หลายคนอาจจะเคยมีคำถามคาใจว่านอกจากการซื้อกองทุนรวมต่างๆ แล้ว ถ้าอยากจะซื้อประกัน ต้องเลือกซื้อแบบไหนถึงจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้? ถ้าซื้อให้กับครอบครัว และภรรยาจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ด้วยหรือเปล่า?
โดยบทความนี้ ซันเดย์จะมาไขความกระจ่างให้กับทุกคนแบบชัดๆ เข้าใจง่าย เพื่อให้เราสามารถเลือกประกันที่ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มครอง และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้แบบคุ้มค่าที่สุดเอง
พิเศษ! ประกันสุขภาพจากซันเดย์ ลดหย่อนภาษีได้ คลิก
วิธีเลือกซื้อ “ประกันสุขภาพ” เพื่อลดหย่อนภาษี
ประกันสุขภาพ ถือเป็นประกันที่จะจ่ายผลประโยชน์ด้านค่ารักษาพยาบาลตามที่เกิดขึ้นจริง ตามวงเงินความคุ้มครอง หรือตามเงื่อนไขที่ระบุ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากแล้ว ประกันสุขภาพยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่า สำหรับการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ซึ่งประกันสุขภาพที่แนะนำสำหรับซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี มีดังนี้
ซื้อประกันสุขภาพของตัวเราเอง
ถ้าตัดสินใจเลือกซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวเอง ก็จะสามารถใช้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่าย ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงได้เลย เพียงแต่จำกัดไม่เกิน 25,000 บาท
แต่ทั้งนี้ ถ้ารวมเอาค่าเบี้ย ประกันชีวิตทั่วไป + เงินฝากแบบมีประกันชีวิต + ประกันสุขภาพ ทั้งหมดที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องมีจำนวนเงินรวมทั้งหมด ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่างเช่น : ถ้าเราซื้อประกันชีวิตให้กับตัวเองเอาไว้ 50,000 บาท และประกันสุขภาพสำหรับตัวเราเองไว้ทั้งหมด 50,000 บาท รวมถึงซื้อประกันชีวิตให้กับภรรยาที่ไม่มีรายได้อีก 30,000 บาท เท่ากับ เราจะสามารถนำค่าเบี้ยไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด 50,000 + 25,000 + 10,000 = 85,000 บาท เป็นต้น
เงื่อนไขในการรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับ “ประกันสุขภาพของตัวเราเอง”
- ต้องทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย
- เป็นกรมธรรมที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล อันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- เป็นกรมธรรม์การประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- เป็นกรมธรรม์การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical illnesses)
- เป็นกรมธรรม์การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long term care)
- ต้องมีการแจ้งไปยังบริษัทประกัน ว่าต้องการนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่าย ไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย
ซื้อประกันสุขภาพให้กับพ่อแม่
สำหรับคนที่ทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา เราจะได้รับสิทธิ์นำเอาเบี้ยประกันที่จ่ายไปมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะจำกัดลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 15,000 เท่านั้น
ทั้งนี้ กรณีที่เราจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาร่วมกับพี่น้องคนอื่น ค่าลดหย่อนภาษีก็จะต้องหารเฉลี่ยไปตามจำนวนพี่น้องที่จ่ายค่าเบี้ยร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น : ถ้าเรากับพี่น้องรวม 3 คน จ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาไปทั้งหมด 15,000 บาท แต่ละคนก็จะมีสิทธิหลักลดหย่อนภาษีได้คนละ 15,000 / 3 = 5,000 บาท เป็นต้น
เงื่อนไขในการรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับ “ประกันสุขภาพของพ่อแม่”
- ผู้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพจะต้องเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฏหมาย
- บิดาและมารดา จะต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท
- คนใดคนหนึ่งที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วยประกันสุขภาพบิดามารดา จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน ในปีนั้นๆ
- เป็นกรมธรรมที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบเดียวกับที่ระบุในประกันสุขภาพของตัวเราเอง เช่น เป็นกรมธรรมที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล อันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพ และการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ, เป็นกรมธรรม์การประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก, เป็นกรมธรรม์การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical illnesses) หรีอ เป็นกรมธรรม์การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long term care)
