เชื่อว่าหลาย ๆ คนย่อมมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปที่ทำให้ตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ที่ต่างจังหวัด แต่ก่อนจะขับ ‘รถยนต์คันใหม่’ หรือ ‘รถยนต์ป้ายแดง’ ออกไปใช้งานข้ามจังหวัด หากไม่อยากทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการ อย่าลืมมาเช็ก 3 เรื่องสำคัญที่นำมาฝากในบทความนี้ด้วย!
1. เข้าใจ ‘ป้ายแดง’ ก่อน
การซื้อรถยนต์ใหม่ที่ต่างจังหวัด ไม่เพียงแต่จะต้องเข้าใจเงื่อนไขการออกรถยนต์ของศูนย์รถยนต์แต่ละแห่งเท่านั้น แต่เจ้าของรถยนต์ยังต้องรู้จักข้อจำกัดของการใช้งานรถยนต์ใหม่ที่ติดป้ายทะเบียนสีแดงกันก่อน
ป้ายแดงคืออะไร?
‘ป้ายแดง’ คือ ป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกออกให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้เป็นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนรถยนต์แล้ว ป้ายแดงยังเป็นป้ายทะเบียนสำหรับนำรถยนต์ไปส่งซ่อมแซม หรือ ใช้สำหรับติดรถยนต์เพื่อส่งไปให้ลูกค้า
กฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับป้ายแดงที่ต้องรู้!
เจ้าของรถยนต์มือใหม่อาจเข้าใจว่า เมื่อนำรถยนต์ไปจดทะเบียนเป็นป้ายขาวเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถเก็บ หรือ จำหน่ายป้ายแดงให้กับบุคคลอื่นต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อจดทะเบียนรับป้ายขาวเป็นที่เรียบร้อย เจ้าของรถยนต์จะต้องส่งคืนป้ายแดงให้กับศูนย์รถยนต์ในทันที ทั้งนี้เพื่อรับเงินค่ามัดจำป้ายแดงคืน ตลอดจนเป็นการส่งป้ายทะเบียนคืนให้ผู้อื่นได้ใช้งานต่อ
ตามกฎหมายแล้ว เจ้าของรถยนต์จะสามารถใช้ป้ายแดงได้ในระหว่างดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันรถยนต์ หากใช้ป้ายแดงเกินระยะเวลากำหนดโดยไม่นำรถยนต์ไปจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีอย่างถูกต้อง เจ้าของรถยนต์จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 ฐานใช้รถโดยไม่จดทะเบียน ซึ่งจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
สำหรับเจ้าของรถยนต์ที่ซื้อป้ายแดงมาติดเองโดยพลการ หรือ ใช้ป้ายแดงปลอมโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายอาญาฐานใช้เอกสารทางราชการปลอม ซึ่งจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท และถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้น หากไม่อยากเสี่ยงทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว เมื่อรับรถยนต์คันใหม่แล้ว อย่าลืมไปดำเนินการจดทะเบียนให้เร็วที่สุด พร้อมตรวจเช็กป้ายแดงและสมุดคู่มือให้เรียบร้อยก่อนออกจากศูนย์รถยนต์ด้วย
โดยป้ายแดงแท้ที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบกจะต้องมีตัวอักษร ‘ขส’ ปั๊มนูนที่มุมขวาล่างและลายน้ำที่แผ่นทะเบียน ทั้งยังต้องมีสมุดคู่มือที่เจ้าของรถยนต์จะต้องลงบันทึกการใช้งานรถยนต์ป้ายแดงอย่างละเอียด
ตั้งแต่ลงชื่อผู้ขับขี่ ยี่ห้อรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ ระยะเวลาและวันที่ใช้รถยนต์ จุดประสงค์การใช้งาน และจุดหมายปลายทาง ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเมื่อมีการร้องขอนั่นเอง
2. ถาม-ตอบ! 3 ข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับการใช้งานรถยนต์ป้ายแดง
ออกรถยนต์ป้ายแดงมาใหม่ เชื่อว่าใครหลายคนอาจสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าจะใช้งานรถยนต์ป้ายแดงได้ในกรณีไหนบ้าง ดังนั้น หลังจากที่ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวป้ายแล้ว ลองมาทำความเข้าใจการใช้งานรถยนต์ป้ายแดงในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
คำถามที่ 1: ขับรถป้ายแดงออกต่างจังหวัดได้ไหม?
ตามกฎหมายแล้ว รถยนต์ป้ายแดงจะสามารถใช้งานได้ภายในเขต พื้นที่ หรือจังหวัดที่ระบุเอาไว้บนป้ายทะเบียนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การขับรถยนต์ป้ายแดงออกต่างจังหวัดจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
แต่หากมีความจำเป็นต้องขับรถยนต์ออกต่างจังหวัด เจ้าของรถยนต์จะต้องได้รับอนุญาตการใช้รถยนต์นอกพื้นที่สำนักงานขนส่งจากนายทะเบียนก่อน ตลอดจนมีเอกสารที่มีลายเซ็นต์ของนายทะเบียนรับรอง จากนั้นจะต้องลงรายละเอียดการเดินทางลงในสมุดคู่มือรถยนต์ ซึ่งโดยปกติแล้ว นายทะเบียนจะอนุญาตให้ใช้รถยนต์นอกเขตพื้นที่ครั้งละไม่เกิน 3 วัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ เจ้าของรถยนต์สามารถบันทึกรายละเอียดการเดินทางลงในสมุดคู่มือป้ายแดงได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากหนังสือสมุดคู่มือถือว่าเป็นเอกสารที่มีการขออนุญาตจากนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกแล้ว ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีการร้องขอได้เช่นกัน
คำถามที่ 2: ขับรถป้ายแดงตอนกลางคืนได้หรือเปล่า?
ตามกฎหมายแล้ว เจ้าของรถยนต์ป้ายแดงจะสามารถใช้รถยนต์ได้ตั้งแต่ 06:00 – 18:00 น. หรือจนกว่า 20:00 น. หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท
กรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า สาเหตุที่มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้งานรถยนต์ป้ายแดงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำรถยนต์ป้ายแดงมาใช้ก่ออาชญากรรม เนื่องจากป้ายแดงนั้นมีสีที่กลืนไปกับความมืด ทั้งยังสามารถนำมาเวียนใช้งานได้ ด้วยเหตุนี้ หากเกิดอุบัติเหตุ หรือ คดีความขึ้นมาก็จะทำให้ตามตัวได้ยากขึ้นนั่นเอง
คำถามที่ 3: ประกันรถยนต์ให้ความคุ้มครองรถยนต์ป้ายแดงหรือไม่?
รถยนต์ที่ใช้งานป้ายแดงแท้ มีสมุดคู่มืออย่างถูกต้อง จะถือเป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากทำประกันรถยนต์เอาไว้ก็จะได้รับความคุ้มครองเหมือนรถยนต์ทั่วไป ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างใช้งานรถยนต์ป้ายแดงอยู่ เจ้าของรถยนต์ก็สามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ของประกันรถยนต์ได้ทันที
ดังนั้น เพื่อความอุ่นใจในการใช้งานรถยนต์ป้ายแดง อย่าลืมสอบถามกับทางศูนย์รถยนต์ถึงความคุ้มครองของประกันรถยนต์ ไปจนถึงศึกษาและอ่านรายละเอียดความคุ้มครองในกรมธรรม์และสัญญาทั้งหมดให้รอบคอบก่อนเซ็นต์รับรถยนต์ด้วย
3. วิธีจดทะเบียนรถยนต์ป้ายแดงเป็นป้ายขาว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หลังจากรับรถยนต์ป้ายแดงมาแล้ว เจ้าของรถยนต์จะต้องรีบไปจดทะเบียนรถยนต์เป็นป้ายสีขาวภายใน 30 วัน มิเช่นนั้นจะมีความผิดและโดนโทษปรับสูงถึง 10,000 บาทได้
ดังนั้น หากใครรับรถยนต์มาแล้ว ขอแนะนำให้รีบไปติดต่อที่กรมการขนส่งทางบก หรือ สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อทำเรื่องจดทะเบียนรถยนต์โดยด่วน ซึ่งจะมีเอกสารและขั้นตอนทั้งหมด ดังนี้
เอกสารที่ต้องเตรียมจดทะเบียนป้ายแดงเป็นป้ายขาว
- หนังสือแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์
- หนังสือรับรองการซื้อขายและแจ้งจำหน่ายรถยนต์
- หนังสือรับรองการส่งบัญชีรับและจำหน่ายรถ
- หลักฐานการซื้อรถยนต์ทั้งหมด เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือสัญญาเช่าซื้อ
- หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีเป็นชาวต่างชาติให้ใช้สำเนาหนังสือเดินทางและหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่หรือการทำงานจากสถานทูต
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นรถยนต์ใช้งานนิติบุคคล)
ขั้นตอนการจดทะเบียนรถยนต์ เปลี่ยนจากป้ายแดงเป็นป้ายขาว
- ยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์ พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ จากนั้นแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- นำรถยนต์เข้ารับการตรวจสภาพ
- ยื่นขอตัดบัญชีรถยนต์ที่ ‘ส่วนควบคุมบัญชีรถและเครื่องยนต์ กรมการขนส่งทางบก’
- ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีประจำปี
- รับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ใบเสร็จ เครื่องหมายการเสียภาษี และใบคู่จดทะเบียนรถยนต์
หมดสงสัย! ซื้อรถต่างจังหวัดนำมาจดทะเบียนกรุงเทพฯ ได้หรือไม่?
สำหรับใครที่ซื้อรถยนต์ต่างจังหวัด แต่ต้องการจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ สามารถแบ่งเกณฑ์การดำเนินการออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
- กรณียังไม่ได้รับรถยนต์ สามารถติดต่อสอบถามกับทางศูนย์รถยนต์ที่สนใจได้ทันที ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มเติม หรือขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของศูนย์รถยนต์แต่ละแห่ง
- กรณีที่รับรถยนต์มาแล้ว สามารถแจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์ออกจากจังหวัดต้นทาง จากนั้นจึงมาย้ายทะเบียนรถยนต์เข้ากรุงเทพฯ หรือ แจ้งย้ายรถยนต์ที่จังหวัดปลายทางที่ต้องการได้ โดยการย้ายทะเบียนรถยนต์ข้ามจังหวัดจะมีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามอัตราภาษีของรถยนต์แต่ละประเภท
เท่านี้ก็หมดสงสัยแล้วว่า จะสามารถขับรถป้ายแดงออกต่างจังหวัดได้ไหม หรือ หากซื้อรถต่างจังหวัดนำมาจดทะเบียนกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ตลอดจนได้รับทราบถึงกฎหมายการใช้งานรถยนต์ป้ายแดงที่เจ้าของรถยนต์มือใหม่ต้องทำความเข้าใจให้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี นอกจากจะใช้งานรถยนต์ป้ายแดงอย่างถูกต้องแล้ว เจ้าของรถยนต์ยังควรขับรถยนต์อย่างระมัดระวัง ทั้งยังควรมองหาประกันรถยนต์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้กับการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือใหม่หัดขับที่ยังมีประสบการณ์ในการขับขี่ที่ไม่สูงมาก
เลือกทำประกันรถยนต์ หรือ ประกันรถยนต์ไฟฟ้ากับ Sunday พร้อมรับความคุ้มครองที่คุณออกแบบได้ในเบี้ยประกันที่เหมาะสม เช็กเบี้ยเองได้ง่าย ๆ ใช้แค่ ‘วันเดือนปีเกิด’ และ ‘รหัสไปรษณีย์ที่อยู่ปัจจุบัน’ เท่านั้น