
ป้ายจราจร หรือ เครื่องหมายจราจร (Traffic Sign) คือ สัญลักษณ์จราจรที่ใช้ควบคุมการจราจร ตั้งแต่การบังคับทิศทางและการเคลื่อนตัวของจราจร การจอด การแนะนำ รวมไปถึงการเตือนและข้อห้ามในการจราจร ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบและความปลอดภัยของผู้ใช้ท้องถนนทั้งหมด
โดยปกติแล้ว ป้ายจราจรจะมาในรูปแบบของป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่บนท้องถนน สัญลักษณ์ที่อยู่บนพื้นถนน ไปจนถึงป้ายที่อยู่ตามถนนที่พบเห็นได้ทั่วไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการสัญจร ผู้ใช้ท้องถนนทุกคนจะต้องสังเกตถึงป้ายและสัญลักษณ์จราจรทั้งหมด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ป้ายจราจรมีกี่ประเภท?
ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ป้ายจราจรนั้นมีเฉพาะป้ายเตือนหรือป้ายบอกทิศทางเท่านั้น แต่ตามกฎหมายแล้ว ป้ายจราจรจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- ป้ายบังคับ
- ป้ายเตือน
- ป้ายแนะนำ
โดยทั้ง 3 ประเภทป้ายจราจรนั้นมีหลักในการปฏิบัติและข้อบังคับใช้ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งแต่ละป้ายจราจรจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน ดังนี้
1. ป้ายบังคับ
ป้ายบังคับ (Regulatory Signs) คือ ป้ายจราจรที่ผู้ใช้ท้องถนนจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากสังเกตเห็นป้ายบังคับเมื่อไร ผู้ใช้ท้องถนนจะต้องปฏิบัติตามทันที ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร โดยป้ายบังคับนี้จะมีด้วยกันทั้งหมด 3 แบบหลัก ประกอบไปด้วย
- ป้ายบังคับประเภทคำสั่ง เช่น ป้ายเฉพาะคนเดิน ป้ายกำหนดทิศทางเดินรถยนต์ ป้ายให้ชิดซ้าย/ขวา ป้ายวงเวียน ป้ายให้เลี้ยวซ้าย/ขวา ป้ายช่องทางเดินรถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงป้ายสุดเขตบังคับ
- ป้ายบังคับประเภทกำหนดสิทธิ์ เช่น ป้ายหยุด ป้ายให้ทาง และ ป้ายให้รถสวนทางมาก่อน
- ป้ายบังคับประเภทห้าม เช่น ป้ายห้ามจอด ป้ายหยุดตรวจ ป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายห้ามผ่าน/ห้ามเข้า/กลับรถ/เลี้ยว
2. ป้ายเตือน
ป้ายเตือน (Warning Signs) คือ ป้ายจราจรที่เตือนให้ผู้ใช้เส้นทางทราบถึงสภาพทางข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้เส้นทางมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นป้ายเตือนให้ชะลอความเร็วลง โดยป้ายจราจรที่ควรรู้ประเภทป้ายเตือนจะมีด้วยกัน 3 แบบหลัก ประกอบไปด้วย
- ป้ายเตือนแสดงด้วยข้อความ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเครื่องหมายหรือป้ายสามเหลี่ยมบนถนนที่มีขอบและตัวหนังสือสีดำ เช่น ป้ายก่อสร้าง ป้ายเครื่องจักรกำลังทำงาน หรือ ป้ายทางเบี่ยง
- ป้ายเตือนตามสัญลักษณ์ เช่น ป้ายทางแยก ป้ายปิดช่องทางจราจร ป้ายเปลี่ยนช่องทางจราจร ป้ายทางคู่ขนาน ป้ายจุดกลับรถ ป้ายระวังคนข้ามถนน
- ป้ายเตือนตามแนว ซึ่งจะเป็นป้ายบอกทิศทางการจราจรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ใช้ท้องถนนจะต้องสังเกตและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
3. ป้ายแนะนำ
ป้ายแนะนำ (Guide Signs) คือ ป้ายจราจรที่แนะนำเกี่ยวกับการเดินทางไปสู่จุดหมายต่าง ๆ สามารถพบเห็นได้ตามทางหลวงสายต่าง ๆ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
- ทางหลวงพิเศษ ป้ายสีเขียว ขอบป้ายและสัญลักษณ์บนป้ายจะเป็นสีขาว
- ทางหลวงแผ่นดิน ป้ายสีขาว ขอบป้ายและสัญลักษณ์บนป้ายจะเป็นสีดำ
- ทางหลวงสัมปทาน ป้ายสีน้ำเงิน ขอบป้ายและสัญลักษณ์บนป้ายจะเป็นสีขาว
ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรมีโทษอย่างไร?
การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ใช้ท้องถนนคนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำผิดกฎจราจรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝ่าฝืนป้ายบังคับบนท้องถนนที่มีความผิดตามกฎหมาย
แต่นอกจากป้ายจราจรแล้ว การฝ่าฝืนสัญลักษณ์จราจรบนท้องถนนก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนช่องทางการเดินรถยนต์ฝ่าเส้นทึบ การขับรถยนต์คร่อมเลน หรือ ขับรถยนต์ที่ฝ่าฝืนสัญลักษณ์จราจรบนถนน ก็จะเข้าข่ายทำความผิดตามกฎหมายมาตรา 43(6) ซึ่งจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท
เท่านี้ก็เข้าใจป้ายจราจรพร้อมความหมาย ตลอดจนรู้จักป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ พร้อมความหมายแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อย่าลืมใช้ท้องถนน รวมถึงขับรถยนต์อย่างระมัดระวัง พร้อมปฏิบัติตามป้ายจราจรและสัญลักษณ์จราจรบนท้องถนนอย่างเคร่งครัดด้วย
อย่างไรก็ดี แม้จะระมัดระวังและปฏิบัติตามป้ายจราจรแค่ไหน บ่อยครั้งอุบัติเหตุก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว
ด้วยเหตุนี้ อย่าลืมมองหาตัวช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับการใช้ท้องถนนอย่างประกันรถยนต์ Sunday ด้วย เลือกปรับความคุ้มครองได้ตามการใช้งาน ทำให้ได้เบี้ยประกันรถยนต์ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ ที่สำคัญ Sunday ยังมาพร้อมกับการเคลมแบบ Live Streaming จบงานเคลมไวใน 15 นาที เช็กเบี้ยประกันง่าย ๆ ใช้แค่ ‘รหัสไปรษณีย์ที่อยู่ปัจจุบัน’ และ ‘วันเดือนปีเกิดผู้ขับขี่’