วิธีเลือกซื้อ “ประกันชีวิต” เพื่อลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิต ถือเป็นประกันที่เน้นความคุ้มครองระยะยาว โดยปกติแล้วเราจะต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง (5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี) แต่ก็จะได้รับความคุ้มครองตัวเราตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น นอกจากนั้นประกันชีวิตในกลุ่มนี้จะไม่มีเงินคืนระหว่างทาง หรือถ้ามีก็จะมีแต่การจ่ายปันผลเท่านั้น
การเลือกซื้อประกันชีวิตประเภทนี้เพื่อลดหย่อนภาษี จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิตของตัวเราที่จะส่งผลกับครอบครัว
ซื้อประกันชีวิตของตัวเราเอง
เราสามารถใช้ค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงได้เลย เพียงแต่จำกัดไม่เกิน 100,000 บาท (รวมถึงเงินฝากแบบมีประกันชีวิตด้วย)
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจ่ายเบี้ยประกันชีวิตของปี 2564 ไปทั้งหมด 150,000 บาท ก็จะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปกรอกลดหย่อนได้ตอนยื่นภาษี แค่จำนวนไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น
ซื้อประกันชีวิตให้กับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้
เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้กับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงได้เช่นกัน แต่จำกัดที่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคู่สมรสกันมาตลอดทั้งปี (ไม่ได้พึ่งจดทะเบียนสมรสกันในระหว่างปี 2564 นี้)
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากับภรรยาได้แต่งงานในช่วงปลายปี 2563 และถ้าซื้อประกันชีวิตให้กับภรรยาที่ไม่มีรายได้ไป 50,000 บาท ก็จะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปกรอกลดหย่อนได้ตอนยื่นภาษี แค่จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท เท่านั้น
เงื่อนไขในการรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับ “ประกันชีวิต” ทั้งตัวเราและคู่สมรส
- กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- ถ้ามีการจ่ายเงินคืน หรือได้รับเงินปันผลตอบแทน จะต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี (หรือได้เงินคืนไม่เกิน 20% กรณีที่ได้เงินคืนตามระยะช่วงเวลา)
- ต้องมีการแจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่า ต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
วิธีเลือกซื้อ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” เพื่อลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิตแบบบำนาญ จะเน้นการออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ตอนเราเกษียณจากงานโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อออมเงินอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้เราได้รับเงินคืนเป็นรายปี ตามอายุที่กำหนดไว้ เช่น ได้รับเงินรายปีตั้งแต่อายุ 60 – 85 ปี (หรือ 90 ปี) เป็นต้น
การเลือกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อเป็นทางเลือกในการลดหย่อนภาษี ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนระยะยาว ที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ทั้งยังสามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีในปัจจุบันได้ไปพร้อมกัน
ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญของตัวเราเอง
สำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น จะมีความแตกต่างจากประกันชีวิตแบบปกตินิดหน่อย นั่นก็คือ เราสามารถเอาเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท ต่อปี
ตัวอย่าง ถ้าเราคำนวนเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี 2564 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ถ้ามีการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไป 250,000 บาท เราจะสามารถนำเงินไปหักค่าลดหย่อนเพื่อจ่ายภาษีได้เท่ากับ 15% x รายได้ ซึ่งผลลัพธ์คือไม่เกิน 150,000 บาท เท่านั้น
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนภาษีที่ได้รับสิทธิ์จากการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ เมื่อรวมกับ
เงื่อนไขในการรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ”
- กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- ต้องเป็นกรมธรรมที่จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
- ต้องเป็นกรมธรรม์ที่กำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ ในช่วงที่เรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
- ต้องเป็นการจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนที่เราจะได้รับเงินผลประโยชน์
- ต้องมีการแจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่า ต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
ทั้งหมดนี้คือประกันที่เราสามารถเลือกซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ แต่อย่างไรก็ดี ซันเดย์ขอแนะนำว่า การเลือกซื้อประกันนั้นเราควรจะมองที่เรื่องของความคุ้มครองและการลดความเสี่ยงเป็นอันดับแรก และการใช้สิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องรองลงมา โดยเฉพาะการเลือกซื้อ “ประกันสุขภาพ” ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญเมื่อเราเกิดเหตุฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี