ยาฆ่าเชื้อ vs ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร ซื้อกินเองได้ไหม?
ในยุคที่ปัญหาสุขภาพทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจ “ยารักษาโรค” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะตัวยาอย่าง “ยาฆ่าเชื้อ” และ “ยาแก้อักเสบ” ที่ใครหลายคนยังสับสนถึงความแตกต่าง การใช้งาน รวมถึงผลข้างเคียงของการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง
แล้ว “ยาฆ่าเชื้อ” ต่างกับ “ยาแก้อักเสบ” อย่างไร ซื้อกินเองได้ไหม มีเรื่องอะไรที่ต้องเข้าใจก่อนเลือกใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้บ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้!
รู้จัก “ยาฆ่าเชื้อ” กันก่อน
ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) คือ กลุ่มของยาที่มีการออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียโดยเฉพาะ และไม่สามารถใช้เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส หรือ เชื้อโรคจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้
ยาฆ่าเชื้อถือเป็นอีกหนึ่งยารักษาโรคที่สามารถใช้เพื่อรักษาโรคได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง และการติดเชื้ออื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย
กลุ่มยาฆ่าเชื้อ
โดยเบื้องต้นแล้ว ยาฆ่าเชื้อสามารถแบ่งได้เป็น 10 กลุ่มหลัก ซึ่งจะสามารถใช้รักษาโรคได้แตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มยา | ตัวอย่างยา | โรคที่รักษา* |
ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) | อะม็อกซิซิลลิน (Amoxicillin) และ แอมปิซิลลิน (Ampicillin) | รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และผิวหนัง |
ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) | เซฟาโซลิน (Cefazolin) และ เซฟทราไซโอน (Ceftriaxone) | |
ยากลุ่มคาร์เบเพนม (Carbapenems) | อิมิเปเนม (Imipenem) และ เมอโรเปเนม (Meropenem) | ใช้รักษาการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระดูกและข้อ |
ยากลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycosides) | เจนตามัยซิน (Gentamicin) และอะมิคาซิน (Amikacin) | |
ยากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolides) | คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) และ อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) | ใช้รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ |
ยากลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) | ซีโปรฟลอซาซิน (Ciprofloxacin) และ เลโวฟลอซาซิน (Levofloxacin) | ใช้รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบทางเดินหายใจ |
ยากลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) | เตตราไซคลีน (Tetracycline) และดอกซีไซคลีน (Doxycycline) | ใช้รักษาการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียหลายชนิด รวมถึงโรคผิวหนัง |
ยากลุ่มซัลโฟนามายด์ (Sulfonamides) | ซัลฟาไดอะซีน (Sulfadiazine) และ โค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) | ใช้ฆ่าเชื้อได้ครอบคลุมหลายชนิด |
ยากลุ่มคลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenicol) | คลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenicol) | ใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น โรคไข้ไทฟอยด์ |
ยากลุ่มไกลโคเปปไทด์ (Glycopeptides) | แวนโคมัยซิน (Vancomycin) | ใช้รักษาการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียแกรมบวกที่ดื้อยา |
*เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต
กลไกการทำงานของยาฆ่าเชื้อ
โดยปกติแล้ว ยาฆ่าเชื้อจะมีกลไกในการฆ่า หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในหลากหลายรูปแบบ เช่น เข้าทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรีย หรือ ยับยั้งการสร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อชีวิตของแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ จนลดจำนวนและหายไปจากร่างกายในที่สุด
ยาฆ่าเชื้อใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
ยาฆ่าเชื้อจะถูกใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียเท่านั้น เช่น โรคปอดบวม โรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง และโรคที่เกิดจากแบคทีเรียอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ยาฆ่าเชื้อจะไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคที่เกิดจากไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือ ไวรัสโควิด-19 ได้ เนื่องจากยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่ไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัส ทำให้การรักษาโรคที่มาจากไวรัสจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ
ผลข้างเคียงของยาฆ่าเชื้อ
- ท้องเสีย ยาฆ่าเชื้อสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากยาจะเข้าไปรบกวนสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลให้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ลดลงและเชื้อก่อโรคเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นอาจมีความรุนแรงตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หรือมีเลือดปนในอุจจาระ
- แพ้ยา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน อาการบวม หรือหายใจติดขัด ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดอาการช็อกจากการแพ้ยาได้
- เชื้อดื้อยา การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไม่เหมาะสม หรือ หยุดยาก่อนครบกำหนด สามารถทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งหมายถึงการที่เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่เคยใช้ได้ผล ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น จึงเป็นเหตุว่าทำไมถึงไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อน
- โรคแทรกซ้อน ยาฆ่าเชื้อสามารถกำจัดแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ลำไส้อักเสบ
ยาฆ่าเชื้อ ห้ามกินกับยาอะไร?
ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อร่วมกับนม โยเกิร์ต และยาลดกรด เนื่องจากจะทำให้ดูดซึมยาฆ่าเชื้อได้น้อยลง จนระดับยาในเลือดไม่เพียงพอต่อการรักษา
เข้าใจ “ยาแก้อักเสบ”
ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory Drugs) คือ กลุ่มของยาที่ใช้ในการลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น การบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือ โรคเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบ
กลุ่มยาแก้อักเสบ
โดยทั่วไปแล้ว ยาแก้อักเสบสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และ ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามรายละเอียด ดังนี้
- ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นกลุ่มของยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ ทำงานโดยการยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า “ไซโคลออกซีจีเนส” (Cyclooxygenase หรือ COX) ซึ่งมีบทบาทในการผลิตสารเคมีที่เรียกว่า “โปรสตาแกลนดิน” (Prostaglandins) ที่ทำให้เกิดอาการปวดและการอักเสบ
ตัวอย่างยา: ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) และไดคลอฟีแนค (Diclofenac)
- ยาสเตียรอยด์ เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายหรือผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ ทำงานโดยการยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยลดระดับการอักเสบที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อโรคหรือการบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังสามารถลดความไวของเซลล์ต่อสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการอักเสบได้อีกด้วย
ตัวอย่างยา: เพรดนิโซน (Prednisone) คอร์ติโซน (Cortisone) และไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
กลไกการทำงาน
ยาแก้อักเสบทำงานโดยการลดการผลิตสารเคมีในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ เช่น โปรสตาแกลนดิน ซึ่งส่งผลให้ลดอาการปวด บวม และแดง นอกจากนี้ยังช่วยลดไข้ได้
ยาแก้อักเสบใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
ยาแก้อักเสบมักถูกใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคนิ้วล็อก อาการปวดศีรษะ อาการปวดประจำเดือน และภาวะอื่นๆ ที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบ
สำหรับใครที่สงสัยว่า ยาแก้อักเสบสามารถซื้อกินเองได้ไหม บอกเลยว่า “ไม่ควร” เนื่องจากหากใช้งานไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มของยาแก้อักเสบ ดังนี้
- ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ปัญหาทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง แผลในกระเพาะอาหาร หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
- ความดันโลหิตสูงในระยะยาว
- ปัญหาเกี่ยวกับไต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตอยู่แล้ว
- ยาสเตียรอยด์
- น้ำหนักเพิ่ม เนื่องจากตัวยาทำให้เกิดการเก็บน้ำ และ การเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิซึม
- ความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากยาสเตียรอยด์สามารถกดภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ใช้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- โรคกระดูกพรุน เพราะยาสเตียรอยด์สามารถทำให้กระดูกบางและเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย
ยาแก้อักเสบ ห้ามกินกับยาอะไร?
ห้ามรับประทานยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดความดันโลหิต ยาต้านเศร้า และยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ หากจำเป็นต้องรับประทานกลุ่มดังกล่าว หรือ มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อเลือกตัวยาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อไป
ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ ใช้ร่วมกันได้หรือไม่?
ในกรณีที่การติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย แพทย์อาจลงความเห็นให้ใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบต่างมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อยาทั้ง 2 ตัวมารับประทานร่วมกันด้วยตัวเอง แต่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์และเภสัชกร
และเพื่อช่วยความเสี่ยงของการใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบที่ไม่เหมาะสม หากเจ็บป่วย แต่ไม่สะดวกไปหาหมอเมื่อไหร่ ลูกค้าซันเดย์สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาในเครือ เพื่อใช้บริการ Walk-in Pharmarcy โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และยังสามารถใช้บริการ Telemedicine หรือ บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล และ บริการปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ ผ่านระบบที่ได้รับการรับรองโดยสภาเภสัชกรรม พร้อมจัดส่งยารักษาที่เหมาะสมให้ถึงที่
แม้ไม่สะดวกเดินทาง ซันเดย์ก็พร้อมมอบประสบการณ์รักษาพยาบาลที่ตอบโจทย์ พร้อมรับยารักษาโรคที่เหมาะสม เพื่อการรักษาพยาบาลที่ตรงจุดและปลอดภัย
เลือกประกันสุขภาพ IPD เหมาจ่ายที่มีวงเงิน OPD ครบทุกความคุ้มครอง พร้อมวงเงิน OPD สำหรับการพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอก Walk-in Pharmacy และ Telemedicine
เช็กเบี้ยง่ายๆ บนเว็บไซต์ของซันเดย์ ใช้แค่ “วันเดือนปีเกิด” เท่านั้น